xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ชนะสิบทิศ” นิยายต้องห้ามพิมพ์จำหน่าย! ยกย่องกษัตริย์ชาติศัตรูในการสถาปนา “สหรัฐไทยเดิม”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



ในจำนวนนิยายเรื่องเด่นของไทยนั้น “ผู้ชนะสิบทิศ” ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีผู้รู้จักมากที่สุด พิมพ์ออกมาสู่ตลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับเลือกให้อยู่ใน “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครทั้งทีวีและเวทีหลายต่อหลายครั้ง นำไปแต่งเป็นเพลงก็ยังดัง ถือว่าเป็นนวนิยายอมตะ และเชื่อได้ว่าต่อไปไม่ช้าไม่นานก็อาจจมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครออกมาอีก

“ผู้ชนะสิบทิศ” เป็นนวนิยายที่ “ยาขอบ” หรือ โชติ แพร่พันธ์ ได้ขยายความมาจากพงศาวดารพม่าเพียง ๘ บรรทัด เขียนเป็นนิยายอยู่หลายปี จนกระทั่งเขาเสียชีวิตก็ยังเขียนไม่จบ และเขียนอธิบายไว้เองว่าเป็น “นิยายปลอมประวัติศาสตร์” เริ่มลงในหนังสือพิมพ์ “สุริยา” ที่เขาเป็นบรรณาธิการเองในปี ๒๔๗๔ ในชื่อ “ยอดขุนพล” มีพระเจ้าบุเรงนองเป็นตัวเอก แต่ออกอยู่ได้ไม่นานหนังสือที่พิมพ์ก็ต้องปิดตัวลง กุหลาบ สายประดิษฐ์จึงนำไปลงต่อในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” เริ่มตั้งแต่ฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และมาลัย ชูพินิจ ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ จาก “ยอดขุนพล” เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”

นอกจากผู้ชนะสิบทิศจะมีเนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามแล้ว สำนวนการใช้ภาษายังมีความไพเราะเร้าอารมณ์ให้เข้าไปในบรรยากาศของเรื่องอย่างมาก ในยุคก่อนมีนักอ่านหลายคนถึงกับท่องสำนวนของยาขอบในผู้ชนะสิบทิศ

แต่ในราวปี ๒๔๘๕ ขณะเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดนครเชียงตุงและดินแดนรัฐฉานของพม่าในความปกครองของอังกฤษ สถาปนาขึ้นเป็น “สหรัฐไทยเดิม” มีการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมให้ประชาชนฮึกเหิมในความเป็นไทย ผู้ชนะสิบทิศจึงถูกพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ยกย่องกษัตริย์ของชาติศัตรูผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยาครั้ง ๑ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในยุคนั้น ถูกห้ามพิมพ์จำหน่ายในช่วงสงคราม

ส่วนนามปากกา “ยาขอบ” ก็มีคนสงสัยกันมากว่ามีความหมายอย่างไร เป็นภาษาไทยหรือไม่ ที่มาของชื่อนี้ก็คือ ขณะโชติ แพร่พันธ์ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีคอลัมน์ประจำของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คอลัมน์หนึ่งเป็นเรื่องตลก เขียนโดย ครูอบ ไชยวสุ หรือ ฮิวเมอร์ริสต์ แต่วันหนึ่งครูอบมีเหตุไม่สามารถส่งต้นฉบับได้ กุกลาบเห็นว่าโชติเป็นคนมีอารมณ์ขันจึงเคี่ยวเข็นให้เขียนแทน ทั้งยังตั้งนามปากกาให้ด้วยว่า “ยาขอบ” ล้อนักเขียนเรื่องตลกของอังกฤษคนหนึ่งที่ชื่อ J.W.Jacob ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในตอนนั้น โชติ แพร่พันธ์เลยใช้นามปากกานี้สำหรับเขียนนิยายเรื่อยมา
ชีวิตของ “ยาขอบ” หรือ โชติ แพร่พันธ์ นั้น ก็สนุกไม่แพ้ผู้ชนะสิบทิศ

ตระกูลของโชติ แพร่พันธ์ ก็คือตระกูลของเจ้าผู้ครองนครแพร่ แต่เมื่อมีกรณีเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ในปี ๒๔๔๕ พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงจากส่วนกลางถูกเงี้ยวจับตัดหัว เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครซึ่งเพิงถูกลดอำนาจจากการจัดระบบการปกครองใหม่ในรัชกาลที่ ๕ จึงถูกเพ่งเล็งว่ารู้เห็นเป็นใจกับเงี้ยวด้วย แต่การจะลงโทษเจ้าหลวงซึ่งต้องถึงขั้นประหารชีวิต ก็จะกระทบกระเทือนจิตใจเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือทั้งหมด เพราะต่างก็เป็นเครือญาติกันใน “ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน” จึงเปิดทางให้เจ้าหลวงหนีไปเมืองหลวงพระบาง แล้วประกาศปลดออกจากตำแหน่งด้วยถือว่าละทิ้งราชการ

คุณหญิงเยื้อน ภรรยาของพระยาไชยบูรณ์ ได้นำเจ้าบัวไหล ชายาเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ พร้อมด้วยเจ้าอินแปง บุตรชายบุตรชายคนเดียวของเจ้าบัวไหล ลงมาถวายตัวกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทรงรับเจ้าอินแปงไว้ในฐานะบุตรบุญธรรม พักอาศัยอยู่ในวังวรดิศ

เมื่อเจ้าอินแปงเป็นหนุ่ม ได้ลอบได้เสียกับต้นห้องของหม่อมเฉื่อย ซึ่งเป็นพระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล และเมื่อเจ้าอินแปงสำเร็จการศึกษา กรมพระยาดำรงฯก็ทรงส่งเจ้าอินแปงขึ้นไปดูแลทรัพย์สมบัติที่เมืองแพร่ ขณะที่จ้อยก็ตั้งครรภ์และเกรงว่าจะถูกลงโทษ จึงได้หนีไปอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ และให้กำเนิดบุตรเป็นชาย จ้อยไม่ยอมให้ลูกชายใช้ชื่อว่า อินทรเดช ตามที่เจ้าอินแปงตั้งไว้ให้ ตั้งชื่อให้ว่า โชติ และไม่ยอมให้ใช้นามสกุล “เทพวงศ์” ของเจ้าอินแปงด้วย เมื่อลูกชายจะเข้าโรงเรียนได้พาไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯขอให้ตั้งนามสกุลให้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้ประทานนามสกุลให้ว่า “แพร่พันธ์” 

ในวัยเด็กโชติต้องระหกระเหินไปตามทิษฐิของแม่ ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆจากเจ้าอินแปงรวมถึงวงศาคณาญาติของเจ้าอินแปงด้วย อีกทั้งเมื่อเจ้าอินแปงลงมาหาลูกชายตอนที่โชติอายุได้ ๑๓ ปี และเสียชีวิตลงที่กรุงเทพฯ มีพิธีฌาปนกิจศพที่วัดสระเกศ จ้อยก็ไม่ยอมให้โชติไปเผาศพบิดา

โชติถูกแม่เลี้ยงดูด้วยความแค้นที่ฝังมาจากการกระทำของบิดา กล่าวกันว่าเมื่อยังเป็นทารกก็ไม่ยอมให้กินนมจากอก เมื่อโชติถึงวัย ๖ ขวบต้องเข้าโรงเรียน ได้นำไปฝากพระยาบริหารนครินทร์ให้อุปการะ ทำให้โชคิได้เข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ มีเพื่อนร่วมชั้นที่มีชื่อเสียงในวงการประพันธ์ต่อมาหลายคน คือ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ป่วน บูรณศิลปิน เปลื้อง ณ นคร และสด กูรมะโลหิต ทั้งยังได้อ่านวรรณกรรมอมตะหลายเรื่องที่บ้านพระยาบริหารนครินทร์ เช่น ขุนช้างขุนแผน สามก๊ก รามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเขียนหนังสือของเขาต่อไป

แต่แล้วชีวิตนักเรียนโชติก็ต้องจบลงขณะศึกษาได้แค่มัธยมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อถูก ครูถนิม เลาหะวิไล ถามในชั้นเรียนว่า “ธรรมะคืออะไร” ด้วยความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและรักสนุก โชติก็ท่องเป็นบทสวดตอบว่า “ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร ดั่งดวงประทีปชัชวาล” จึงถูกครูถนิมลงโทษในฐานล้อเล่นกับครู ไม่จริงจังกับการเรียน ซึ่งโชติแค้นมาก เมื่อได้โอกาสจึงเอาหมวกของครูถนิมไปเหยียบย่ำระบายแค้น แล้วหนีออกจากโรงเรียนไป ทั้งยังหนีออกจากบ้านพระยาบริหารนครินทร์ไปในวันที่ให้กำเงิน ๔๐ บาทไปจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนด้วย

โชติเริ่มชีวิตใหม่ในวัย ๑๐ ขวบด้วยเงิน ๔๐ บาท เร่ร่อนไปเรื่อยๆจนเงินหมดก็รับจ้างทำงานสารพัดตั้งแต่จูงวัวจากหัวลำโพงไปส่งที่ถนนตก ต่อมาได้ไปอาศัยอยู่กับญาติฝ่ายพ่อคนหนึ่งแถวศาลาแดงซึ่งมีอาชีพเป็นคนทรงเจ้า ได้รับหน้าที่อ่านนิยายประโลมโลกย์ให้ฟัง เพราะตอนนั้นคนอ่านหนังสือได้คล่องยังหายาก แต่ต่อมาถูกบังคับให้เป็นคนทรงเจ้าด้วย โชติเลยเผ่นหนีเพราะเห็นว่าเป็นอาชีพหลอกลวง ไปมั่วสุมอยู่กับเด็กขี่ม้าแข่ง เพราะสมัยที่แม่พาไปอยู่กับ ม.จ.จุลดิส ดิสสกุล ทรงมีม้าแข่งด้วย บางทีเย็นๆหลังโรงเรียนเลิกก็ไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนเก่าที่สนามโรงเรียนเทพศิรินทร์ ต่อมา ๓ พี่น้องเพื่อนร่วมชั้นเรียน คือ ม.ล.ต๋อย ม.ล.ต้อย ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย จึงไปขอบิดาให้โชติในวัย ๑๓ ปีไปอยู่ที่บ้านด้วย

ชีวิตใหม่ของโชติครั้งนี้เรียบสงบไม่โลดโผนเหมือนเก่า มีกรอบระเบียบทำให้เกิดความอึดอัด จึงขอออกจากความปรารถนาดีของเพื่อนไป ครั้งนี้โชติไปสมัครทำงานกับพระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) สารวัตรใหญ่ในพระราชสำนัก และหัวหน้าแผนกสารวัตรเสือป่า เมื่อพระยาพิทักษ์ฯทราบว่าโชติเคยอยู่กับพระยาบริหารนครินทร์มาแล้วจึงรับไว้ มอบหน้าที่เขียนหนังสือตามคำบอกและอ่านวรรณคดีต่างๆรวมทั้งนิยายจีนให้เจ้าคุณฟัง ตอนนั้นโชคิอายุ ๑๕-๑๖ ปี พออายุ ๑๗ ต้องขึ้นทะเบียนทหาร เจ้าคุณให้เข้าเป็นสารวัตรเสือป่า ติดตามรับใช้ต่อไป จนเจ้าคุณพ้นราชการออกไปทำการค้า โชติไม่ชอบชีวิตค้าขาย จึงขอลาออกไปใช้ชีวิตเร่ร่อนอีกครั้ง

ขณะที่เร่ร่อนครั้งนี้ โชติก็ได้พบกับครูถนิมที่เคยเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาให้ออกจากนักเรียนมาแล้ว ครั้งนี้ครูถนิมก็ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของโชติอีกครั้ง และเป็นครั้งสำคัญที่ทำให้เขาก้าวมาเป็น “ยาขอบ”

ตอนนั้นครูถนิมเป็นบรรณาธิการหนังสือการเมืองรายสัปดาห์ชื่อ “สยามรีวิว” ของนายพร้อม วีระสัมฤทธิ์ จึงพาไปฝากกับนายพร้อมให้ทำงานด้วย นายพร้อมสุขภาพไม่ค่อยดี จึงรับโชติไว้ให้มีหน้าที่เขียนต้นฉบับตามคำบอก ในอัตราค่าจ้างเดือนละ ๑๕ บาท โชติทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องพิมพ์ดีดของนายพร้อมอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็หายไปเฉยๆ

โชติได้ไปหาเพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์อีกคนหนึ่ง คือ เฉวียง เศวตะทัต ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธงไทย และได้รับหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งโชติได้ฝากฝีมือในการเขียนครั้งแรกเป็นรายงานข่าวที่ไม่เหมือนแบบเก่าที่เขียนกัน เป็นเหมือนวรรณกรรมข่าว เป็นที่พอใจของบรรณาธิการและคนอ่าน ขณะนั้นโชติอายุได้ ๒๐ ปี แต่หนังสือพิมพ์ธงไทยก็ต้องปิดตัวลงในปี ๒๔๗๐
เมื่อตกงานได้มีผู้นำไปฝากทำงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค ทำหน้าที่เขียนคำโฆษณา โชติทำงานอยู่ที่นี่ถึง ๕ ปี และได้พบรักกับน้องสาวของนายห้าง คือ จรัส เพ็ญภาคกุล ให้กำเนิดบุตรคนเดียวของโชติ แพร่พันธ์ คือ มานะ แพร่พันธ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวัน และอยู่ในตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถึง ๒๐ ปี

หลังออกจากห้างขายยาเพ็ญภาค โชติก็มาร่วมกับเพื่อนร่วมห้องที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงกันหลายคนแล้ว รวมกันตั้งคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ และเป็นจุดเริ่มที่เขียนนวนิยายอมตะ “ผู้ชนะสิบทิศ” นี้ขึ้น

โชติ แพร่พันธ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๙๙ ขณะอายุได้ ๔๘ ปี ด้วยโรคสุราเรื้อรังและเบาหวาน ส่วนมานะ แพร่พันธ์ บุตรชายคนเดียวขณะนี้อายุ ๙๓ ปีแล้ว ยังแข็งแรงแจ่มใสอยู่ที่บ้านไร่ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี










กำลังโหลดความคิดเห็น