พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงในเฟซบุ๊ก เผยถึงความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม ในกรณีที่มีการปิดเมือง ต้องมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับและรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก
จากกรณีที่ จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี เจ้าของแพปลาในตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มป่วยวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ด้วยอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น เวลา 18.00 น. มารักษาที่แผนกผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์เก็บตัวส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยกลับไปรอผลที่บ้าน และเวลา 22.00 น. ผลตรวจพบเชื้อ ติดตามผู้ป่วยมาแยกกักที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทั่งเวลา 08.00 น.วันที่ 17 ธ.ค. ส่งตรวจยืนยันอีกครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ผลพบเชื้อ ต่อมา พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย ในเวลาเพียงหนึ่งวัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จากศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 242 ราย จากเดิมเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 821 ราย รวมขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น 1,063 ราย คิดเป็นยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 27.91%
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยให้เห็นถึงความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม ในกรณีที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และหากต้องมีการปิดเมือง โรงพยาบาลสนามจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องพร้อมและมีขีดความสามารถเบ็ดเสร็จ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “เหรียญทอง แน่นหนา”
“ข้อเสนอแนะส่วนบุคคลความว่า หากเกิดสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและ/หรือผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก การใช้โรงพยาบาลประจำถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนในพื้นที่ควบคุมเพื่อการกักกัน หรือสอบสวนโรคจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งยังจะไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนมากด้วยและจะส่งผลให้โรงพยาบาลประจำถิ่นในพื้นที่ควบคุมพร่องขีดความสามารถในทางการแพทย์ลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID-19) จำนวนมาก ที่ต้องถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยไม่สมควร ดังนั้น ’โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในพื้นที่ควบคุมการระบาดดังเช่นจังหวัดสมุทรสาคร ’โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)’ ในพื้นที่ควบคุมการระบาดจะต้องเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีขีดความสามารถเบ็ดเสร็จ อันเนื่องจากการปิดเมือง ทั้งเพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ควบคุมโดยไม่จำเป็น โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุมไม่สมควรที่จะใช้อาคารโรงแรม หรือที่พักอาศัยมาเป็นหน่วยสำรองเตียง หรือเพิ่มจำนวนเตียงให้แก่โรงพยาบาลประจำถิ่นดังเช่นที่เคยปฏิบัติในระลอกแรกของการระบาดเมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 63 เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่จะต้องนำแผนการจัดตั้ง ’โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)’ ที่กองทัพหรือส่วนราชการกระทรวงกลาโหมได้เตรียมการไว้ด้วยการใช้อาคารโรงเรือนทหาร โรงเรียน สถานที่ต่างๆ ของรัฐ ฯลฯ ที่เตรียมการไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 63 แล้วซึ่งจะสามารถกักกันกรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่ปรากฎอาการป่วย, กรณีผู้ต้องสงสัยจำนวนมากที่ต้องสอบสวนโรค (Under Investigation) และกรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาโดยรวดเร็ว แต่เนิ่นๆ ด้วยแนวทางนี้จะช่วยลดภาระให้โรงพยาบาลประจำถิ่นในพื้นที่ควบคุมยังดำรงขีดความสามารถในทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) แต่ต้องถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมได้ตามสมควรต่อไปโดยทำให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่น้อยที่สุด ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุมดังเช่นจังหวัดสมุทรสาครสมควรจะต้องมี ‘หน่วย ไอ ซี ยู สนาม (Field ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ’ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จเพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือมีอาการหนักออกนอกพื้นที่ควบคุมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
ด้วยลักษณะโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุมที่ต้องใช้ทรัพยากรบุคลากรและอุปกรณ์จำนวนมาก ลำพังอัตรากำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ในสังกัดหน่วยขึ้นตรงกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการจังหวัดสมุทรสาครอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น การสนธิกำลังให้เป็นการปฏิบัติการร่วม (Joint operation) โดยพลเรือน ตำรวจ ทหาร จากส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ทั้งยังอาจหมายรวมถึงจิตอาสาพลเรือนนอกสังกัดราชการ เช่น จิตอาสาบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ ‘ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม’ ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร สัมฤทธิผล อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นส่วนราชการหลักในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยสมทบจากส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนามมีความเป็นเอกภาพ
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนามระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในพื้นที่ควบคุมการระบาดดังเช่นจังหวัดสมุทรสาครจะสามารถใช้เป็นต้นแบบนำร่อง หากเกิดการระบาดเป็นพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ
ด้วยความปรารถนาดี
พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา”