นักศึกษาสาวเผยหลังบอกครอบครัวไม่อยากเหนื่อยไปรับปริญญา แต่ครอบครัวกลับให้ข้อคิดสุดซึ้งกลับมา สุดท้ายเปลี่ยนใจจึงรู้ว่าคุ้มค่า หลังเห็นรอยยิ้มความสุขของครอบครัว และให้ข้อคิดเตือนใจว่าลูกไม่ใช่ความภาคภูมิใจของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว แต่ลูกเป็นคนที่ทำให้พ่อและแม่ “ภูมิใจในตัวเอง" ที่สามารถเลี้ยงคนคนหนึ่งเติบโตมาบนโลกใบนี้ได้
วันนี้ (27 พ.ย.) เฟซบุ๊กนักศึกษาสาวรายหนึ่งคนหนึ่งได้โพสต์เผยถึงเหตุผลที่อยากเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยเผยเรื่องราวสุดซึ้งในครอบครัว ย้ำชัดรู้เลยว่าตนเองคือความภาคภูมิใจของพ่อแม่ที่อดทนส่งเสียจนเรียนจบ และให้ข้อคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คิดได้ คือ คนมักบอกเสมอว่าพ่อแม่หลายคนชอบเอาลูกเป็นความภูมิใจของตัวเอง ก็ไม่ผิด หลายครั้งพ่อแม่ก็แสดงออกแบบนั้น แต่ไม่ใช่ ลูกไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจเพียงอย่างเดียว แต่ลูกเป็นคนที่ทำให้พวกเขาทั้งสองคน “ภาคภูมิใจในตัวเอง” ที่เลี้ยงคนคนหนึ่งให้เติบโตมาบนโลกใบนี้ได้
โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า “แม่ ป๊า หนูไม่เข้ารับปริญญาไม่ได้เหรอ? มันค่อนข้างเหนื่อยนะ แถมต้องเดินทางไกลด้วย” ทันทีที่พูดคำนี้ออกมา สีหน้าป๊ากับแม่ก็ดูจะผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ก่อนป๊าจะพูดขึ้นว่า
“ป่าป๊าไปส่งก็ได้ ไปรับก็ได้นะ”
“ให้เขาส่งใบปริญญามาที่บ้านก็ได้นะ ป๊ากับแม่จะได้ไม่ต้องเหนื่อย”
“ความรู้สึกมันไม่เหมือนกันนะ”
ป๊าพูดแบบนั้น ทำให้แพรฉุกคิดถึงคำพูดของเพื่อนสนิทที่บอกว่า “ชีวิตคนเรามันขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกนะมึง ไม่ใช่เหตุผล”
แปลกดีนะ ปกติแพรก็เป็นคนใช้ความรู้สึกในการใช้ชีวิตมาโดยตลอด สังเกตได้จากหลายบทความที่เขียน แต่พอเป็นเรื่องนี้เรากลับเอาเหตุผลของตัวเองโยนกลับไปให้พ่อกับแม่ที่ตั้งตารอวันนี้อยู่ เหตุเพราะเขาไม่เคยได้มีวันนี้
หลายคนอาจจะบอกว่า พ่อแม่ก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้กับลูก แพรก็เห็นด้วยกับเรื่องนั้นเช่นเดียวกันและรู้สึกแบบนั้น จนกระทั่งก่อนวันซ้อมรับปริญญาที่ประสานมิตร
เราขัดรองเท้าเพื่อเตรียมใส่ไปซ้อมในวันถัดไปเรียบร้อยแล้ว ตอนกลางคืนระหว่างที่ตื่นมาเข้าห้องน้ำ กลับเห็นไฟเปิดอยู่
เดินเข้าไปดูก็พบว่า อาม่าเอารองเท้าที่เราจะต้องใส่เพื่อเข้ารับปริญญามานั่งเช็ด และขัดด้วยตัวเอง เราก็ตกใจ รีบเดินไปบอกว่า อาม่าขัดรองเท้าให้แพรทำไม ไม่ต้องขัดหรอก แพรขัดไปแล้ว
อาม่าทำสีหน้าหงุดหงิดก่อนบอกว่า
“ลื้อขัดไม่สะอาดเท่าอั๊วขัดหรอก!!!” และโบกมือให้เราไปนอนถึงจะพยายามยื้อเเย่งรองเท้าคืนมา แต่แกก็ไม่ยอมและตั้งหน้าตั้งตาขัดต่อไป
-แกดูตื่นเต้นกว่าคนรับอีก-
นั่นเป็นเหตุผลแรกที่ความคิดที่จะหลบหนีการซ้อมในวันถัดไปหายไป คงรู้สึกแย่มากกว่ารู้สึกดีแน่ๆ ถ้าจะทำร้ายความรู้สึกของเขาที่ตั้งใจขัดรองเท้าให้เราขนาดนี้
จริงๆ เหตุผลที่ไม่อยากไปงานรับปริญญามีหลายอย่าง จิตใจในปีนี้ไม่พร้อมสำหรับอะไรเลยสักอย่าง ทั้งการพบปะผู้คน ความรู้สึกเหงา รับมือกับอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยจะได้ ทั้งเรื่องเก็บเงิน วางแผนอนาคต มีปัญหากับเพื่อน ฯลฯ
อย่าว่าแต่จะไปงานรับปริญญาที่ต้องพบปะคนมากมายเลย แค่เดินออกจากบ้านยังไม่อยากจะทำเลยด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับการที่ต้องไปเจองานที่คนเยอะๆ และก็ไม่รู้จะเอาตัวเองไปลงไว้ตรงไหน จนถึงวันซ้อมรับปริญญาช่วงเช้า รู้สึกเศร้าจนอยากจะหนีกลับบ้าน น้ำตาก็คลอๆ แต่ก็บังคับไว้เพราะกลัวหน้าพัง -..- คิดแค่ว่าเมื่อไหร่พ่อกับแม่จะมานะ จะได้รีบกลับบ้านสักที
ความรู้สึกเศร้าค่อยๆ คลายหายไปเมื่อคนที่เราไม่คิดว่าจะมาก็มาหาเราด้วยความตั้งใจ เราไม่ได้คิดว่าเขาจะมาด้วยซ้ำ แต่เขาก็เต็มใจสละเวลามาหาเรา ทั้งเพื่อนเก่า เพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง รู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณมากๆ จนอธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก แต่ความเศร้าก็ยังหน่วงๆ อยู่ในใจลึกๆ จนกระทั่งตอนที่พ่อกับแม่เดินมาหาเรา
ทันทีที่เห็นรอยยิ้มพ่อกับแม่ คือสัมผัสได้ว่าเขาดีใจมาก ดีใจแบบที่เราไม่เคยเห็นยิ้มแบบนี้มาก่อนเลย ยิ้มของป๊าทำให้ในหัวฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “เขาดีใจขนาดนี้ แล้วเราจะต้องเศร้าอะไรอีก?” ทำไมเราจะต้องเศร้าในวันที่คนที่รักเราที่สุด ดีใจที่สุดด้วยวะ สิ่งหนึ่งที่เราคิดได้เลยคือ คนมักบอกเสมอว่าพ่อแม่หลายคนชอบเอาลูกเป็นความภูมิใจของตัวเอง ก็ไม่ผิด หลายครั้งพ่อแม่ก็แสดงออกแบบนั้นจริงๆ แต่ว่า หลังจากที่เราเห็นรอยยิ้มพ่อในวันนั้น
เรากลับรู้สึกว่า ไม่ใช่หรอก เราไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจของเค้าเพียงอย่างเดียว แต่เราเป็นคนที่ทำให้พวกเขาทั้งสองคน “ภาคภูมิใจในตัวเอง” เขาจะต้องภูมิใจในตัวเขาเอง ที่เลี้ยงคนคนหนึ่งให้เติบโตมาบนโลกใบนี้ได้
สิ่งสำคัญและความเชื่อที่หล่อเลี้ยงจิตใจเขาคือภาพที่เราได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ที่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้รับ ในยุคของพ่อแม่เรา ภาพนั้นมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเขามาก และ ความรู้สึกของพ่อแม่แพรสำคัญกว่าเวลาที่จะต้องเสียไปอย่างแน่นอน
ดังนั้นเราจึงเข้าพิธี เพื่อเติมเต็มความรู้สึกของเขา ถึงแม้จะเหนื่อยและหิวมาก แต่เราอยากที่จะเป็นคนที่ทำให้พ่อ แม่ อาม่า และ น้าที่เลี้ยงดูเรามา ภูมิใจ ไม่ใช่ภาคภูมิใจในตัวเรา แต่ภูมิใจในตัวพวกเขาเองต่างหาก ว่าเขาเก่งมาก เก่งมาตลอดที่เลี้ยงเด็กดื้อคนนั้นจนโตขนาดนี้ได้และ แพรรู้ว่าเขาจะต้องภูมิใจในตัวเอง อาจจะโดนคนอื่นมองเราแบบที่เข้าใจผิดไป อาจจะถูกมองว่าเสียเวลา ก็ช่างเถอะ เขาไม่เข้าใจเราเท่าตัวเราเองหรอกเนอะ
ก็แค่ยอมแลกเวลา 4 วันกับการเติมเต็มช่องว่างของความรู้สึกผู้ใหญ่ที่รักเรามากและเริ่มแก่ตัวลง มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงเราเสียเท่าไหร่หรอกเราสัมผัสได้ถึงความที่เขาผิดหวังในตัวเองมาตลอดชีวิตเขามักจะพูดว่า “แม่และน้าอยากให้เราได้มากกว่านี้ แต่ทำไม่ได้, ป่าป๊าเป็นคนไม่เก่ง และหัวไม่ดีเลย”
เราสัมผัสความรู้สึกของเขาได้ มาเป็นเวลานานแล้ว เกินกว่า 10 ปี ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเขาเก่งมาก แต่ลึกๆ แล้วตัวเขาเองก็ยังคิดว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ
ดังนั้นแล้ว ก็จะขอเป็นคนที่ทำให้พวกเขาที่ดูแลเรามาตลอด ภูมิใจในตัวเองเถอะว่า พวกเขาเก่งมาก ปริญญาบัตรฉบับนี้ แพรไม่ได้เป็นคนรับ แพรเป็นเพียงแค่ตัวกลางเท่านั้น พวกเขาต่างหากที่เป็นคนได้รับมันอย่างแท้จริง
ปล.เราอีกภาพหนึ่งที่เราชอบมาก คือ การที่อาม่าพยายามนั่งแกะตัวอักษรภาษาไทยบนใบปริญญาเพื่ออ่านออกเสียงออกมา เพราะเขาไม่ได้เรียนภาษาไทยมา การอ่านภาษาไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขานัก กว่าจะอ่านคำว่าเกียรตินิยมได้ก็ใช้เวลาอยู่หลายนาทีเลยทีเดียว คนเราจะยอมทำเรื่องที่รู้สึกยากทั้งที่ไม่มีความจำเป็นหรือ? ถ้าเขาไม่รู้สึกว่ามันสำคัญสำหรับเขา
ในส่วนของคนที่ไม่ได้เข้ารับ ไม่ได้มีปัญหาหรือแย่เลย ทุกคนล้วนมีเหตุผลและความรู้สึกเป็นของตนเอง ถ้าครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเองโอเค ก็ถือเป็นความสำเร็จและความสุขได้เช่นกัน ต่างคนต่างวาระ ไม่ตัดสินกัน ทุกคนเก่งมากๆ ในทางของตัวเอง”