1.ศบค. เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 28 จังหวัด เตรียมยกระดับคุมเข้มโควิด จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ อาจถึงขั้นเคอร์ฟิวบางพื้นที่!
หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศวันนี้ (2 ม.ค.) ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 216 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 26 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี อาชีพรับจ้าง ที่ จ.ชลบุรี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มีประวัติเสี่ยงไปร่วมเล่นการพนันใน อ.บางละมุง ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 7,379 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,016 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 64 ราย
ในจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ 214 ราย ถูกตรวจพบเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 182 คนจากการค้นคัดกรองหาเชิงรุกกลุ่มแรงงานต่างด้าว 32 ราย โดยในกลุ่มถูกตรวจพบเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการนั้น ผ่านการสอบสวนโรคแล้ว 28 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 154 ราย
ในกลุ่มผู้ติดเชื้อทีผ่านการสอบสวนโรคแล้วนั้น พบว่าเป็นผู้มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์สมุทรสาคร 3 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ ชัยนาท และราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์ระยอง 1 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์พัทยา ชลบุรี 1 ราย อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประวัติไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง และสัมผัสผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 23 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 16 ราย นครปฐม 2 ราย ปทุมธานี 2 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย และอ่างทอง 2 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอยืนยันการสอบสวนโรค 154 รายนั้น อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร 37 ราย ชลบุรี 32 ราย ระยอง 27 ราย นนทบุรี 25 ราย จันทบุรี 10 ราย และสมุทรปราการ 23 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่ถูกตรวจพบจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 32 ราย อยู่ในจังหวัดสุมทรสาคร 30 ราย ทั้งหมดรอการสอบสวนโรค ปทุมธานี 1 ราย และตาก 1 ราย เป็นแรงงานชาวเมียนมา จำนวนจังหวัดที่พบการติดเชื้อยังอยู่ที่ 53 จังหวัด
นพ.ทวีศิลป์ เผยด้วยว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (EOC) วันนี้ (2 ม.ค.) มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า ผู้ติดเชื้อหลายคน ทราบว่า ตนเองไปจุดเสี่ยง แต่ไม่กักตัว ไม่แยกตัวจากผู้อื่น ไม่เข้ารับการรักษา และยังคงมีการลักลอบเล่นการพนัน-มั่วสุม จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการเพิ่มขึ้น ประชาชนบางส่วนขาดความระมัดระวังในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค หากยังใช้มาตรการอย่างที่ใช้อยู่ อาจจะมีหลายจังหวัดติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการในขณะนี้ให้เข้มข้นขึ้น
สำหรับการแบ่งพื้นที่จะเป็น พี้นที่ควบคุมสูงสุด (โซนสีแดง) 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง กรุงเทพมหานคร
พื้นที่ควบคุม (โซนสีส้ม) 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พังงา และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเหลือง) ได้แก่ 38 จังหวัดที่เหลือ
ทั้งนี้ จะมีมาตรการที่กําหนดให้ดําเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ขั้นที่ 1 คือ จํากัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ, ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทําผิดกฎหมาย, หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก, ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานการศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์, ให้มีการทํางานแบบ Work from Home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค.กําหนด, มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของ สธ. โดยระยะเวลาที่จะดำเนินการ คือ วันที่ 4 ม.ค. 2564 เวลา 06.00 น. ถึง 1 ก.พ. 2564 เวลา 06.00 น.
หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะดำเนินการ ขั้นที่ 2 คือ จํากัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจํากัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย), ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทําผิดกฎหมาย, งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก, เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจําเป็น, เร่งรัดและเพิ่มการทํางานแบบ Work from Home อย่างเต็มขีดความสามารถ, เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่เสี่ยง, กิจกรรม/กิจการที่เสี่ยง, กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง, จํากัดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในพื้นที่ที่ ศปก.จังหวัดกําหนด โดยระเวลาที่จะดำเนินการ จะเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี / ผอ.ศบค.เห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯ ในกรอบเงื่อนไข ที่ ศบค.กําหนด
นพ.ทวีศิลป์ เผยว่า จะมีการนำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อลงนามและประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป
2.สธ.ขอ 9 จังหวัดคุมเข้มโควิด-19 ขณะที่ กทม. สั่งปิด 25 สถานที่เสี่ยงชั่วคราว หวั่นทำโควิดพุ่ง!
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขยายวงกว้างหลายจังหวัดมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร แต่เชื่อมโยงจากบ่อนการพนันใน จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.จันทบุรี กระทั่งล่าสุด เชื่อมโยงจากสถานบันเทิงและร้านอาหารใน กทม. โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในประเทศจำนวน 279 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายไทยอายุ 44 ปี อยู่ใน กทม. ส่วนรายที่ 2 เป็นชายอายุ 70 ปี อยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก
ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยว่า จะมีการขอความร่วมมือจากทางจังหวัด โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรับคำสั่งจากทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไปสื่อสารกับจังหวัดให้ดำเนินการมาตรการเข้มในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และระยอง ขอให้มีการปิดสถานบันเทิง ส่วนร้านอาหาร ขอให้เป็นการซื้ออาหารแล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน เนื่องจากสถานที่เหล่านี้เป็นแหล่งพบปะกัน ทำให้มีละอองฝอยน้ำลาย เกิดการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นต้องลดการพบปะกันให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ในทุกจังหวัด
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (1 ม.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 15) เนื่องจากยังพบการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในบางเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง จึงให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นการชั่วคราว และกําหนดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ดังต่อไปนี้
1. ปิดสถานที่ 25 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการ ในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ 2.สวนน้ำ สวนสนุก 3.สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสําหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด 4.โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด 5.สถานที่เล่นเกม 6.ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต 7.สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่ 8.สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) 9.สนามมวย 10.โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) 11.สนามม้า 12.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ 13.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด 14.สนามแข่งขันทุกประเภท 15.สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะ ทํานองเดียวกัน 16.สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทํานองเดียวกัน
17.สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง 18.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน 19.สถานเสริมความงาม (ไม่ได้รับอนุญาตเป็นคลินิกเวชกรรม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 20.สถานที่ออกกําลังกายฟิตเนส 21.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า 22.สนามฝึกซ้อมมวย โรงยิม หรือค่ายมวย 23.ถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทํานองเดียวกัน 24.สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ 25.อาคารสถานที่ของโรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถาบันการศึกษาทุกประเภท โดยห้ามใช้เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจํานวนมาก เว้นแต่เป็นการดําเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์
2. สถานที่ ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ประกอบด้วย 1.ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในสถานที่ดังกล่าว 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ 3.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ 4.ห้องประชุมในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม 5.ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ํา และตลาดนัด 6.ร้านค้าปลีก,ค้าส่ง หรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 7.ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสําหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดําเนินการโดยจํากัดเวลา การให้บริการในร้านไม่เกินรายละสองชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน 8.สถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
9.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ร้านทําเล็บ 10.สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 11.สนามกีฬา 12.สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกําลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา 13.สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ 14.สถานที่หรือสนามออกกําลังกายในร่ม 15.สระว่ายน้ำสาธารณะทั้งกลางแจ้งและในร่ม 16.สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะ และหอศิลป์ 17.สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง 18.โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ 19.สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์
3. สถานที่อื่นๆ ให้ผู้เกี่ยวข้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 1.บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ 2.ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า 3.อํานวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตรและจํากัด จํานวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด 4.จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 5.จัดให้มีการเช็ดทําความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทํากิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทํากิจกรรมด้วย 6.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชัน ที่ทางราชการกําหนด
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจมีความผิดตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 และข้อ 3 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ประกาศ ณ วันที่ 1 ม.ค.2564 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2564
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการสมุทรสาคร รวมอยู่ด้วย โดยได้รับการตรวจและยืนยันผลเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช ขณะที่ภรรยาผู้ว่าฯ สมุทรสาคร การตรวจรอบแรกให้ผลเป็นลบ แต่เมื่อตรวจรอบสอง ผลเป็นบวก พบติดโควิด-19 เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งให้นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และภริยา เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์
3."ในหลวง-พระราชินี" พระราชทาน ส.ค.ส. และพรปีใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ให้ร่วมมือร่วมใจพาประเทศผ่านพ้นวิกฤต!
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานบัตรพระราชทานพรปีใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2564 แก่ปวงชนชาวไทย โดยด้านหน้าของบัตรฯ มีตราประจำพระราชวงศ์จักรีอยู่กึ่งกลาง ด้านล่างเป็นตราพระปรมาภิไธย วปร และตราพระนามาภิไธย สท
เมื่อเปิดบัตรพระราชทานพร ด้านขวามีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงฉายกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในฉลองพระองค์ชุดไทย ที่ทรงฉายในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ ระบุพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ส่วนด้านซ้าย มีข้อความว่า "พระราชทานพรปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๔" พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2564 ความว่า "เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2564 ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ทุกๆ ท่าน ให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และความเป็นมงคล โดยทั่วกัน"
"คนไทยเรามีวัฒนธรรมอันแสดงถึงความดี ความงาม และความเจริญ เป็นพื้นฐานของชีวิตจิตใจอยู่ วัฒนธรรมทั้งนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม ภาษา ศิลปะ วิทยาการต่างๆ และนิสัย จิตใจ ทำให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ ณ ที่ใด ก็เชื่อมโยงผูกพันกันได้อย่างใกล้ชิด"
"ในปีใหม่นี้ จึงขอให้คนไทยทุกคนได้พิจารณาให้เข้าใจถึงคุณค่าของความดี ความงาม และความเจริญทั้งปวง ความมั่นคง หนักแน่นในความถูกต้อง ด้วยเหตุผลและความจริง และช่วยกันสืบสาน รักษา ให้ดำรงอยู่ ไม่ขาดสาย และสร้างเสริม ต่อยอดให้รุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้น พร้อมทั้งตั้งตัว ตั้งใจ ให้มั่นคงแน่วแน่ ที่จะประพฤติตน ปฏิบัติงาน ให้ดี ให้ถูกต้อง ด้วยความมีสติ รู้ตัว และด้วยปัญญา รู้เหตุ รู้ผล"
"แม้ประเทศจะตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็สามารถที่จะนำพาให้ผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ ความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจโดยพร้อมเพรียงกัน จะนำพาชาติบ้านเมืองให้บังเกิดความผาสุก มั่นคง และเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป"
"ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือ พร้อมด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จงคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้มีกำลังกายแข็งแรง กำลังใจเข้มแข็ง กำลังปัญญาเฉียบคม สามารถนำพาตน นำพาส่วนรวม และประเทศชาติให้บรรลุถึงความสุข ความเจริญได้ โดยทั่วกัน"
4.สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายานายกฯ “ตู่ไม่รู้ล้ม” ด้านสื่อรัฐสภาให้ฉายา “สภาปรสิต-ปลวกจมปลัก” ขณะที่ดาวเด่น “สุทิน” ดาวดับ “วิสาร”!
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี ดังนี้ รัฐบาลได้รับฉายา “VERY กู้” เปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาบรรเทาปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฉายา "ตู่ไม่รู้ล้ม" เป็นการล้อคำ “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา "ป้อมไม่รู้โรย" ล้อจากคำว่า บานไม่รู้โรย ด้วยภาพลักษณ์ของพี่ใหญ่ 3 ป. ในวัย 75 ปี ยังคงทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีเคียงข้างน้องๆ ได้ แถมยังแผ่บารมีควบเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เหมือนกับดอกไม้ แม้จะบานนานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้โรย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "ไฮเตอร์ เซอร์วิส" เป็นการยกคุณสมบัติเด่นของนายวิษณุที่สามารถหาทางออก ปัญหาหนักอกของคนในรัฐบาลโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ และมักถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรก ให้ขาวสะอาดหมดจดได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ฉายา "ทินเนอร์" ด้วยชื่อ อนุทิน ซึ่งพ้องกับสาระเหย ที่มีทั้งคุณและโทษ อาจทำลายระบบประสาท กระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิด คล้ายพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ขาดความยั้งคิด ส่งผลลบต่อตัวเอง และรัฐบาล จนเกิดกระแสต่อต้านหลายครั้ง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ฉายา "เช้าสายบ่ายเคลม" สะท้อนการทำงานที่เห็นได้บ่อยครั้งว่า มักไม่ตรงต่อเวลา เข้าร่วมประชุมสายสม่ำเสมอ ส่วนในแง่การทำงานมักนิ่งเงียบเมื่อมีประเด็นที่ส่งผลลบต่อตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ แต่หากเป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยม ก็จะรีบเคลมผลงานดังกล่าวทันที
สำหรับวาทะแห่งปี คือ "ไม่ออก.. แล้วผมทำผิดอะไรหรือ" ซึ่งเป็นคำกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตอบข้อสักถามสื่อมวลชน พร้อมกับบรรดาคณะรัฐมนตรีที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
ด้านผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้ตั้งฉายาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. โดยสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา "ปลวกจมปลัก" ซึ่งมี ส.ส.ที่ทำงานดุจปลวก ที่ทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองด้วยการใช้สภาเป็นเครื่องมือเพื่อชิงอำนาจและทำลายล้างฝั่งตรงข้าม
ขณะที่วุฒิสภา ได้ฉายา "สภาปรสิต" คือมีสภาพไม่ต่างจากปรสิตที่อาศัยอยู่ในรัฐสภา นอกจากไม่มีผลงานที่เห็นด้วยตาเปล่าเหมือนปรสิตแล้ว ยังนำมาซึ่งพิษภัยแก่การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย โดยเฉพาะการพยายามใช้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างเพื่อชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้าน "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา "ครูใหญ่ไม้เรียวหัก" เพราะไม่สามารถกวดขันวินัยของ ส.ส.ที่หย่อนยานได้ เช่น การให้ ส.ส.สวมหน้ากากในห้องประชุมสภา และเหตุการณ์สภาล่ม
ขณะที่ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา ได้ฉายา "หัวตอ รอออเดอร์" เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการประชุมให้เป็นที่เรียบร้อยได้ กลายเป็นหัวหลักหัวตอที่สมาชิกรัฐสภาไม่ค่อยให้ความยำเกรง
ด้าน "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา "สุทิน คลังแสง?" เนื่องจากบทบาทการเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ของ "สมพงษ์" ไม่ได้โดดเด่นสมกับตำแหน่ง กลับเป็น 'สุทิน คลังแสง' ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่นกว่า
สำหรับดาวเด่นแห่งปี คือ "สุทิน คลังแสง" เพราะหลายครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องสำคัญ และ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็นไปไกล สุทินทำให้กลับเข้ารูปเข้ารอยด้วยการอภิปรายสรุปประเด็น
ส่วนดาวดับแห่งปี คือ "วิสาร เตชะธีราวัฒน์" ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนแรกมีข้อเสนอว่า ควรให้ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมงคลกิตติ์แสดงจุดยืนทางการเมืองที่กลับไปกลับมา แต่สุดท้าย สื่อมวลชนรัฐสภาเห็นว่า ควรให้ตำแหน่งดาวดับเพียงคนเดียว จึงเป็นของ "วิสาร เตชะธีราวัฒน์" จากเหตุการณ์ใช้มีดปอกผลไม้กรีดแขนกลางที่ประชุมสภา
สำหรับคู่กัดแห่งปี คือ "สิระ เจนจาคะ" และ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ที่เกือบได้เห็นการวางมวยกลางสภา จากกรณีที่ "มงคลกิตติ์" เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถควบคุมความสงบได้ ต่อมา "สิระ" ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงตอบโต้ว่า "การออกมาเรียกร้องเช่นนี้ต้องการผลประโยชน์อะไรหรือไม่ หรือเงินหมด..." ก่อนเหตุการณ์หวิดบานปลาย สุดท้าย 'ชวน หลีกภัย' ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ปรามทั้งสองฝ่าย
ส่วนเหตุการณ์แห่งปี คือ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญบริเวณหน้ารัฐสภา และเกิดการปะทะกันเป็นระยะ ขณะที่ตำรวจใช้น้ำผสมสารเคมีควบคุมการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร
สำหรับวาทะแห่งปี คือ "มันคือแป้ง" จากกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงระหว่างถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าตนเองมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งจากกรณีเคยถูกจับกุมหรือไม่เมื่อวันที่ 27 ก.พ. โดยยืนยันว่า "สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม มันคือแป้ง"
ส่วนคนดีศรีสภา สื่อมวลชนรัฐสภาได้ยกเลิกตำแหน่งนี้อย่างถาวร เพราะไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่ง
5.อธิบดีกรมป่าไม้ แจ้งความเอาผิด “แม่ธนาธร” รุกป่าสงวนราชบุรีกว่า 3 พันไร่ ดำเนินคดี จนท.รัฐด้วยออกเอกสารสิทธิมิชอบ!
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ได้เข้าร้องทุกข์ต่อ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. และคณะพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิต มารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หลังตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกที่ดินใน จ.ราชบุรี
นายอดิศร กล่าวว่า สืบเนื่องจาก น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.เขต 3 ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้แจ้งร้องทุกข์ให้กรมป่าไม้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินจำนวน 77 แปลง เนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 3,098 ไร่เศษของนางสมพร ซึ่งทางกรมป่าไม้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หลังรับเรื่องร้องทุกข์ ทางกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบโดยใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบว่าที่ดินที่นางสมพรครอบครองนั้น เป็นพื้นที่ป่าสงวนและเขตหวงห้าม เรื่องนี้ทางกรมป่าไม้ได้รับร้องเรียนทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อจะนำพื้นที่ป่าที่นางสมพรครอบครองไปทำป่าชุมชน แต่ตรวจสอบก็พบว่า มีการครอบครองโดยมิชอบ
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบที่ดินที่เกี่ยวข้องจำนวน 77 แปลง เนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 3,098 ไร่เศษ พบว่าที่ดินทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้าย แม่น้ำภาชี และซ้อนทับกับเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่มีการประกาศปี 2554 และไม่มีแผนงานพร้อมงบประมาณที่จะดำเนินงาน จึงไม่มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ และแปลงที่ดินทั้งหมดซ้อนทับในเขตป่าไม้ถาวร หมายเลขที่ 85 (ปี 2512)
นายอดิศร กล่าวอีกว่า ในส่วนของที่ดิน น.ส.3 ก.ทั้ง 55 ฉบับ มีการออกโดยไม่มีหลักฐานเดิม (ส.ค.1) เป็นการเดินสำรวจออกเมื่อปี 2521 ก่อนประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี 2527 แต่พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตป่าไม้ถาวรหมายเลข 85 เมื่อปี 2512 ก่อนที่จะมีการออกเอกสาร น.ส.3 ก.ทั้ง 55 ฉบับ ซึ่งทำให้เป็นเอกสารที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม จากพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า นางสมพรมีเจตนาครอบครองที่ดิน น.ส. 2 โดยการซื้อเปลี่ยนมือจากบุคคลอื่นแบบผิดกฎหมาย จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 350 ไร่ ทั้งนี้ แปลงที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสาร น.ส.2 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาซ้อนทับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีการร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้าน ม.14 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่มีแผนงานจัดตั้งป่าชุมชนของหมู่บ้าน และมีตัวแทนของนางสมพร ได้ออกมาร่วมตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย มีการยอมรับการครอบครองและแสดงเจตนามอบให้หมู่บ้านจัดตั้งป่าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาครอบครอง น.ส.2 แบบผิดกฎหมายของนางสมพร
นายอดิศรกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นางสมพรครอบครองที่ดินมือเปล่าแบบผิดกฎหมาย (ภบท.5) อีก 1 แปลง เนื้อที่ 90 ไร่ ในท้องที่ ม.3 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยตรวจสอบพบหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จ่ายเงินค่าที่ดินมือเปล่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 90 ไร่ ในช่วงปี 2553-2556 ในส่วนเอกสารโฉนดที่ดิน 1 แปลง และ น.ส.3 อีก 14 ฉบับ ต้องขยายผลตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีความผิดในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 450 ไร่ (ที่ดิน ภบท.5 และ น.ส.2 ทั้ง 7 แปลง) และแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส.3 ก.จำนวน 55 แปลง และเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของนางสมพร น.ส.3 ก.อีกประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งเบื้องต้นนางสมพรเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484
ด้าน พ.ต.อ.พิบูลย์ เวียงจันทร์ รอง ผบก.ปทส. กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ก่อนดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอน ในส่วนคดีรุกพื้นที่ป่าของ น.ส.ปารีณา ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการ ทาง ตร.ได้นำเอกสารส่งให้ ผบ.ตร.ลงนามส่งไปยังรัฐสภา เพื่อขอนำตัว น.ส.ปารีณา ส่งมอบต่ออัยการ จ.ราชบุรี ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีของนายทวี ไกรคุปต์ บิดา น.ส.ปารีณา ก็พบว่า เอกสารสิทธินั้นมีบางจุดที่ครอบครองโดยชอบธรรม เจ้าหน้าที่จะตัดส่วนนี้ออก ไม่ดำเนินคดี แต่จุดที่ทับซ้อนก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งสองคดีนี้จะมีความชัดเจนหลังปีใหม่ และขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทำงานตรงไปตรงมา ไม่ได้มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทุกขั้นตอนและหลักฐานต่างๆ สามารถตรวจสอบได้