xs
xsm
sm
md
lg

ขออภัยที่ข่าวสารไปไม่ถึงคุณ! ศาลยุติธรรมยุคนี้ ประกันตัววันหยุดได้ ย้อนอ่านทำไม “เพนกวิน-อานนท์” ไม่ได้ปล่อยตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีที่ศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “สุเทพ” และแกนนำ กปปส.รวม 8 คน มีคนสงสัยว่าวันนี้วันหยุด มาฆบูชาปล่อยตัวได้ด้วยหรือ พบศาลยุติธรรมเปิดให้ประกันตัวในวันหยุดมานานแล้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ขอแถมอีกนิด ย้อนรอยคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทำไม “เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์” ทำไมไม่ได้ประกัน

วันนี้ (26 ก.พ.) จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. และพวกรวม 8 คน ในระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกัน 800,000 บาท และทั้งหมดได้ปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลายคนสงสัยว่า วันหยุดนักขัตฤกษ์อย่างวันมาฆบูชา ประกันตัวได้ด้วยหรือ มีอะไรพิเศษหรือไม่ จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว MGR Online พบว่า ในปัจจุบันศาลยุติธรรมเปิดให้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้

ก่อนหน้านี้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ออกประกาศระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ. 2562 โดยอ้างอิงตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้ทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และคำขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา

ประกอบกับมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499, มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545, มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 กำหนดให้นำตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไปศาลหรือยื่นฟ้องภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเปิดทำการวันหยุด

การเปิดทำการในวันหยุด เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาให้นำตัวไปศาลโดยเร็ว และเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว โดยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการ เพื่อพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง การรับและส่งตัวผู้ถูกจับตามหมายจับ และการพิจารณาส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด

ในกรณีที่มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 2 วัน ให้เปิดทำการในวันหยุดราชการวันแรกเป็นอย่างน้อย กรณีที่มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 3 วัน ให้เปิดทำการในวันหยุดราชการวันที่สอง 1 วันเป็นอย่างน้อย กรณีมีวันหยุดราชการติดต่อกันตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป ให้เปิดทำการในวันหยุดราชการวันแรก และวันที่ 3 เป็นอย่างน้อย แต่ต้องมีให้ศาลปิดทำการติดต่อกัน 2 วัน

ส่วนกรณีพิจารณาคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว หมายความรวมถึงการรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง และการอ่านคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นเปิดทำการศาลวันหยุดราชการทุกวัน ศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการทุกวัน เพื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา หรือคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ล่าสุด นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายถึงการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว (การขอประกันตัว) คดีในศาลยุติธรรมว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาใดๆ แล้วถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยนั้นก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือขอประกันตัวได้ที่ศาล หรือยื่นคำร้องทางระบบออนไลน์ผ่าน “ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม” ที่เรียกว่า ซีออส (CIOS) โดยระบบเปิดให้ยื่นได้ทั้งการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ต่อศาลชั้นต้น หรือการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งการยื่นคำร้องทางระบบออนไลน์ CIOS นั้นสามารถยื่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง และผู้ยื่นสามารถทราบคำสั่งศาล ตลอดจนดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องทางออนไลน์ได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศาล

ดังนั้น การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีอาญาต่างๆ ในศาลยุติธรรม ณ ปัจจุบัน จึงดำเนินการได้ตลอดทุกวันแบบไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นการยกระดับคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยเรื่องการขอปล่อยชั่วคราวในทุกขั้นตอนทั้งชั้นฝากขัง ชั้นพิจารณา ชั้นระหว่างอุทธรณ์ ชั้นระหว่างฎีกาและในคดีอาญาทุกประเภท


ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมแกนนำ กปปส.ถึงได้ประกันตัว แต่แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 ถึงได้ไม่ประกันตัวนั้น คำร้องล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยื่นประกันตัวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 หลังถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ในความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ โดยได้นำนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.มาเป็นนายประกันเพื่อขอปล่อยชั่วคราวหลังจากยื่นไปแล้วหลายครั้ง

ปรากฏว่า ศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คน ให้เหตุผลว่า ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ไป อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง คือยังไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้ง 4 คน ต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ในคำร้องที่ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยในคดีที่ อ.286/2564 พร้อมด้วยนายพงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายความของนายพริษฐ์ นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรจำเลยในคดีที่ อ.287/2564 เดินทางมายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอาญาในคดีที่กลุ่มจำเลยถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องข้อหาตามความผิดมาตรา 112, มาตรา 116 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา จากคดีการชุมนุม19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง ส่วนเพนกวินมีคดีชุมนุมม็อบเฟสฯ วันที่ 14 พ.ย. 63 อีกด้วย

โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในคำร้องทั้ง 3 สำนวน ประกอบด้วย สำนวนที่ อ.286/2564 ที่มีนายพริษฐ์เป็นจำเลย สำนวนนี้ ศาลให้เหตุผลว่าพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอื่นอีก เมื่อพิจารณาประกอบคำคัดค้านของพนักงานอัยการโจทก์แล้วกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีกและน่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง


ส่วนสำนวนที่ 2 คือ สำนวนที่ 287/2564 ที่มี 2 คำสั่งในส่วนนายพริษฐ์ นายอานนท์ และนายสมยศ และสำนวนของนายปติวัฒน์ หรือหมอลำแบงค์ ทั้ง 3 สำนวนศาลให้เหตุผลในทำนองเดียวกันสรุปว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูงการกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยจำเลยทั้งหมด ปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะกระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนนายสมยศ จำเลยที่ 4 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ส่วนนายปติวัฒน์ หรือหมอลำแบงค์ จำเลยที่ 3 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 3 ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยที่ 3 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น