xs
xsm
sm
md
lg

สวมหน้ากากอาจไม่พอ! "หมอพระมงกุฎ" แนะล้างมือบ่อยๆ ชี้ใส่ถุงมือคิดเงินเป็นวิธีที่ผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ.พระมงกุฎเกล้า เสนอ ศบค. สื่อสารประชาชนเรื่องการล้างมือ ชี้ "น้ำยาล้างมือ" วางให้รู้ว่ามี แต่น้อยคนที่ใช้ ส่วนแคชเชียร์ใส่ถุงมือคิดเงินโดยไม่เปลี่ยนเป็นวิธีที่ผิด กลายเป็นส่งเชื้อไปให้คนอื่น แนะล้างมือ 1 ครั้งต่อลูกค้า 1 ราย ช่วงนี้ต้องฝึกล้างมือบ่อยๆ หรือพกแอลกอฮอลล์ล้างมือติดกระเป๋า ใช้ทุกครั้งหลังสัมผัส

วันนี้ (18 ม.ค.) เฟซบุ๊ก Tor Phiboonbanakit ของพันเอกธนะพันธ์ พิบูลย์บรรณกิจ แพทย์ที่ปรึกษา แผนกโรคติดเชื้อ กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โพสต์ข้อความหัวข้อ "ทำไมใส่หน้ากากอนามัยแล้วยังเสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19?" ระบุว่า

"คำตอบง่ายมาก อยู่แค่ปลายนิ้ว (และปลายจมูก) พฤติกรรมที่ไม่เคยเปลี่ยน และความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ในชีวิตประจำวันของทุกคน ตัวอย่างเช่น

1. ใส่หน้ากากอนามัย แต่ยังไม่เลิกพฤติกรรมการจับหน้ากาก (สังเกตได้ ถ้าใส่หน้ากากแล้วพูด ถ้าใส่ไม่ดี หน้ากากมักเลื่อนลงมา ต้องรีบดึงกลับเข้าที่) ขยี้ตา จับหน้า (มักพบในคนเป็นภูมิแพ้ และความเคยชิน)

2. ใส่ถุงมือโดยไม่เปลี่ยน เพราะเชื่อว่ามือจะไม่เปื้อนเชื้อ แต่ลืมไปว่าเชื้อจะเกาะอยู่ที่ถุงมือ ถ้าทำพฤติกรรมตามข้อ 1 ตัวเองก็จะติดเชื้อ แถมเมื่อไม่เปลี่ยนถุงมือ ก็จะส่งเชื้อไปให้คนอื่นอีก ทุกวันนี้ยังเห็นได้ในทุกเคาน์เตอร์คิดเงิน ดูเหมือนดี แต่ผิด

3. น้ำยาล้างมือ วางไว้ให้ตรวจว่ามี แต่มีคนใช้น้อยมาก แถมใช้เฉพาะตอนเข้าและออก สังเกตดู ตามห้างสรรพสินค้าที่มีแอลกอฮอลล์ล้างมือตั้งไว้ให้ ห้วงเวลาที่มักถูกละเลยคือ

3.1 หลังจับปากกาเซ็นชื่อเข้า-ออกห้าง

3.2 หลังรับของและออกจากร้านที่เข้าไปจับจ่ายซื้อของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารสดแช่แข็ง หรือหลังออกจากร้านอาหาร

3.3 หลังการรับเงินทอน

3.4 หลังจับราวบันไดเลื่อน

ถ้าเป็นตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ หรือการใช้รถขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทาง ฯลฯ โอกาสที่ผู้ใช้บริการจะล้างมือ มีน้อยมาก

4. ล้างมือไม่ถูกวิธี

4.1 ใช้น้ำยาน้อยไป

4.2 ระยะเวลาที่น้ำยาสัมผัสมือสั้นไป อย่างต่ำ ถูมือให้ทั่วใช้เวลาครึ่งนาที

4.3 น้ำยาหมดอายุ

คำแนะนำ

1. ข้อ 1 ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหาวิธีที่ใส่หน้ากากให้กระชับ ไม่เลื่อนลงมาเวลาพูด

2. ข้อ 2 เลิกใส่ถุงมือเวลาออกไปทำภารกิจนอกบ้าน ที่เคาน์เตอร์ พนักงานไม่ใช้ถุงมือแทนการล้างมือ และต้องล้างมือ 1 ครั้ง ต่อลูกค้า 1 ราย จัดเจ้าหน้าที่บริการ หรืออุปกรณ์สื่อสาร แจ้งให้ลูกค้าต้องล้างมือ เมื่อออกจากจุดบริการ

3. ข้อ 3-4 ทุกคนที่ออกจากบ้านต้องฝึกการล้างมือบ่อยๆ และควรมีเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอลล์ล้างมือส่วนตัวติดกระเป๋า ดึงออกมาใช้ทุกครั้งที่มือต้องสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ

เมื่อถึงบ้าน ล้างมือด้วยสบู่อีกครั้ง ปลอดภัยกับคนทั้งบ้าน

เมื่อต้องออก ขอเพิ่มจากใส่หน้ากากอนามัย ขอให้ล้างมือ 100% ช่วยกัน จะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้อีกเยอะ

ถ้า ศบค. จะได้กรุณาเน้นการดูแลมือสำหรับประชาชนทั่วไปในทุกช่องทาง อย่างต่อเนื่องและชัดเจน จะเป็นพระคุณมาก ทำเรื่องนี้ก่อน วัคซีนไว้ทีหลัง เกาให้ถูกที่คัน"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น