xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตผกผันของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เพราะอะไรแน่! รัฐธรรมนูญ พระบรมสารีริกธาตุ ผู้หญิง โรคจิต!!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์


พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต่างวัย
ในปี ๒๔๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต พระชินวรวงศ์ทราบข่าวก็ถึงกับล้มทั้งยืน ขอเข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร์ได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพหากไม่ลาเพศบรรพชิด ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้าเช่นกัน พระชินวรวงศ์จึงต้องยอมจำนนนตามเงื่อนไข และได้รับพระเมตตาจากกรมหลวงดำราราชานุภาพนำขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพบนพระเมรุมาศ แต่เมื่อถวายพระเพลิงในตอนค่ำ เจ้าพนักงานห้ามไม่ให้ขึ้นบนพระเมรุ ต้องวางดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานทองที่ทางราชการจัดไว้ให้ข้างล่างเท่านั้น

ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะพระบรมศพที่พระองค์ปฤษฎางค์นำไปวางนั้น มีกระดาษแผ่นหนึ่งพันไว้ มีข้อความในกระดาษว่า

“...เกิดชาติใดฉันใดขอให้เป็นข้าเจ้ากัน ขออย่าให้มีศัตรูมากีดกันระหว่างกลางเช่นชาตินี้เลย...”

เมื่อเสร็จสิ้นงานสำคัญที่มุ่งมั่นมาสยาม เพื่อถวายบังคมพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวผู้มีพระคุณสูงสุดในชีวิตแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้าเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์วโปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ทรงอุปสมบทให้ใหม่แล้วส่งไปลังกา กรมหลวงเทวะวงศ์ฯเห็นสภาพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถึงกับน้ำพระเนตรคลอ ออกพระโอษฐ์ว่า “เสียแรงทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ แล้วยังหนีไปได้ อยู่ป่านนี้มิเป็นเสนาบดีแล้วหรือ” แต่เรื่องจะบวชให้ใหม่นั้นเลิกพูดได้ เพราะไม่สามารถจะทำได้เนื่องจากปาราชิกไปแล้ว

กรมหลวงเทวะวงศ์ฯได้ให้พระยายาพิพัฒน์โกษาซึ่งขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศแล้ว ช่วยจัดหาที่อยู่ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นตึกอยู่ในซอยกัปตันบุช สี่พระยา เป็นที่อยู่และเปิดสอนภาษาอังกฤษ แต่ปรากฏว่ามีคนมาเรียนน้อยและเป็นย่านที่อยู่ของชาวต่างประเทศ ท่านจึงขอไปอยู่กับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเพื่อนเก่า แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็ขอย้ายออกอีก เพราะเกิดระแวงว่า
เจ้าพระยาสุรศักดิ์จะทำร้ายท่าน ต้องเร่ร่อนไปอาศัยบ้านอาศัยแพของคนที่เห็นใจให้อยู่อีกหลายแห่ง

พระบรมวงศานุวงศ์ต่างสงสารและมีพระเมตตาต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หลายท่านรับจะช่วยเรื่องที่อยู่และงาน แต่ก็ไปกันได้ไม่ตลอด ตอนที่พระชนม์ ๗๒ ชันษาแล้ว สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯได้ทรงอนุเคราะห์ให้เข้าทำงานกับกระทรวงต่างประเทศอีก แต่จากเอกอัครราชทูต ๑๒ ประเทศ มาเป็นคนจดจดหมายเหตุเยียร์บุคของกระทรวง ทำได้ ๒ ปี กรมพระยาเทวะวงศ์ฯสิ้นพระชนม์ก็ถูกเลิกจ้างเนื่องจากประชวรบ่อย

พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง” ว่า “ตอนหลังนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระทัยฉุนเฉียว ทรงเกลียดไม่เลือกหน้าว่าใคร หน้าบ้านของท่านมีป้ายเขียนไว้ว่า “ห้ามหมา ห้ามคนเข้า”

คุณหญิงมณี สิริวรสาร เล่าถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไว้หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” ว่า “คนในซอยแพรกบ้านในนั้นรู้จักท่านดีทุกคน เพราะเป็นเจ้านายที่แปลกประหลาดพิสดารไม่ซ้ำแบบใครเลย ตอนเช้ามืดท่านมักเสด็จมาที่ระเบียงและร้องตะโกนคุยกับคุณพ่อเสียงดังลั่นข้ามฟากถนนมา ทำให้ผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนนได้ยินเรื่องราวที่ท่านคุย ซึ่งเรื่องที่ตรัสนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ในเวลานั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระชันษาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ท่านยังทรงว่องไง คล่องแคล่ว แข็งแรง เวลาเสด็จนอกวัง ทรงแต่งชุดสากลสีครีม สวมหมวกปานามา ไว้หนวดทรงแพะ และทรงถือไม้เท้า เวลาเสด็จไปไหนทุกคนต้องมองท่านด้วยความแปลกใจ เพราะท่านไม่เหมือนคนอื่น หน้าวังของท่านนั้นติดประกาศไว้หลายแผ่น เป็นข้อความเกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ทำให้คนต้องหยุดอ่านเสมอ….ผู้ที่ท่านประฌามส่วนมากเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีในสมัยนั้น แต่เพราะทรงพระชรามากแล้ว ใครๆก็คิดว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน...”

ตอนอายุย่างเข้า ๗๘ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงนิพนธ์พระประวัติชีวิตของตัวเองแจกจ่ายแจกเป็นของชำร่วยแก่ญาติมิตร มีความตอนท้ายว่า

“ข้าพเจ้าก็มีร่างกายทุพพลภาพโรคภัยต่างๆก็ตามมาผะจญซ้ำเติม ป่วยไข้เรื่อยมาโดยความอัตคัดจนกาลบัดนี้ เป็นตุ๊กตาล้มลุกลงนอนอยู่บ้าง ลุกขึ้นเต้นรำตะกุยตะกายหาใส่ท้องบ้าง เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอาบ้าง ไปอยู่โรงพยาบาลบ้าง เรื่อยมาจนได้แพทย์สวรรค์มาช่วยให้ลุกขึ้นเต้นไปได้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เขียนประวัติตัวเอง ซึ่งแม้ตัวเองก็อดเห็นแปลกประหลาดไม่ได้...”

ในหนังสือนี้ท่านยังคงยืนยันว่าท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ตั้งใจทำเพื่อชาติบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ แต่มีศัตรูมากมายที่คอยใส่ร้ายป้ายสี ทำให้คุณความดีของท่านกลับกลายเป็นความผิดไปหมด

เรื่องที่วิพากย์วิจารณ์กันมากว่าเป็นเหตุให้ชีวิตของท่านพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ มาจากที่ท่านบังอาจเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้ลดพระราชอำนาจมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แม้พระเจ้าอยู่หัวอาจจะขุ่นเคืองเรื่องนี้ ก็คงไม่ใช่เพราะการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ทรงขอความเห็นเป็นการส่วนพระองค์กับพระองค์ปฤษฎางค์ในฐานะที่เห็นบทบาทของมหาอำนาจนักล่าอาณานิตมอย่างใกล้ชิด แต่หม่อมเจ้าปฤษฎางค์กลับนำไปเป็นเรื่องเอิกเกริกผิดจากพระราชประสงค์ ก็น่าจะขุ่นเคืองได้ แต่ไม่ทรงถือเป็นเรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด ที่เรียกกลับมาก็ปรากฏชัดว่าเนื่องจากไปติดพันแหม่มนางละคร แม้จะทรงส่งหม่อมตลับไปให้ถึงยุโรปแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ จึงต้องเรียกกลับมาเพื่อไม่ให้เสียหายถึงชื่อเสียงประเทศ เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่ได้ทรงลงโทษทัณฑ์แต่อย่างใด ให้รับหน้าที่ในงานสำคัญของการปฏิรูปประเทศ และเป็นองคมนตรี ที่สำคัญก็คือ ในปีพ.ศ.๒๔๓๒ ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญดุษฎีมาลา ศิลปวิทยา ที่พระราชทานเป็นครั้งแรกแต่เพียงองค์เดียวในปีนั้นด้วย
เรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าใช่สาเหตุทำให้ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์พลิกผัน

เรื่องที่ทำให้ท่านตกสวรรค์จริงๆนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนี้สิน เมื่อกลับมาจากยุโรปนั้นท่านไม่มีบ้านอยู่ เพราะบ้านที่เคยอยู่หม่อมตลับก็ถวายคืนตอนไปยุโรปแล้ว บ้านใหม่ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในครั้งนี้ ความจริงก็เป็นตึกสองชั้นพอสมพระเกียรติแล้ว แต่ท่านทรงเห็นว่าเล็กไป จึงต่อเติมขึ้นป็น ๓ ชั้นก่อนจะเข้าอยู่ ค่าใช้จ่ายต่อเติมบ้านก็เป็นเงินไม่น้อย นอกจากท่านจะเอาเงินของกรมไปรษณีย์ไปใช้ผิดประเภทแล้ว ยังกู้หนี้ยืมสินไปทั่วทั้งไทยเทศ แต่รายที่ทำให้เป็นเรื่องก็คือทรงไปยืมเงินของพระราชอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งประทานให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ท่านจึงอยากตอบแทนพระคุณโดยจะนำเจ้าปาน พระอนุชาของพระอัครชายา เข้าทำราชการ แต่ทรงเกรงว่าจะถูกครหาว่าเป็นการตอบแทนเงินยืม จึงทำอุบายให้พระอัครชายากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวสั่งลงมา แต่พระเจ้าอยู่หัวเห็นว่าเรื่องดูไม่ชอบมาพากล จึงสอบถามกลับไป พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจง แต่เหตุที่อ้างนั้นกลับขัดแย้งกับที่เคยทำหนังสือไปถึงกรมพระสวัสดิโสภณ พระเจ้าอยู่หัวเลยทรงพิโรธเห็นว่าเป็นอุบายมาหลอกใช้พระองค์ จึงรับสั่งให้งดเงินเดือนพิเศษที่เคยจ่ายให้เป็นการส่วนพระองค์เป็นการดัดนิสัย พระเจ้าปฤษฎางค์ก็ยังทำหนังสือกราบบังคมทูลแก้ตัวอีก พระเจ้าอยู่หัวทรงถึงกับมีพระราชหัตถเลขาบริภาษพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อย่างหนัก และทรงให้เวนคืนบ้านหลวงพระราชทานที่กำลังต่อเติมอยู่ เพราะเบียดบังเงินหลวงไปใช้ ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงหมดความไว้วางพระทัยแล้ว ถึงกับหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่อยากอยู่ในราชการต่อไป อีกทั้งเรื่องพี่ศรีก็ทำให้ท่านหมางใจกับเพื่อนรัก จึงไปซื้อปืนมาคิดจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อไปลาตายกับพี่ศรีเพื่อนร่วมทุกข์ พี่ศรีว่าถ้าท่านตายก็จะขอตายด้วยเพราะเหลือเพื่อนที่เห็นใจอยู่เพียงคนเดียวเหมือนกัน ท่านเลยเลิกคิดตาย และเมื่อพี่ศรีมีความผิดที่ขัดพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าอยู่ในวังหลวง ตัดสินใจหนีออกไปต่างประเทศ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็เลยหนีไปด้วย

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีใครทำให้ท่าน แต่เป็นเพราะท่านตัดสินใจผิดเองทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะผิดเพราะโรคที่มีคุณหมอตั้งข้อสงสัยก็เป็นได้

ส่วนเรื่องพระบรมสารีริกธาตุนั้นก็เช่นกัน ที่ท่านทำลงไปก็ทรงคิดว่าเป็นวีรกรรมที่จะได้มีไว้ถวายพระเจ้าอยู่หัวถ้าอังกฤษไม่ถวาย แต่เมื่อไปเปิดเผยกับพระยาสุขุมนัยวินิต อดีตมหาเก่าที่เคร่งพระธรรมวินัย เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครอภัยโทษให้ได้ เพราะเป็นเรื่องร้ายแรงในพระวินัยสงฆ์

ความจริงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมศานุวงศ์อย่างมาก ในตอนนั้นมีกฎมณเฑียรบาลระบุว่า หากเจ้านายพระองค์ใดหนีไปอยู่ต่างประเทศ ให้ถิอว่าเป็นกบฏ แต่ก็ไม่มีการลงโทษพระองค์ปฤษฎางค์ในข้อนี้ และเมื่อครั้งที่ท่ามาทำงานให้อังกฤษอยู่ที่รัฐเประ ได้ทรงมีหนังสือมาถึงพระพระยาทิพย์โกษา เจ้าเมืองภูเก็ต ว่าท่านจะมาเที่ยวภูเก็ต เจ้าเมืองเประเลยขอให้ท่านหาพันธุ์ไม้ผลไม้ดอกและกล้วยไม้ไปให้ด้วย แต่เผอิญท่านไม่สบายมาไม่ได้ จึงให้ “คุณศรี” มาหาพันธุ์ไม้ให้เจ้าเมืองเประแทน ขอให้พระยาทิพย์โกษาที่เป็นเองกับท่าน ช่วยหาพันธุ์ไม้ต่างๆนี้ด้วย เป็นช่องทางที่จะพึ่งพาอาศัยกันในวันหน้าหากมีธุระ

พระยาทิพย์โกษาจึงรีบโทรเลขถึงกรุงเทพฯทันทีว่าจะให้จับคุณหญิงศรีหรือไม่ กรมหมื่นเทวะวงศ์กับเจ้านายหลายพระองค์มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควร จะทำให้เป็นเรื่องอื้อฉาวเสื่อมเสียถึงพระเกียรติ
พระเจ้าอยู่หัวไปด้วย ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ามาเองก็ไม่ควรจับ ควรถือว่าเป็นคนบ้าไปแล้ว

แม้จะตกระกำลำบากและเจ็บป่วยเป็นประจำในบั้นปลายชีวิต แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็มีพระชนม์ยืนยาวได้ถึง ๘๔ ชันษา สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๗ อยู่ดูเมืองไทยมีรัฐธรรมนูญได้ไม่ถึง ๒ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพในรัชกาลที่ ๘ โดยพระศพของพระองค์ได้รับการบรรจุในโกศไม้สี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดโกศเป็นรูปฉัตร ๓ ชั้นไม่มีเครื่องประกอบใดๆ ซึ่งกรมพระนริศรานุวัติวงศ์กราบทูลกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

“...พระศพพระองค์เจ้าปริศฎางค์นั้น ไม่มีวังจะตั้งทำบุญ จึงไม่มีโอกาสที่จะใช้พระลองทอง คงได้ใช้แค่พระโกศหุ้มขาวเท่านั้น...”

นี่เป็นชีวิตของเจ้านายพระองค์หนึ่ง คนหนุ่มที่รุ่งโรจน์ที่สุดในสยาม ทำคุณประโยชน์ให้ชาติไว้มาก แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ แม้แต่วังที่จะตั้งโกศให้สมพระเกียรติที่พอเหลืออยู่ ก็ยังไม่มี

ถ่ายขณะที่ทรงฟื้นไข้

พระชินวรวงศ์ขณะเสด็จจาริกแสวงบุญที่พม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น