ในช่วง Covid-19 ระบาดที่ผ่านมา ผู้คนหันมาใช้บริการการส่งอาหารเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดรายได้มหาศาล และเกิดพฤติกรรมใหม่ๆ สำหรับชาวเมืองในการสั่งและรับประทานอาหาร โอกาสสำหรับธุรกิจนี้ไม่พ้นสายตาธนาคารยักษ์ใหญ่สีม่วง อย่าง SCB ที่ได้ผลิตแอปส่งอาหารสัญชาติไทยขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “Robinhood” ซึ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา
ความแตกต่างของ Application นี้ มาจากแนวคิดของบริษัทต่างประเทศชื่อ Robinhood ที่วางรูปแบบธุรกิจที่ทำให้การซื้อขายหุ้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องคิดค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้บริหารธนาคารยักษ์ใหญ่มองว่า หากนำมาใช้กับวงการ Food Delivery จะทำให้ทั้งร้านค้า และ ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันได้รับประโยชน์ โดย THE INNOVATOR ได้วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ธนาคารมองว่า “Robinhood” เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจที่แตกต่างจากคู่แข่งและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการด้วยนั้น มีรายละเอียดดังนี้
1. แตกต่างด้วยการไม่เก็บค่า GP (Gross Profit) หรือกำไรจากการขายของร้านค้า ในขณะที่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ เก็บมากถึง 30-35% โดย สิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในกลุ่มต่างๆ คือ
- กลุ่มร้านค้ามีกำไรเพิ่มมากขึ้น จากเดิมแพลตฟอร์มใหญ่นั้นจะเก็บค่า GP 30% ขายได้ 100 บาท จะได้รับเงินเหลือเพียง 70 บาทเท่านั้น พอหักลบต้นทุนกำไรเหลือนิดเดียว อาจจะไม่คุ้มกับการดำเนินการ แต่สำหรับแอป “Robinhood” จะให้ร้านค้าต้องช่วยเหลือค่า LS (Logistic Service) หรือค่าขนส่งให้กับผู้ซื้ออาหารแทน โดยจะเก็บไม่เกิน 10% จากรายได้ของร้านอาหาร ซึ่งการไม่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงยังทำให้ร้านค้าเล็กๆ ที่มีส่วนต่างกำไรไม่มาก สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งและส่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ได้
- กลุ่มผู้สั่งอาหาร ได้รับอาหารที่มีราคาถูกลง และมีปริมาณเหมาะสม กล่าวคือ แต่เดิมร้านค้ากำไรน้อย ต้องเพิ่มราคาอาหาร หรือ ลดต้นทุนโดยให้ปริมาณอาหารน้อยลง เพื่อให้ร้านค้าอยู่รอด แต่พอร้านค้าไม่ต้องเสียค่า GP มีกำไรมากขึ้น ทำให้สามารถส่งต่ออาหารที่มีคุณภาพให้แก่ผู้สั่งอาหารได้
2. แตกต่างด้วยการให้ค่าบริการภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากส่งอาหาร โดยทั้งตอบโจทย์กลุ่มร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมากนัก และพนักงานส่งอาหาร (Rider) ที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายในแต่ละวัน ในขณะที่เจ้าใหญ่ๆ บางเจ้า อย่าง Grab จะสรุปเป็นรายวันและโอนให้ในวันถัดไป
3. แตกต่างด้วย Cash less ไม่มีการใช้เงินสด ผ่าน Application นี้ มีเพียงการใช้บัตรเครดิต และ โอนเงินผ่าน Application SCB Easy เท่านั้น และผู้สั่งอาหารจะต้องชำระเงินทันทีเมื่อเลือกรายการอาหารเสร็จ จึงจะจัดหาพนักงานส่งอาหาร สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์กลุ่มร้านค้าและพนักงานส่งอาหาร คือ
- กลุ่มร้านค้า ไม่ต้องนับเงินสดให้เสียเวลาและเงินโอนเข้าระบบทันทีเห็นเป็นตัวเลขชัดเจน
- กลุ่มพนักงานส่งอาหารไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ไม่ต้องควักเงินตัวเอง และไม่ต้องกังวลเรื่องผู้สั่งอาหารยกเลิกรายการอาหาร เนื่องจากมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว
4. แตกต่างโดยการช่วยเหลือร้านค้า ในการถ่ายภาพสินค้า และอื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์สาขาใกล้ร้านค้านั้นๆ ในระยะ 5 กม. เข้าไปช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ตอบโจทย์ร้านค้าคือ ร้านค้าขนาดเล็กบางร้าน ไม่มีความสามารถในเรื่องจัดวางสินค้าและการถ่ายภาพ จึงได้รับโอกาสจาก SCB ที่เข้าไปช่วยเหลือให้สามารถขายสินค้าในระบบได้เลย
5. แตกต่างโดยสามารถปล่อยสินเชื่อให้ร้านค้าได้ ในอัตราพิเศษเนื่องจาก SCB เป็นธนาคารซึ่งตอบโจทย์ร้านค้าที่มุ่งหวังจะขยายธุรกิจ โดย SCB หวังว่า “Robinhood” จะช่วยสร้างสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าได้ และลูกค้าที่เป็นร้านค้าจะเลือก SCB เป็นเจ้าแรกเมื่อต้องการสินเชื่อ
ทั้งนี้ ทาง THE INNOVATOR มองว่า SCB มีจุดประสงค์ในการทำ Application ส่งอาหาร “Robinhood” ไม่ใช้เพื่อแสวงหาผลกำไรจากรายได้ของตัวแอปพลิเคชัน หากแต่ SCB หวังว่า จะเป็นการสร้างและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวมากกว่า แต่ถ้าหากธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีจึงจะจัดตั้งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และต่อยอดธุรกิจบริการอื่นต่อไป แต่หากวิเคราะห์แล้วแอปนี้นอกจากจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างๆ แล้ว ยังตอบโจทย์การแข่งขันที่เข้มข้นในธุรกิจธนาคาร เพราะสิ่งที่ SCB ได้รับจากการมีแอปพลิเคชันนี้อาจมีมูลค่ามหาศาลต่อธุรกิจของ SCB ในอนาคตเลยก็ว่าได้ เนื่องจากทางธนาคารจะได้
1. ฐานลูกค้าเพิ่ม เนื่องจากร้านค้าที่เข้ามาใช้บริการ Application “Robinhood” ทุกร้านจะต้องมีบัญชีกับธนาคาร รวมถึงผู้ใช้บริการแอปในการสั่งอาหาร หรือแม้แต่ผู้ส่งอาหารที่อยากจะโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นใดต่อเนื่องจากรายได้ที่ได้รับ ก็สามารถใช้ SCB Easy ที่ผูกไว้กับการรับเงินรายได้ในแอป
2. ฐานข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งธนาคารจะได้ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค และข้อมูลอื่น ๆ อีกมากมาย และในที่สุดอาจเป็นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ Ecosystem เป็นของตัวเอง ผ่าน Application “Robinhood” ซึ่งจะเชื่อมต่อทั้งธุรกรรม การซื้อขาย การปล่อยสินเชื่อ การให้บริการอื่น ๆ ต่อเนื่อง เช่น การทำโฆษณาร้านค้าและให้คำปรึกษาธุรกิจ เป็นต้น นับว่าเป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่ครบวงจรทุกด้านเลยก็ว่าได้ “Robinhood” จึงไม่ใช่เพียงแค่นวัตกรรมทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์มากมายมหาศาลแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
THE INNOVATOR เป็นเพจที่สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมความรู้นวัตกรรมธุรกิจ และเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้สนใจที่จะสร้างนวัตกรรมธุรกิจให้แตกต่างจากรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า