xs
xsm
sm
md
lg

“แยม ฐปณีย์” ขึ้นเวทีหมู่บ้านทะลุฟ้า ดีใจได้เห็นม็อบพูด “คนเท่ากัน” เผยทำข่าวมา 20 ปีไม่มีใครสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” แห่งเดอะรีพอร์ตเตอร์ ขึ้นเวทีเสวนา เผยบทบาทสื่อไลฟ์สดทุกม็อบ ถ่ายป้ายข้อความ ให้สังคมได้เห็นว่าต้องการอะไร เผยดีใจได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เรื่องคนเท่ากัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีกำลังใจทำข่าว ที่ผ่านมาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนกว่า 20 ปีไม่มีใครสนใจ ข่าวชาวโรฮิงญาถูกประณามว่า “ขายชาติ” กล่าวหารุนแรงที่สุดในชีวิต

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่เวทีหมู่บ้านทะลุฟ้า สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า People Go Network ซึ่งก่อตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า จัดเสวนาหัวข้อ “ม็อบที่หลากหลาย ดั่งดอกไม้นานาพันธุ์” มีผู้ร่วมเสวนา เช่น รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือพลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่านักเรียนเลว, รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ ขึ้นเสวนา

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า ตนมองเห็นทุกเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตนก็เห็นมาตลอด ตนเป็นนักข่าวคนหนึ่งที่ติดตามเรื่องสถานการณ์การเมือง ความขัดแย้งต่างๆ แน่นอนเรื่องม็อบทุกเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้ง นั่นคือหน้าที่ของตนในการที่จะไปทำข่าว วันนี้ตนมาในบทบาทของสื่อ เดี๋ยวไอโอจะดรามาว่ามาร่วมเวทีเดินทะลุฟ้าเลยหรือ ไม่เป็นไรถ้าไอโอดูอยู่ ทหารดูอยู่ ตำรวจดูอยู่ วันนี้ตนมาพูดในฐานะสื่อ ผู้ก่อตั้งเดอะรีพอร์ตเตอร์ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีเสรีภาพในการพูด

อีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราทำงาน เราทำข่าว ทุกคนอาจจะมองเห็นข่าวที่เดอะรีพอร์ตเตอร์รายงาน เราก้าวข้ามคำว่าสื่อเลือกข้าง ก้าวข้ามคำว่าสื่อที่จะต้องเป็นกลาง ตนก้าวข้ามคำพวกนั้น เพราะตั้งบทบาทการทำงานของเราในฐานะสื่อเพื่อสันติภาพ เราวางบทบาทเราชัดว่าเราเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ คือการที่เราจะมีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งให้เขาได้พูด ได้บอกในสิ่งที่เขาต้องการ ในสิ่งที่เขาทำ

“ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเดอะรีพอร์ตเตอร์เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับม็อบเมื่อปีที่แล้ว ด้วยบทบาทที่เราทำข่าวการเมือง ช่วงยุบพรรคอนาคตใหม่ก็มีแฟลชม็อบขึ้น เรานับได้เลยเดอะรีพอร์ตเตอร์มีไลฟ์สดทุกม็อบ ในแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่พยายามแม้ว่าจะมีคนน้อยนิด เพราะว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้นมองว่า ถ้าในฐานะของนักข่าว นี่คือข่าว นี่คือปรากฎการณ์ คือสถานการณ์ที่สำคัญที่้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองเราไปแล้ว”

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า หน้าที่ของนักข่าวคือการรายงานว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมากกว่านั้นคือต้องบอกว่าคนที่ไปทำตรงนั้นเขาเป็นใคร เขามาเพราะอะไร และเขาต้องการอะไร เรามองเห็น เราไปในพื้นที่ เรารายงาน เราไม่ได้บอกแค่ว่ามันมีม็อบ แต่เรามองเข้าไปในม็อบ เรามองเห็นอะไร เรามองเห็นน้องนักศึกษา น้องมัธยม เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่เขาแต่งชุดนักเรียนหรือป้ายข้อความต่างๆ นี่คือหน้าที่ของเราที่จะให้คนในสังคมได้เห็นว่าขณะนี้มันเกิดอะไรขึ้น มีผู้คนที่เขากำลังมีความคิดอย่างไร เขาต้องการอย่างไร

“มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกกดทับ หรือบีบ หรือไม่นำเสนอ แต่มันคือสิ่งที่เราจะต้องนำเสนอให้เห็น แล้วต้องบอกว่าเขาต้องการอะไร แม้ว่าถ้อยคำหรือข้อความในข้อเรียกร้องบางอย่างที่หลายคนบอกว่าตกใจ ช็อก และกลัวกับข้อเรียกร้องเหล่านั้น แต่มองว่าคือสิ่งที่สื่อต้องนำเสนอ เราก็มองเห็นพัฒนาการของการชุมนุม เรามองเห็นตัวละครต่างๆ ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เรามองเห็นพัฒนาการของการชุมนุมในทุกรูปแบบ เหตุการณ์ที่มันพีคสุดจนมาถึง ณ ปัจจุบัน”

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า เรามองเห็นน้องๆ ที่เป็นแกนนำ ที่มาวันหนึ่งเขาถูกกลายเป็นแกนนำ เขาคือใคร เราเป็นสื่อเราก็นำเสนอ พอมาวันนี้ วันที่ไม่มีแกนนำ ในวันที่ห้าแยกลาดพร้าวที่ที่ตนได้ยืนถ่ายไลฟ์สดอยู่ มันเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้คิดเอง แต่ทุกคนเห็นร่วมกัน บางเรื่องไม่ใช่สิ่งที่คนจะเซตอัพ (จัดตั้ง) หรือคิดขึ้นได้ว่าวันหนึ่งจะเกิดภาพแบบนี้ แต่ทุกอย่างเป็นออแกนิค หน้าที่ของสื่อเราแค่รายงานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มองว่าเรามองเห็นผู้คนที่หลากหลาย เรามองเห็นประเด็น ข้อเรียกร้องที่มันเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เรามีหน้าที่ที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับฟัง รับรู้ รับทราบว่าคนเหล่านี้เขาต้องการอะไร เพื่อรัฐจะได้แก้ไขปัญหาหรือว่าต้องเดินไปสู่ทางออกร่วมกัน เป็นโมเดลง่ายๆ สำหรับตนในการทำสื่อ ไม่ได้ทำงานซับซ้อนอะไร หรือไม่ได้ทำข่าวเพื่อต้องเชียร์ใคร ต้องสนับสนุนใคร ไม่เคย แต่เรารู้ว่าเรามีหน้าที่ เรามีพื้นที่ที่จะให้ผู้คนที่มันอยู่ในความขัดแย้งให้เขาได้มีพื้นที่ในการบอกว่าเขาต้องการอะไรแค่นั้นเอง แล้วเราก็มองเห็นในสิ่งที่มาถึงทุกวันนี้

“กิจกรรมเดินทะลุฟ้า หรือที่ไผ่ ดาวดิน (นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เดินมาช่วงที่ผ่านมา เราก็เป็นสื่อหนึ่งที่ไปติดตาม ซึ่งมีน้อยมากเหมือนกันที่ไปติดตามขบวนการเดิน ทั้งที่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สื่อควรให้ความสำคัญและให้ความสนใจ เพราะมันหมายถึงเรื่องของการต่อสู้อีกมุมหนึ่งของการใช้สันติวิธี ซึ่งในฐานะสื่อเพื่อสันติภาพ มองว่าการพูดถึงเรื่องพวกนี้เยอะๆ มันก็เห็นหน้าที่เราเหมือนกัน ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่วิธีคิด แต่สำหรับพี่มีวิธีคิดแบบนี้”

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรกับการที่จะต้องมาพูดในเวทีแบบนี้ เพราะมองว่านี่คือหน้าที่สื่อที่ควรทำเหมือนกัน เพราะอะไร บางทีที่เรามาพูดเพื่อให้ผู้คนที่เขาอาจจะไม่เข้าใจเรา เขาได้เข้าใจเรา อาจจะไม่ได้เข้าใจในวันนี้ วันหนึ่งก็อาจเข้าใจ เข้าใจน้อย ในที่สุดก็อาจจะเข้าใจมากขึ้นก็ได้ ก็เหมือนกับสิ่งที่ทุกคนกำลังพูดในข้อเรียกร้องปัญหาต่างๆ วันนี้อาจจะมีคนแค่เท่านี้ แต่วันหนึ่งถ้าเราได้พูด ได้สื่อสารกันมากๆ ได้เข้าใจกันมากๆ มันก็นำไปสู่เรื่องของการหาข้อสรุปหรือหาทางออกในการแก้ปัญหากันในที่สุด

ในตอนท้าย น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากพูดต่อ คือ อยากจะขอบคุณน้องๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ร่วมออกมาต่อสู้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้มีกำลังใจและมีความหวังในการที่จะเป็นสื่อมวลชน เป็นนักข่าวต่อไป เพราะว่าไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่คนออกมา เห็นถึงความงดงามของผู้คนที่หลากหลาย ที่ออกมาต่อสู้สิ่งที่ทุกคนเรียกร้อง แต่สิ่งที่ตนรู้สึกว่าสร้างกำลังใจในการเป็นนักข่าวของตน คือการที่ได้เห็นผู้คนออกมาพูดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้เห็นผู้คนออกมาพูดถึงเรื่องของคนเท่ากัน ได้เห็นน้องนักเรียน นิสิต นักศึกษาตัวเล็กๆ ที่ออกมาพูดเพื่อเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือสิ่งที่ตนในฐานะนักข่าวอยากได้ยิน หรืออยากให้ผู้คนพูดถึงสิ่งนี้มานานไปตลอดชีวิตการเป็นนักข่าวของตน 20 ปี เพราะว่าตนเป็นนักข่าวที่ทำเรื่องนี้มาตลอด แล้วทำมาในยุคที่เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนกันเลย

“สังคมไทยไม่เคยรู้สึกว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร ทุกคนต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน พี่ทำข่าวคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ทำข่าวเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มันถูกกดทับ ที่มีความไม่ยุติธรรมต่างๆ เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ แม้กระทั่งเรื่องของปัญหาขบวนการสันติภาพในเมียนมา เราไปพูดคุยกับผู้คนชาติพันธุ์ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มันคือสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของโครงสร้างของสังคม ตราบใดที่คนยังไม่ได้รับความยุติธรรม ตราบใดที่คนยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือคนบางกลุ่มถูกกดทับเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สังคมไม่สามารถมองหาสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้”

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า ตนทำข่าวเรื่องผู้คนที่ไม่มีสัญชาติ เขาได้สัญชาติ เราต่อสู้มาในยุคที่นักข่าวไม่ค่อยทำเรื่องพวกนี้ ตนทำข่าวพยายามสอนน้องๆ หรือให้เพื่อนๆ สื่อ มาทำเรื่องพวกนี้เยอะๆ เพราะว่าเป็นปากเป็นเสียงให้คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ ทำให้เขามีพื้นที่ที่จะบอกถึงปัญหาของเขา ให้ผู้คนในสังคมได้มองเห็น ในยุคหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องของชาวโรฮิงญา จนถูกสังคมประณาม ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขายชาติ หรือเป็นสื่อที่ขายชาติ มันเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงในชีวิต แต่เราไม่รู้สึกเสียใจเลยกับสิ่งที่เราตัดสินใจทำไป เพราะตอนนั้นเรากำลังต่อสู้ให้ผู้คนได้เห็น หรือเรากำลังทำหน้าที่ของเราให้ผู้คนได้เห็นว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งในโลกใบนี้ที่ยังไม่มีแม้แต่สิทธิในความเป็นคน พยายามทำให้คนมองเห็นว่าเพราะอะไรทำไมเขาถึงถูกกระทำ ไม่มีคุณค่าของความเป็นคน เราพยายามทำหน้าที่ของเรา

เช่นเดียวกันในวันนี้ได้มาทำข่าว ในยุคแรกๆ บอกน้องๆ ในทีมว่า นี่คือสิ่งที่ตนคาดหวังมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่สื่อที่จะมาพูดเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่มองเห็นผู้คนในสังคมนี้กำลังออกมาพูดถึง ฉันมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนทุกคนมันเท่ากัน แล้ววันนี้ก็ได้ยินคำเหล่านั้น บางครั้งความงดงามของการต่อสู้มันไม่ได้มีความหมายอยู่ที่เป้าหมายของข้อเรียกร้อง แต่มันอยู่ที่ใจของเรา ถ้าเมื่อไหร่ใจของเรายอมรับว่าคนทุกคนเท่ากัน เรายอมรับว่าผู้คนไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน แม้กระทั่งที่น้องๆ ได้ออกกันมาช่วยกันเซฟบางกลอย เป็นสิ่งที่พยายามใฝ่ฝันว่าในวันหนึ่งเราเคยได้ต่อสู้ ในช่วงที่ผู้คนไม่ค่อยสนใจหรือไม่เหลียวแล แต่ในวันหนึ่งคนในสังคมได้เข้าใจคนพวกนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ตนที่เกิดมาเป็นสื่อรู้สึกภาคภูมิใจ ที่สามารถจะมองเห็นผู้คนเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำและนำเสนอ

วันหนึ่งได้รู้จักชูเวช วงสามัญชน (นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงดนตรีสามัญชน) พอมารู้จัก แลกเฟซบุ๊กกัน ก็มีข้อความเด้งมาในปี 2558 ชูเวชส่งข้อความมาให้กำลังใจตน ในวันที่กำลังเผชิญเรื่องโรฮิงญา ตนไม่ได้เปิดอ่านเพราะว่าช่วงนั้นมีข้อความคนมาให้กำลังใจเยอะมาก ไม่ได้เปิดอ่านเพราะว่าไม่ได้รับชูเวชเป็นเพื่อน พอวันหนึ่งตนรับเฟซบุ๊กแล้วไปเจอข้อความนั้น ตนน้ำตาไหล ในวันที่เรากำลังรู้สึกว่าเลวร้ายที่สุดในชีวิตในช่วงนั้น แต่มีผู้คนที่เข้าใจเรา และข้อความของชูเวชเด้งมาในวันที่เราไม่ได้อ่าน แล้วพอวันนี้ก็ทัก “ชูเวชส่งข้อความมาหาพี่เหรอเมื่อปี 58” ชูเวชก็ตอบ “ใช่ครับ” ตนก็บอกขอบคุณมากนะ ชูเวชตอบว่า “ผมก็ขอบคุณพี่เหมือนกัน ที่เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นผม” ตนก็บอก บางครั้งแค่เรื่องนิดเดียวในชีวิตมันก็เป็นกำลังใจ

“ณ วันนี้พี่ต้องขอให้กำลังใจทุกคน เราไม่ได้พูดในฐานะที่เป็นสื่อ ที่ว่าสื่อจะพูดเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่กดทับเสรีภาพของพี่เหมือนกัน เพราะว่าพี่เป็นสื่อที่ไม่สามารถมีเสรีภาพพูดอะไรพวกนี้ได้ แต่พี่พูดในฐานะของความเป็นคน พี่ขอให้กำลังใจทุกคนในการต่อสู้ต่อไปเพื่อความเป็นคนของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น