วัน “วิสาขบูชา” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ในวันตรงกันคือในวันเพ็ญ เดือน ๖ คำว่า “วิสาขบูชา” มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมี” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา
แต่เมื่อวันทื่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่มีชื่อว่า “International recognition of the Day of Visak” กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้แทนของประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ คือ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้มีการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เมื่อวันที่ ๙-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ได้มีมติร่วมกันที่จะเสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศว่าวันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล” โดยมอบให้ผู้แทนศรีลังกาเป็นผู้เสนอ โดยมีคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน ๑๖ ประเทศ คือ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ให้ร่วมลงนามในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน และอินเดีย ขึ้นกล่าวแถลง สรุปความว่า
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึงตามความเหมาะสม”
อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลงมีใจความตอนหนึ่งว่า
"องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน"
คณะกรรมาธิการขององค์การสหประชาชาติ ได้พิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกัน จึงให้ประกาศว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก ตามข้อเสนอ
ปัจจุบัน วันวิสาขบูชาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนาและเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ ไทย พม่า บังคลาเทศ อินโดเนเซีย มาเลเซีย ส่วน เนปาล เกาหลีใต้ กัมพูชา ภูฐาน ถือเป็นวันสำคัญแต่ยังไม่เป็นวันหยุดราชการ
การยอมรับขององค์การสหประชาชาติให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนชาวยุโรปหลายประเทศได้หันมาสนใจศาสนาพุทธกันมากขึ้น นอกจากมีวัดพุทธเกิดขึ้นทั่วไปแล้ว ยังมีสมาคมองค์กรที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายแห่ง ชาวยุโรปหันมายอมรับในหลักธรรมของพุทธศาสนากันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นปรัชญาชีวิตที่สามารถไตร่ตรองด้วยเหตุผลก่อนยอมรับนับถือ ให้อิสระในความคิด ไม่ใช่โองการของพระเจ้าที่ไม่มีทางโต้เถียง ที่สำคัญชาวพุทธเป็นผู้รักสงบไม่ใช้ความรุนแรง จึงขยายวงกว้างจนเป็นที่ยอมรับกันว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จะเติบโตเร็วที่สุดในสมัยศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งในทวีปยุโรป ไม่ว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน ออสเตรีย รัสเซีย ฯลฯ รวมถึงอเมริกา คานาดา และออสเตเลีย
มีนักวิชาการ นักธุรกิจ และดาราดังของโลก หันมานับถิอศาสนาพุทธกันหลายคน ต่างยอมรับว่าเขามีชีวิตดียิ่งขึ้นจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนา อย่างเช่น
ริชาร์ด เกียร์ ดาราดังแห่งฮอลลีวูด ซึ่งหันมานับถือศาสนาพุทธกว่า ๓๐ แล้ว และนั่งทำสมาธิทุกวัน กล่าวว่า
“เพื่อที่เราจะได้มีความสุขมากขึ้น คือช่วยทำให้สภาพทางอารมณ์และจิตใจดีขึ้น มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะพาพวกเราผ่านพ้นความทุกข์ มุ่งหน้าสู่ความสุข แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ชีวิตจึงดูวุ่นวายสับสนทุกครั้งไป การอ่านใจตนเอง ก็คือ มองที่ตัวเราเองและเข้าใจจิตวิญญาณ ความเกลียดจะกลายเป็นความรักและนั่นเป็นหนทางที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่”
"ผมเคยเลิกนั่งสมาธิ ผมเลิกเป็นชาวพุทธ แล้วชีวิตผมก็แย่ลง"
ไทเกอร์ วูดส์
“ในฐานะเป็นนักศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยพบเห็นมา ปรัญญาของพระพุทธเจ้า ทฤษฎีวิวัฒนาการและกฎแห่งกรรม (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) ยิ่งใหญ่เหนือลัทธิอื่นอย่างไกล”
ศ.คาร์ล กุสตาฟ จุง นักจิตรวิทยาชาวสวิส
“ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่ไม่มีตัวตน และควรจะละเว้นคำสอนแบบลัทธิธันต์ (คือแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา (คืออ้างเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนความสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้ ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา”
อัลเบิร์ต ไอนสไตน์
"มีคำคำหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือ จิต เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง จิตที่มองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆ ทำให้เราตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น"
สตีฟ จอบส์
และสตีฟ จอบส์ ผู้ทำเงินได้อย่างมหาศาลจากการเป็นอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ของเขา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อโรคมะเร็ง ได้เจริญมรณานุสติในวาระสุดท้ายของเขาตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
"ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า ที่ไม่นานก็ร่วงหล่นหายไป”
น่าสนใจอีกข้อหนึ่งของ ดร.คาโลร่า แอนดูโจ ชาวเม็กซิกัน ที่หันมาถือพุทธและมีชื่อไทยว่า "สติมา" ซึ่งให้ข้อสังเกคเมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองไทยว่า
“คนไทยมีบุญที่ได้เกิดอยู่ในเมืองพุทธ เมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด แต่คนไทยไม่มีวาสนาที่จะเข้าถึงหลักธรรมหลักการปฏิบัติที่แท้จริง คนไทยส่วนใหญ่จะติดในพิธีกรรมทางศาสนามากเกินไป จนลืมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คนไทยไม่ค่อยเข้าถึงหลักธรรมเท่าไรนัก แต่จะเน้นเรื่องประเพณีและพิธีกรรมมากกว่า แต่ตัวเองเริ่มต้นจากการเรียนรู้คำสอนก่อน ส่วนประเพณีและพิธีกรรมมาเรียนรู้ทีหลัง ถึงไม่ได้เกิดในเมืองพุทธแต่ก็มีวาสนาที่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”
เมืองไทยเรายังมีสิ่งดีที่ให้คนชาติอื่นอิจฉาอีกมาก