มท.1 โยน ครม.ทบทวนอีกรอบ ข้อเสนอ ศอ.บต. ดัน “วันสารทเดือนสิบ” ของชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวันหยุดราชการเพิ่ม งัดผลประชุม 4 รอบ พ่วงหนังสือ “สมาพันธ์ชาวไทยพุทธ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ผลักดันให้เป็นวันหยุด เผยหนังสือมหาดไทย ลงนาม มท. 1 ย้ำวันหยุดมากเกินไปอาจกระทบเศรษฐกิจ แถม “สำนักนายกรัฐมนตรี” ก็ไม่เห็นชอบด้วย
วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่อกรณี ศอ.บต.เสนอให้กำหนดให้ “วันสารทเดือนสิบ” ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวันหยุดราชการ โดยระบุ ให้คงจำนวนวัดหยุดราชการประจำปีไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ดี ตอนท้ายของหนังสือ ระบุว่า เป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะกำหนดวันหยุดราชการได้ตามที่สมควร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ศอ.บต.มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย ขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวน ความเห็นที่เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. กรณี ศอ.บต. เสนอเรื่อง การกำหนดให้วันสารทเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการ เพื่อประมวลความเห็นและเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี นั้น
กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันวันหยุดราชการประจำปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของจำนวนวันในรอบปี ครอบคลุมวันสำคัญทางพุทธศาสนาและเทศกาลสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาหหบูชา วันเข้าพรรษา และวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
“ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างความเท่าเทียม และเสมอภาคในการหยุดตามเทศกาลของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จึงเห็นควรคงจำนวนวันหยุดราชการประจำปีไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ดี เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรี ที่จะกำหนดวันหยุดราชการ ได้ตามที่เห็นสมควร จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ ลงนาม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”
ทั้งนี้ ศอ.บต. แจ้งในหนังสือถึง รมว.มหาดไทย ว่า มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดวันสารทเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง 4 ครั้ง โดยครั้งแรก 5 ส.ค. 2562 มีการสรุปเรื่องนี้ถึง สลค. แต่ สลค.ได้ส่งเรื่องกลับคืน ศอ.บต. เพื่อหาข้อยุติก่อน ต่อมาครั้งที่สอง 22 ต.ค. 2562 เห็นควรคงจำนวนวัดหยุดราชการเท่าเดิม
แต่ครั้งที่สาม 10 ก.ย. 2563 ระบุว่า ส่วนราชการเห็นด้วยที่จะเพิ่มให้วันสารทเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการ อีก 1 วัน เว้นแต่มหาดไทย ที่เห็นว่า ปัจจุบันมีวันหยุดมาแล้ว หากจะมีวันหยุดเพิ่มอีก อาจจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
โดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. มีหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ศอ.บต.พิจารณาเห็นว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมประเพณีและความเชื่อที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งสร้างความรู้สึกเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อการปฏิบัติของส่วนราชการต่อประชาชนทุกศาสนาในพื้นที่ จึงใคร่ขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งส่วนราชการในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในสังกัด ให้ร่วมทำบุญในวันสารทเดือนสิบ
ศอ.บต. ยังอ้างผลการการประชุมที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 20 ส.ค. 2563 ว่า มีการสรุปให้ผลักดันวันสารทเดือนสิบเป็นวัดหยุดราชการ
นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังอ้างว่า ได้รับหนังสือจาก “สมาพันธ์ชาวไทยพุทธ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” แนบลายมือชื่อ เอ 8 ก.ย. 2563 ผลักดันกำหนดให้วันสารทเดือนสิบเป็นวันหยุดราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตามข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันพุธที่ 29 ก.ค. 2563
โดยเป็นข้อหารือลำดับที่ 4.1 ที่ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ขอหารือกรณีขอให้ “วันสารทเดือนสิบ” งานบุญประเพณีของขาวไทยพุทธ เป็นวันหยุดราชการในจังหวัดภาคใต้ โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและแจ้งผลให้ทราบ
หนังสือฉบับนี้ของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องการกำหนดให้ “วันสารทเดือนสิบ” เป็นวันหยุดราชการ ว่า
ปัจจุบันวันหยุดราชการประจำปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของจำนวนวันในรอบปี ครอบคลุมวันสำคัญทางพุทธศาสนา และเทศกาลสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
“ถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างความเท่าเทียม และเสมอภาคในการหยุดตามเทศกาลของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จึงเห็นควรคงจำนวนวันหยุดราชการประจำปีไว้เช่นเดิม”
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สำเนาเอกสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบข้อหารือ จำนวน 5 ฉบับ เช่น สลค.ได้แจ้งไปยัง ศอ.บต.เมื่อ 16 ต.ค. 2562 ว่าได้แจ้งยุติการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว มีใจความว่า
“แม้ สำนักงาน สมช. และสำนักงาน ก.พ.จะเห็นควรกำหนดเป็นวันหยุดราชการ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เห็นควรกำหนดเป็นวันหยุดทุกภูมิภาคของไทย แต่ สปน.กลับไม่เห็นด้วยเนื่องจากปัจจุบันราชการมีวันหยุดที่มากพอสมควรแล้ว รวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใด้มีการกำหนด วันหยุดเพิ่มเติมอีก 3 วัน คือ วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี (วันรายอปอขอ) วันตรุษอีดิ้ลอัฏฮา (วันรายอฮัจยี) และวันตรุษจีน
โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ส่งเรื่องนี้คืน ศอ.บต. เพี่อนำเรื่องนี้ไปประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน”
อีกฉบับ สปน.มีความเห็นเมื่อ 23 ก.ย. 2562 ระบุว่า ปัจจุบันราชการมีวันหยุดที่มากพอสมควรแล้ว ซี่งได้แก่วันหยุดราชการประจำสัปดาห์ (วันเสาร์-อาทิตย์) รวมประมาณ 104 วัน และวันหยุดราชการประจำปีอีก 17 วัน รวมเป็นประมาณ 121 วัน สำหรับ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ สงขลา มีวันหยุดราชการ เพิ่มเติมอีก 3 วัน
“การกำหนดวันหยุดราชการที่มากเกินไป ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการ อีกทั้งการกำหนดให้ “วันสารทเดือนสิบ” ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกจากที่มีอยู่เดิม 4 วันแล้ว อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบและมีความรู้สึกแบ่งแยกทางศาสนาได้”
ดังนั้น กรณีที่ ศอ.บต.เสนอให้กำหนดวันสารทเดือนสิบ (วันแรม 15 คํ่า เดือน 10) เป็นวันหยุดราชการ เพิ่มอีก 1 วัน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญแก่ศาสนิกชนทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่เห็นชอบด้วย