นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดโซนความเสี่ยงอาจใช้ไม่ถูกเวลา แนะ สิ่งสำคัญควรระดมกำลังตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด อย่าให้รอดแม้แต่รายเดียว
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโควิดในประเทศระลอกใหม่ นอกจากนั้น ที่ประชุมจะพิจารณาความเหมาะในการจัดงานเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ความเหมาะสมในการจัดงานวันเด็ก และความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติ
โดยที่ประชุม ศบค.มีมติแบ่งพื้นที่แต่ละจังหวะที่มีความเสี่ยงสูงไปถึงจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยพื้นที่สีแดง มีจังหวัดเดียว คือ สมุทรสาคร
พื้นที่สีส้ม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และ นครปฐม
พื้นที่สีเหลือง ประกอบด้วย สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต เพชรบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรีกระบี่ ขอนแก่น ชัยนาท อุดรธานี พิจิตร นครศรีธรรมราช สุราษฏ์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยภูมินครสวรรค์ อ่างทอง
ส่วนพื้นที่สีเขียว คือ จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (24 ธ.ค.) นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุถึงการแบ่งโซนของ ศบค.ไม่ช่วยสกัดดีเท่า ตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เจอ ไม่ให้เล็ดรอดออกไปแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้ หมอธีระวัฒน์ ได้ระบุข้อความว่า
“ภาคเอกชนธุรกิจขณะนี้เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุคสาหกรรม ที่ไม่ใช่มีแต่ที่สมุทรสาครเท่านั้น มีคนทำงานเป็นพันเป็นหมื่น ถ้ามีการติด 1 คน อาจถึงต้องปิดนิคม หรือต้องไล่แยงจมูกตรวจ การจัดโซน แดง เขียว ถึงแม้จะบอกความเสี่ยงในระดับระบาด ที่อาจใช้ได้ในตอนต้นปี อาจจะไม่ตอบโจทย์มากนักในสถานการณ์ตอนนี้
ถ้าจะให้เศรษฐกิจไปได้ ต้องคัดกรองไม่ให้หลุดเข้าไปในโรงงาน แม้แต่รายเดียว เป็นตัน เราทุกคนช่วยกัน เราสู้ได้ครับด้วยการตรวจคัดกรองในคนไม่มีอาการ การตรวจค้ดกรองด้วยการเจาะเลือดปลายนี้วต้องเลือกยี่ห้อ ที่ไวที่สุด ความต้องการขณะนี้ คือ กันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อหลุดรอดแม้แต่รายเดียว ตรวจ 2 ครั้ง ใน 7 วัน กันคนติดเชื้อหมาดๆ ที่ผลยังไม่ปรากฏ
ทั้งนี้ ชุดตรวจ จะมีผลบวกเกินได้ โดยไม่มีการติดเชื้อจริง โดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้มีความไวสูงสุดโดยผู้ติดเชื้อไม่มีการหลุดรอด อย่างไรก็ตาม คนที่เจาะปลายนิ้วได้บวก แต่ไม่มีอาการ ให้อยู่บ้าน แยกตัว 14 วัน มีอาการ รีบรักษา ช่วยชีวิตและถ้าไม่มีอาการ หลังจากนั้น ออกไปจากบ้านโดยแยกห่าง และใส่หน้ากาก ล้างมือ เคร่งครัด ต่อ อีกอย่างน้อย 7 วัน โดยตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีอาการ เชื้อจะหาย และสงบไปเอง”