“ปานเทพ” เผยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ทดลอง “ฟ้าทะลายโจร” กับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5 ราย เบื้องต้นพบว่าเชื้อลดลงทุกราย หลังทานครบ 5 วัน และอาจช่วยบรรเทาอาการรุนแรงของโรคได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอใช้เพื่อการป้องกัน พร้อมเสนอแนะให้พิจารณาใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ
วันที่ 23 ม.ค. 2564 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ...
ข่าวดีมาก!!! ผลทดสอบเบื้องต้น “ฟ้าทะลายโจร” ลดเชื้อ “ผู้ป่วย Covid-19” ได้ทุกราย
เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้มีการจัดการประชุมขึ้น และมีการรายงานเรื่องยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรต่อผู้ป่วย โรคโควิด-19
หมายถึงมีการทดลองใช้ในมนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยในที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการจนควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีมากจนเป็นที่ชื่นชมจากทั่วโลก อีกทั้งยังมีผลการรักษาที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก จนได้รับคำชมว่า แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีความสามารถในระดับแนวหน้าของโลก (แม้จะมีข้อสงสัยว่าน่าจะมีการระบาดมากกว่าที่ตรวจพบ)
จุดแข็งดังกล่าวทำให้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบกักตุนวัคซีนแบบไร้ทิศทาง เพราะความเร่งรีบที่จะผลิตวัคซีนโดยยังไม่มีการวิจัยถึง 10 ปี ตามที่ควรจะเป็น ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ประสิทธิภาพระยะยาว, ผลข้างเคียงระยะยาว, การกลายพันธุ์ของเชื้อ จำนวนประชาชนที่จะไม่ใช้วัคซีน ฯลฯ
ดังนั้น การเริ่มสะสมวัคซีนเท่าที่จำเป็นและมั่นใจในประสิทธิภาพที่สุด และดูผลของชาติอื่นๆ ที่ยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ก่อน จึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดที่สุดแล้วในเวลานี้
แต่จุดแข็งของสถิติดังกล่าวก็มีจุดอ่อนด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะปี พ.ศ. 2563 ผู้ป่วยโควิด-19 มีไม่มาก ดังนั้น โอกาสที่สมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ตำรับยาขาว ฯลฯ” ซึ่งเป็นกลุ่มสมุนไพรที่วงการแพทย์แผนไทยมีภูมิปัญญาและองค์ความรู้ว่าจะมีโอกาสจะมาช่วยถึงขั้นรักษาโรคโควิด-19 ได้นั้น เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญอย่างยิ่งในการใช้กับผู้ป่วยจริง
เพราะปีที่แล้วนอกจากผู้ป่วยจะมีไม่มากแล้ว หากคนไข้ที่ตรวจพบโควิด-19 แล้ว แพทย์แผนปัจจุบันก็จะคว้าตัวเอาไปรักษาในโรงพยาบาลโดยทันที ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเพราะประเทศไทยไม่ต้องการที่จะเสี่ยงเสียสถิติความเป็นเลิศในการรักษาจากวงการแพทย์แผนปัจจุบัน และไม่อยากเสี่ยงสมุนไพรในสิ่งที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่รู้จัก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ สมุนไพรไทยจึงจะต้องประสบกับอุปสรรคอย่างหนัก จนไม่สามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศจีนที่ตำรับยาจีนโบราณกลับได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และได้ส่งออกไปขายยังนอกประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แล้ว
ความจริงแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ปอด หรือไข้หวัดที่ไม่ได้ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้นมีจำนวนมาก และหลายรายก็อาการหนักมากจนถึงขั้นไอมีเสมหะปนเลือดออกมา แต่ก็ได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยกลุ่มนี้จนหายป่วยไปแล้วจำนวนมากเช่นกัน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสตรวจหาเชื้อโควิด-19 วงการแพทย์แผนปัจจุบันจึงกล่าวได้แต่เพียงว่า สมุนไพรเหล่านี้ยังไม่มีงานวิจัย ไม่สามารถนำมาเสี่ยงใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วยาไทยและตำรับยาไทยเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนยาว่าสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในเรื่องสรรพคุณตามกฎหมายในฐานะเป็นตำรับยาของชาติ ยาสามัญประจำบ้าน ไม่ใช่เพิ่งมาทดลอง เพราะได้เคยมีการใช้กับผู้ป่วยในฤดูหนาว ที่มักป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่เกี่ยวกับโรคทางเสมหะ ซึ่งตำรับยาไทยได้ระบุเอาไว้หลายตำรับและบันทึกเอาไว้ว่ามีประสบการณ์ในการรักษามาแล้ว “หลายร้อยปี” โดยไม่ได้สนใจว่าเชื้อโรคเหล่านั้นจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร
เหตุก็เพราะในอดีตเราไม่สามารถมองเห็นเชื้อจุลชีพแต่ละชนิดได้ด้วยตาเปล่าจึงเรียกโรคระบาดที่ทำให้คนตายว่าโรคห่า เพียงแต่ว่ามีการแยกแยะจำพวกการเกิดโรคระบาดออกตามฤดูกาล และอาการที่เกิดขึ้น ตลอดจนดูการโจมตีของกลุ่มประชากรที่อายุต่างกัน ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องระบบธาตุของ “มนุษย์” กับ “สิ่งแวดล้อม” ภายใต้ตำราเกี่ยวกับโรคระบาดที่ชื่อว่า พระคัมภีร์ตักศิลา
ซึ่งทั้งมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ก็เอื้ออำนวยต่อสภาพแวดล้อมของจุลชีพที่แตกต่างกัน แม้จะมองไม่เห็นจุลชีพด้วยตาเปล่า แต่คนโบราณใช้วิธีการดูการระบาดของโรคนั้นด้วยการ “กระทุ้งพิษไข้” ด้วยการใช้ตำรับยาในกลุ่มรากสมุนไพรให้ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อให้เชื้อที่อยู่ตามปุ่มประสาทไม่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รับประทานสมุนไพรเหล่านั้น จึงแสดงออกมาทางผื่นผิวหนังทั้งลักษณะและสีอันบ่งบอกรักษาของชนิดของไข้ จากนั้นจึงใช้ยาแปรภายในเพื่อปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยตามไข้ชนิดนั้น แล้วจึงตามด้วยยาครอบไข้เพื่อไม่ให้เชื้อนั้นกลับเข้ามาได้อีก
เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เคยมีการประชุมการประชุมพัฒนาองค์ความรู้การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้ให้ผู้เชี่ยวขาญการแพทย์แผนไทยลงมติลงคะแนนว่าตำรับยาสมุนไพรไทยใดที่สามารถใช้ป้องกันได้ และสมุนไพรไทยชนิดใดสามารถถึงขั้นใช้รักษาได้
ปรากฏว่า เสียงข้างมากของที่ประชุมระบุว่า “ยาตรีผลามหาพิกัด” เป็นสมุนไพรที่น่าจะป้องกันได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยใช้พิกัดเสมหะ หมายความว่า ใช้ลูกมะขามป้อมหนัก 12 ส่วน, ลูกสมอพิเภกหนัก 8 ส่วน และลูกสมอไทยหนัก 4 ส่วน (สัดส่วนดังกล่าวมีวิตามินซีสูง แต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าอาหารเสริมวิตามินซีสกัด)
โดยในการประชุมครั้งนั้นยังได้มีความเห็นโดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยให้ “ยาขาว” ตามตำราศิลาจารึกวัดโพธิ์ (สมัยรัชกาลที่ 3) ว่า น่าจะรักษาได้มากที่สุด เพราะเพียงตำรับยาเดียวแต่กลับระบุในการบันทึกว่าสามารถรักษาโรคระบาดได้ “หลายชนิด” ซึ่งตำรับยาดังกล่าวนั้นเขียนเอาไว้ว่า
“ขนาน ๑ เอา กะเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากส้มเส็ด รากเข้าไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากหญ้านาง รากผักเข้า รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำซาวข้าวกิน
แก้ไข้รากสาด ออกดำ แดง ขาว และแก้ไข้ประกายดาษ ไข้หงษ์ระทด และแก้ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้า และแก้ไข้มหาเมฆ มหานิล ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น และยาขนานนี้แก้ได้ทุกประการ ตามอาจารย์กล่าวไว้ ให้แพทย์ทั้งหลายรู้ว่าเปนมหาวิเศษนักฯ”
ซึ่งในปีที่ผ่าน ผู้เขียนได้เห็นผู้ป่วยหนัก “หลายราย” เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น บางรายจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ไม่มีน้ำมูก แต่ไอมีเสมหะ หายใจตื้นไม่สะดวก ไอมีโลหิต อีกทั้งยังเป็นโรคเบาหวานด้วย กลับหายได้ด้วยตำรับยาดังกล่าวได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้จะไม่ได้ตรวจว่าเป็นโควิด-19 ก็ตาม (เพราะถ้าตรวจเจอโควิด-19 ก็คงต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น)
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ผู้เขียนได้ร่วมกับทีมแพทย์แผนไทยได้เดินทางไปในพื้นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในหลายจังหวัด เมื่อใช้ตำรับยาไทยตามขั้นตอนและภูมิปัญญาแล้ว พบว่าผู้ที่ถูกกักตัวที่ผ่านการใช้สมุนไพร อาบแดด และระมัดระวังเรื่องอาหารตามองค์ความรู้ที่เรียกว่าวิชา “ธรรมานามัย” แล้วก็ไม่พบว่าติดเชื้อในกลุ่มดังกล่าวเลย
ตำรับยาดังกล่าวข้างต้น วงการแพทย์แผนปัจจุบันไม่ยินยอมให้มีการใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะเห็นว่ายังไม่มีงานวิจัยในตำรับยาดังกล่าว จึงเปิดทางให้วิจัยเฉพาะ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นสมุนไพรยาเดี่ยว เป็นยาสามัญประจำบ้านและบัญชียาหลักของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ใช้สำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ไม่ยากและขึ้นง่ายในประเทศไทย และมีงานวิจัยในต่างประเทศ ในขณะที่ตำรับยาไทยไม่ได้มีการอ้างอิงในการวิจัยในต่างประเทศมาก่อน
สำนักวิจัยการแพทย์แผนไทย ได้ฝ่าด่านในการทดสอบเบื้องต้น เพื่อกำหนดขนาดการใช้ฟ้าทะลายโจร วัดความปลอดภัย และสรรพคุณเบื้องต้น และได้รายงานการรวบรวมข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สรุปว่า
ประการแรก ถึงเวลานี้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งสกัดจากฟ้าทะลายโจร และสารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
(แปลว่าฟ้าทะลายโจร และสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้)
ประการที่สอง สารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ โควิด-19 มากกว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจร
(แปลว่า กินฟ้าทะลายโจรแบบสกัดหยาบใส่แคปซูลดีกว่าสกัดสาร แอนโดรกราโฟไลด์ Andrographolide ออกมา)
ประการที่สาม สารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจร และ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสของเซลล์
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของการยินยอมให้มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยจริงที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 5 วัน และดูผลที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อได้รับสมุนไพรฟ้าทะลายโจรว่ามีความปลอดภัยหรือไม่และมีผลการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
สรุปผลการทดสอบ 5 ราย ที่ไม่ได้รับยาอย่างอื่นเลยนอกจากฟ้าทะลายโจร มีดังนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 1 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจรตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 90 Copies พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 760 Copies (เพิ่มขึ้น 744.44%) แต่พอรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ “0” Copies คือไม่พบเลย
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 725 Copies พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 2,072 Copies (เพิ่มขึ้น 185.79%) แต่พอรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ “0” Copies คือไม่พบเลย
ความน่าสนใจต่อไปนี้คือผู้ป่วยรายที่ 3 ซึ่งถือว่า “ป่วยหนัก” กล่าวคือ
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 3 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 9,857,464,593 Copies (ประมาณ 9,857 ล้าน Copies) พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 344,507,736 Copies (ลดลงเหลือ 344 ล้าน Copies คิดเป็นจำนวนเชื้อลดลงถึง 96.50% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ 31,754,737 Copies (ประมาณ 31 ล้าน Copies คิดเป็นจำนวนเชื้อลดลงถึง 99.68% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 4 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 296,466 Copies พอรับประทานฟ้าทะลายโจร จนถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 308 Copies (เชื้อลดลง 99.8% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วันตรวจเชื้อได้ 13,935 Copies (เชื้อลดลง 95.29% เมื่อเทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 5 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ 15,731 Copies เมื่อรับประทานฟ้าทะลายโจร จนถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 1,924 Copies (เชื้อลดลงไป 87.77% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อได้ 31 Copies (เชื้อลดลง 99.80% เมื่อเทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ในการทดสอบเบื้องต้นทั้ง 5 รายนี้ ปรากฏว่า อาสาสมัคร 1 ราย มีค่าการทำงานของตับ Alanine Aminotransferase (ALT) เพิ่มสูงเป็น 1.7 เท่าของค่าปกติ ในวันที่ 5 ของการรับประทานยา
ในขณะที่อาสาสมัครอีก 1 ราย ที่มีแนวโน้มของค่าการทำงานของตับ คือ Aspartate aminotransferase และ Alanine Aminotransferase (ALT) สูงขึ้น แต่ไม่เกินค่าปกติ
ส่วนที่เหลือไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ในอาสาสมัคร
ผลการทดสอบเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า
“การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรซึ่งมี สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 180 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าประมาณฟ้าทะลายโจรสกัดหยาบ 48 เม็ดแคปซูล) อาจมีผลช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการแสดงของโรคโควิด-19 ได้แก่ ความรุนแรงของอาการไอ ความถี่ของการไอ ความรุนแรงของอาการเจ็บคอ ปริมาณเสมหะ และความรุนแรงของความปวดศีรษะ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ส่วนปริมาณน้ำมูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในวันที่ 5 ทั้งนี้ พบว่า ในการรักษามาตรฐาน อาสาสมัครทุกรายไม่ได้รับยาแผนปัจจุบันอื่นร่วมด้วย
การรับประทาน “สารสกัด” ฟ้าทะลายโจรขนาดสูงอาจมีผลต่อค่าการทำงานของตับ ควรเฝ้าระวังค่าการทำงานในการศึกษวิจัยต่อเนื่อง
สำหรับข้อแนะนำเพิ่มเติมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกคือ
1. สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ สามารถพิจารณาให้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขนาดที่มีปริมาณ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 60 มิลลิกรัมต่อวัน (ฟ้าทะลายโจร 16 เม็ดต่อวัน) แบ่งให้สามเวลาก่อนอาหาร เป็นเวลา 5 วัน
2. สำหรับการใช้เพื่อการป้องกัน ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการให้ฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกัน แนะนำให้ใช้หลักธรรมานามัย ในการดูแลตนเองแบบองค์รวม
แต่สำหรับผู้เขียนที่ได้ติดตามในทางเครือข่ายคลินิกการแพทย์แผนไทย พบว่า หากใช้ฟ้าทะลายโจร 16 เม็ดต่อวัน ควบคู่ไปกับการใช้ยาขาวกับน้ำซาวข้าว 3 เวลา พบว่าผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจะมีอาการดีขึ้นเร็วกว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว ตั้งแต่ภายใน 1-2 วันแรก
สำหรับในขั้นตอนต่อไป กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะต้องมีการทดสอบทางคลินิกต่อไปอีก เพื่อไปเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก (ยาปลอม) เพื่อเทียบกับการได้หรือไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร อันจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ใช่สำหรับคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อมนุษยชาติด้วย
เพราะถ้าโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคที่แม้จะระบาดมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ด้วยการรับประทานยาฟ้าทะลายโจร (หรือร่วมกับยาขาว) ก็จะกลายเป็นเหมือนโรคหวัดธรรมดาที่รักษาหายได้ นอกจากจะช่วยลดยาหรือวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังจะทำให้ประเทศไทยแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาสของชาติได้เลย เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่ขึ้นง่ายในประเทศไทยอย่างมาก
ข้อสำคัญคือ แม้วัคซีนจะได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว แต่คงจะมีประชากรจำนวนมากไม่ต้องการฉีดวัคซีน การมีสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และตำรับยาไทย จะทำให้เปลี่ยนสมรภูมิของการปิดเมืองทำลายเศรษฐกิจเพื่อป้องกันโรค มากลายเป็นสมรภูมิการรักษาได้ด้วยตัวเอง
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของฟ้าทะลายโจรในเวลานี้ คือ
1. ความเข้าใจผิดๆ เนื่องด้วยผู้บริโภคทั่วไปคิดว่าฟ้าทะลายโจรทุกส่วนมีคุณสมบัติเหมือนกันหมด แต่ความจริงแล้ว ความลับสำคัญของธรรมชาติในการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยา คือ “ใบ” ของฟ้าทะลายโจรเท่านั้น ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์มากที่สุด
แต่เนื่องจากฟ้าทะลายโจรขาดตลาด จึงทำให้ผู้ผลิต “หัวใส” หลายราย ผสมส่วนอื่นๆ เข้าไปในแคปซูลด้วย เช่น กิ่งก้าน ลำต้น ฯลฯ นั่นแปลว่าฤทธิ์ทางยาฟ้าทะลายโจรในตลาดอาจด้อยลง และอาจทำให้ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรมากกว่าที่คาดการณ์จึงจะเพียงพอ
2. ปัจจุบันราคาฟ้าทะลายโจรแพงขึ้นมากกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า 4-8 เท่าตัว
3. รัฐบาลไทยยังไม่ได้เตรียมตัวและไร้ทิศทางในการส่งเสริมฟ้าทะลายโจรอย่างเป็นระบบ อาจส่งผลทำให้ฟ้าทะลายโจรขาดแคลนในเร็ววันนี้ แปลว่า ใครอ่านบทความนี้ควรเริ่มสะสมฟ้าทะลายโจรประจำบ้านให้เพียงพอแก่สมาชิกในครอบครัว (โดยเฉพาะส่วนที่เป็นฟ้าทะลายโจรที่ทำจากใบฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว) และควรคิดเร่ิมปลูกฟ้าทะลายโจรประจำครอบครัวได้แล้ว
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในเวลานี้ คือ “ให้ความรู้และปัญญากับประชาชน” ว่า ประเทศไทยมีทรัพย์สินที่มีค่าอยู่บนดิน เร่งดำเนินการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรให้เป็นสมุนไพรประจำบ้านและปลูกเป็นยาสำหรับผู้ป่วยในประเทศและเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เร่งวิจัยติดตามผลการรักษาของตำรับยาขาวในคลินิกการแพทย์แผนไทย ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทของแพทย์แผนไทยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในชาติมากกว่านี้
ข้อสำคัญ โรคที่รักษาหายได้ด้วยสมุนไพร ไม่จำเป็นต้องกักตุนวัคซีนที่เรายังไม่แน่ใจ ลดการพึ่งพายาต้านไวรัสเอดส์จากต่างชาติ และที่สำคัญ ไม่ต้องมีใครต้องปิดกิจการเพื่อป้องกันโรคอีกต่อไป