ผลการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ 64-66 เบื้องต้นพบ “หมอทวีศิลป์” ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 รองจาก “หมอทัวร์” พี่ชาย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม พบกรรมการหน้าใหม่เข้ามาถึง 13 คน “หมอจ๊วด” นำชมรมแพทย์อาสาคว้ามาได้ 10 เสียง ขณะที่หมอหนุน “ม็อบปลดแอก” เข้ามาได้ 1 เสียง
วันนี้ (15 ม.ค.) รายงานข่าวจากแพทยสภา แจ้งว่า ผลการนับคะแนนเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ. 2564-2566 อย่างไม่เป็นทางการ พบว่า รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ หรือ หมอทัวร์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่ชายฝาแฝด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม จากชมรมแพทย์อาสา มีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 โดยได้คะแนนรวม 7,127 เสียง รองลงมาคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จากกลุ่มแพทยสมาคม ได้คะแนนรวม 6,872 คะแนน, อันดับ 3 ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ จากชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพ ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คะแนนรวม 6,498 คะแนน, อันดับ 4 ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ผู้สมัครอิสระ ได้คะแนนรวม 5,946 คะแนน, อันดับ 5 ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกลุ่มแพทยสมาคม ได้คะแนนรวม 5,824 คะแนน
อันดับ 6 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ หรือ หมอจ๊วด ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ และอดีตเลขาธิการแพทยสภา จากชมรมแพทย์อาสา ได้คะแนนรวม 5,510 คะแนน, อันดับ 7 รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อดีตกรรมการแพทยสภา และอุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 จากชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพ ได้คะแนนรวม 4,966 คะแนน, อันดับ 8 ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ อดีตนายกแพทยสภา จากกลุ่มแพทยสมาคม ได้คะแนนรวม 4,899 คะแนน, อันดับ 9 ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการแพทยสภา จากชมรมแพทย์อาสา ได้คะแนนรวม 4,823 คะแนน, อันดับ 10 พญ.ชัญวลี ศรีสุโข หรือ หมอหวิว สูตินรีแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพิจิตร และกรรมการแพทยสภา จากกลุ่ม CHANGE NETWORK ได้คะแนนรวม 4,794 คะแนน ในปีนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการแพทยสภารวมทั้งสิ้น 117 ราย และเป็นครั้งแรกที่แพทยสภาจัดการเลือกตั้งออนไลน์ สำหรับผู้ที่แสดงความจำนงแล้ว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับออฟไลน์ทางไปรษณีย์
สำหรับผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา 30 คน ได้แก่ นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์, รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร, รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์, ศ.พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก, นพ.ธงชัย ประฏิภาณวัตร, นพ.พินิจ หิรัญโชติ, ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ, นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์, พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ, นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ, ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง, รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ, ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์, ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา, นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ, นพ.วินัย วนากูล, ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์, ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์, ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์, ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี, ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช, รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ , นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์, พญ.ชัญวลี ศรีสุโข, นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ และ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 30 ราย จะมีการประชุมเพื่อเลือกนายกแพทยสภาคนใหม่ คาดว่า จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ด้านแหล่งข่าวจากแพทย์รายหนึ่งเปิดเผยว่า การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่นำระบบลงคะแนนออนไลน์มาใช้ควบคู่กับการเลือกตั้งโดยบัตรลงคะแนน ส่งทางไปรษณีย์แบบเก่า โดยพบว่ามีผู้ที่แสดงความจำนงเลือกตั้งออนไลน์มากถึง 25% ของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งมองว่ายุ่งยากต้องมีการลงทะเบียน และยืนยันตัวตนหลายขั้นตอนมากเกินไป ขณะที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาพบว่ามีกรรมการหน้าใหม่เกิดขึ้นถึง 13 คน หนึ่งในนั้นคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ซึ่งการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาสมัยก่อนเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับสุดท้าย แต่มาคราวนี้ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ของวงการแพทย์ เป็นรองแค่ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ เท่านั้น ซึ่งมองว่าเป็นเพราะมีปัจจัยจากอำนาจรัฐและการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการแพทยสภาชุดก่อนหน้านี้ ได้ช่วยผลักดันการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการผลักดันแอปพลิเคชันหมอชนะ และการให้คำแนะนำรัฐบาลในการจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชน
สำหรับกลุ่มเลือกตั้งพบว่า ชมรมแพทย์อาสา (ชพส.) ที่นำโดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ ได้รับการเลือกตั้งมาได้ 10 เสียง รองลงมาคือ ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ที่นำโดย นพ.สัมพันธ์ คงฤทธิ์ ได้รับการเลือกตั้งมาได้ 9 เสียง ตามมาด้วยกลุ่มแพทยสมาคม ที่นำโดย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ อดีตนายกแพทยสภา ได้รับการเลือกตั้งมาได้ 8 เสียง ส่วนกลุ่มเชนจ์ เน็ตเวิร์ค (CHANGE NETWORK) ที่นำโดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ได้มา 2 เสียง พร้อมกับ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ส่วนผู้สมัครอิสระ พบว่า นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ที่เคยแสดงจุดยืนผ่านเฟซบุ๊ก Smith Fa Srisont เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ประณามเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางไม่ให้รถฉุกเฉินเข้าไปในที่ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 ได้เข้ามา 1 เสียง เป็นอันดับที่ 25 นอกจากนี้ ยังมีแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) เข้ามาหลายคนอีกด้วย