xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” เผยสถานการณ์โควิด-19 ไทยยังวิกฤต ทุกคนต้องป้องกันตนเอง ระบุการต่อสู้ครั้งนี้ใช้เวลานานกว่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์จุฬาฯ ห่วงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย เผยยังอยู่ในขั้นวิกฤต เตือนคนไทยต้องดูแลตนเองและครอบครัวให้ดี ย้ำการระบาดซ้ำแบบนี้จะเร็ว กระจายวงกว้าง ต้องใช้เวลาสู้นานกว่าเดิม เลี่ยงสถานที่แออัด

จากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทย ที่ทาง ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่ม 216 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 214 ราย รอสอบสวนโรค 154 ราย ค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว 32 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน และมีประวัติเสี่ยงไปบ่อนพนันในบางละมุง ตรวจพบโควิด-19

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (3 ม.ค.) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ระบุถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยยังมีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์โควิดในไทยยังวิกฤตและยังต้องใช้เวลาสู้นานกว่ารอบแรก โดย หมอธีระ ได้ระบุข้อความว่า

“สถานการณ์ทั่วโลก 3 มกราคม 2564... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 628,890 คน รวมแล้วตอนนี้ 84,916,674 คน ตายเพิ่มอีก 8,842 คน ยอดตายรวม 1,842,397 คน 
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 284,177 คน รวม 20,860,054 คน ตายเพิ่มอีกถึง 2,313 คน ยอดตายรวม 358,310 คน 
อินเดีย ติดเพิ่ม 21,222 คน รวม 10,324,631 คน
บราซิล ติดเพิ่มถึง 32,127 คน รวม 7,716,405 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 26,301 คน รวม 3,212,637 คน
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 3,466 คน รวม 2,643,239 คน
อันดับ 6-10 เป็นสหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมนี ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน
สหราชอาณาจักรติดเชื้อเพิ่มเกินห้าหมื่นคนติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวานนี้ทำลายสถิติมากสุดเท่าที่เคยมีมา 57,724 คน ในขณะที่ไอร์แลนด์ก็กำลังเผชิญการระบาดระลอกสามที่สูงกว่าทั้งสองระลอกที่เคยเผชิญมา ตอนนี้ติดสามพันกว่าต่อวัน

ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดระลอกสามด้วยการมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกแรกถึง 8 เท่า โดยถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการระบาดซ้ำของทั่วโลก ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากคือเรื่องการดำเนินมาตรการเข้มข้นที่ไม่เพียงพอและไม่ทันเวลา ตอนนี้อัตราตายเฉลี่ย 1.5% สูงกว่าไทยราว 1.6 เท่า แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมียนมา เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และกัมพูชา มีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

สถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 574 คน ตายเพิ่มอีก 14 คน ตอนนี้ยอดรวม 125,616 คน ตายไป 2,711 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2% ลองมาดูข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนของทั่วโลกจนถึงเมื่อวานนี้ 2 มกราคม 2564...ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 11.41 ล้านคน โดยมี 36 ประเทศที่ได้ให้วัคซีนแก่ประชาชนของตนเองไปแล้ว หากดูตามจำนวนการฉีด 5 อันดับแรกของโลก จะพบว่า อันดับหนึ่ง คือ จีนฉีดไป 4.5 ล้านคน, ตามด้วยอเมริกา 4.23 ล้านคน, สหราชอาณาจักร 1 ล้านคน, อิสราเอล 1 ล้านคน, เยอรมนี 1.88 แสนคน ที่น่าสนใจคือ ถ้าวิเคราะห์ตามสัดส่วนการได้รับวัคซีนต่อจำนวนประชากร 100 คน จะพบว่า ประเทศที่นำโด่งมา คือ อิสราเอล ซึ่งมีคนได้วัคซีนไปแล้ว 11.55 คนต่อประชากร 100 คน รองลงมาคือ บาห์เรน 3.53, สหราชอาณาจักร 1.47, อเมริกา 1.28 และเดนมาร์ก 0.56 ตามลำดับ ต้องทำความเข้าใจกันให้ดีว่า วัคซีนนั้นมีหลากหลายชนิดในตอนนี้ โดยมีอัตราการป้องกันโรคได้ที่แตกต่างกันตั้งแต่ประมาณ 60-95%

ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการแพทย์แล้ว เราอยากให้ประชากรของเรามีภูมิคุ้มกันในสัดส่วนอย่างน้อย 60 คนจากประชากร 100 คน ภายใต้สมมติฐานว่าวัคซีนได้ผลในการป้องกัน 100% หากน้อยกว่า 100 ก็จะต้องฉีดในประชากรจำนวนมากขึ้น จึงต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศให้ได้มากเพียงพอที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้

การตั้งการ์ดของแต่ละคนจึงสำคัญมาก ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ เลี่ยงที่แออัด ล้วนยังจำเป็นต้องทำกันไปในระยะยาว

แม้ไทยจะพยายามหาวัคซีนมา 2 ล้านโดสในเดือนสองเดือนถัดจากนี้ ก็จะยังไม่สามารถทำให้ควบคุมการระบาดวงกว้างได้ แต่ใช้ป้องกันเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่ทำงานด่านหน้า เท่านั้น ความเข้าใจเรื่องนี้จึงสำคัญมาก จะได้ไม่ประมาทกัน

สถานการณ์เมืองไทยตอนนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต

โรงพยาบาลในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาด้านภาระงาน จำนวนเตียง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องทำการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย ขอเน้นย้ำว่า การระบาดซ้ำแบบนี้จะเร็ว กระจายวงกว้าง หาต้นตอลำบาก ทำให้ต้องใช้เวลาสู้นานกว่าเดิม นอกจากนี้ จะทำให้มีการเสียชีวิตมากขึ้นเพราะติดเชื้อจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน ทำให้เกินศักยภาพที่ระบบจะให้บริการตรวจและดูแลได้อย่างทั่วถึง

ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ ประชาชนทุกคนควรป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่ “อย่าให้ติดเชื้อ”
ลักษณะการระบาดซ้ำ มักเกิดในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน และในกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ วัด ตลาด ห้าง ร้านอาหาร โรงอาหาร โรงเรียน งานแต่งงาน งานศพ งานบวช ปาร์ตี้ต่างๆ สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว และสำคัญมากคือ ติดในครัวเรือน สมาชิกครอบครัวเอาเชื้อมาแพร่แก่กันโดยไม่รู้ตัว”

กำลังโหลดความคิดเห็น