ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความพร้อมรับมือกับเชื้อโควิด-19 เผย มีประสบการณ์มามากแล้ว ระบุ จะยืนหยัดรักษา ปกป้อง พสกนิกรใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์
จากกรณีที่จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี เจ้าของแพปลาในตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มป่วยวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ด้วยอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น เวลา 18.00 น. มารักษาที่แผนกผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์เก็บตัวส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยกลับไปรอผลที่บ้าน และเวลา 22.00 น. ผลตรวจพบเชื้อ ติดตามผู้ป่วยมาแยกกักที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทั่งเวลา 08.00 น.วันที่ 17 ธ.ค. ส่งตรวจยืนยันอีกครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ผลพบเชื้อ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ต่อมา พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยวานนี้ (19 ธ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และ นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันแถลงข่าวระบุว่า มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย ในเวลาเพียงหนึ่งวัน
ทั้งนี้ พบว่าหนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เปิดไทม์ไลน์เป็นเพศหญิง อายุ 78 ปี พักอาศัยที่บ้านบางซื่อ มีประวัติเดินทางไปมหาชัย โดยช่วงวันที่ 1-11 ธันวาคม 2563 ได้ออกจากบ้านบางซื่อ ไปซื้อของที่มหาชัยกับลูกชาย โดยรถยนต์ส่วนตัว และนำของกลับมาไว้ที่บ้านพัก เพื่อรอลูกค้ามารับ นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 1-16 ธันวาคม 2563 ทุกวัน ได้เดินทางไปตลาดกลางกุ้ง เพื่อไปซื้อสินค้าที่แผงของหญิงไทย และเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 มีอาการแสบจมูก แสบหน้าอก ซื้อยามารับประทานเอง ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีอาการปวดศีรษะ ลิ้นรับรสน้อยลง ทานน้อยลง และวันต่อมามีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก เสียงเปลี่ยน จากนั้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ทราบข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อ จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น แล้วเดินทางกลับบ้าน กระทั่ง 20.30 น. ผลตรวจพบว่าติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้ พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 18 ราย คนในครอบครัว 13 ราย และลูกค้าประจำ 5 ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 33 ราย เป็นบุคคลในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (20 ธ.ค.) พลตรี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแพร่ระบาดจองเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ว่า
“จากประสบการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกแรกในระหว่างเดือน ก.พ.- พ.ค. 63 ที่ผ่านมา รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้เข้าเป็นหน่วยสำรองเตียงหรือเรียกได้ว่าเป็นหน่วยสมทบในทางยุทธการเพื่อสนับสนุนกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่จำนวนมากกว่า 70 ราย ซึ่งถือว่าเป็น รพ.เอกชนที่ทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มากจนถึงมากที่สุด
อีกทั้งก่อนการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะได้เข้าร่วมเป็นหน่วยวิจัยสมทบเพื่อพัฒนาการรักษาโควิด-19 กับ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งยังสนับสนุนโรงแรมอีกหลายแห่งที่เป็นสถานกักกันแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine, ASQ) และสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยต่างชาติ ในการกักกันผู้เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทยเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนรับตัวเข้าทำการรักษาโควิด-19 จนปลอดเชื้อหลายรายก่อนที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเสรีภายในราชอาณาจักรไทย บางท่านสงสัยว่า รพ.มงกุฎวัฒนะได้รื้อถอนอาคารซี (C) ที่ใช้เป็นอาคารกักกันรักษาโควิด-19 เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ไปแล้ว รพ.มงกุฎวัฒนะจะดำเนินการในสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่อย่างไร??? ผมขอเรียนให้ทราบการเตรียมการของ รพ.มงกุฎวัฒนะดังต่อไปนี้ครับ
1. ผมได้สั่งการรื้อถอนอาคาร ซี (C) ไปเพียงบางส่วน ไม่ได้รื้อทิ้งทั้งหมด แต่เหลืออาคาร ซี (C) ไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บไว้เผชิญสถานการณ๋ระบาดระลอกใหม่โดยปรับปรุงให้เป็น “อาคารสำหรับคลินิกคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ (Acute Respiratory Infection Clinic , ARI-Clinic)” ไว้เป็นการเฉพาะ ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศเพื่อการคัดกรองโรคติดเชื้อและเปิดใช้งานเมื่อ 1 ธ.ค. 63 สดๆ ร้อนๆ กับสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที การเก็บอาคารส่วนที่เหลือนี้ไว้ในทางยุทธการ เราเรียกว่า “ส่วนที่เหลือไว้ปะทะ” ครับ...(555...บ้าสงครามชีวภาพกันหน่อยนะครับ จะได้สนุกกับการรบครับ)
2. ในกรณีที่ “คลินิกคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ (Acute Respiratory Infection Clinic, ARI-Clinic)” ตามข้อ 1. ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เราจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้ “แคปซูลห่อหุ้มผู้ป่วยแบบความดันลบ (Isolated Chamber, Negative Pressure)” เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ไปยังหอผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ไม่ปะปนกับผู้ป่วยทั่วไปนะครับ โดยใช้ลิฟต์เฉพาะที่แยกจากลิฟต์ผู้ป่วยทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ปะปนกับผู้ป่วยทั่วไปครับ...ดังนั้น ผู้ป่วยทั่วไปไม่ต้องกังวลใจนะครับ มาใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ตามปกติ
3. ในกรณีที่เกิดการระบาดรุนแรงจนเกิดสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก รพ.มงกุฎวัฒนะ จะเปิดหอผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงรับผู้ป่วย หากเกิดสถานการณ์รุนแรง รพ.มงกุฎวัฒนะ สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิรักษาพยาบาลได้สูงสุด 70 เตียงครับ
4. ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือหัตถการพิเศษต่างๆ รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้เตรียม “ห้องผ่าตัดสนาม (Field Operating Room) ที่ติดตั้งระบบปรับอากาศความดันลบ” ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ใช้ห้องผ่าตัดร่วมกับผู้ป่วยทั่วไปครับ...ไม่ปะปนกันครับ
ผมขอให้กำลังใจทุกๆ ท่าน และอย่าตื่นตระหนกกับการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่จนเสียสุขภาพกันนะครับ ขอเพียงทุกๆ ท่านตั้งสติปฏิบัติตนตามมาตรการระวังป้องกันโรค ทั้งมาตรการส่วนบุคคลและมาตรการส่วนรวมอย่างเคร่งครัดตามที่ภาครัฐประกาศ เราก็จะผ่านพ้นสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง อย่าเห็นแก่ตัวดังเช่นกรณีเชียงราย และสมุทรสาคร นะครับ
สถานการณ์นับแต่นี้จะน่าตื่นตระหนกยิ่งกว่าระลอกแรกในต้นปี 63 เพราะจะเกิดการติดเชื้อทวีจำนวนมากและอาจจะก้าวกระโดด...แต่ระลอกใหม่นี้เรายังมีข้อได้เปรียบกว่าการระบาดระลอกแรก ตรงที่ภาครัฐ-ภาคเอกชนมีประสบการณ์จากระลอกแรกแล้ว มีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งการเตรียมบุคลากร เตรียมการสถานที่ เครื่องมือ ความพร้อมต่างๆ ทั้งการระวังป้องกัน การสืบสวนต้นตอสาเหตุ การรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อเข้ารักษาตัวใน รพ. ตลอดจนการ “ปิดเมือง ปิดพื้นที่เฉพาะ” การเตรียม รพ.สนาม (Field hospital) เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ป่วยจำนวนมากโดยส่วนราชการทั้งกระทรวงสาธารณสุข-กลาโหม และอื่นๆ ซึ่งหมายรวมถึง รพ.เอกชนด้วย
สุดท้ายนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะยังคงยืนหยัดพร้อมรบสงครามชีวภาพโควิด-19 ...พร้อมปกป้องพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าครับ
พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ
20 ธ.ค. 63 เวลา 11.00 น.”