xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเกิดผล” ยัน “แบงก์เป็ดเหลือง” ไม่ผิดกฎหมาย ชี้ไม่มีเจตนาหลอกลวงให้เชื่อว่าเป็นเงินตราใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” เผยผ่านเพจ กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา จี้ตำรวจเอาผิดม็อบผลิตแบงก์เป็ดเหลืองมีความผิดความผิดพระราชบัญญัติเงินตรา 2501 ทนายดังระบุแบงก์เป็ดเหลืองยังไม่น่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เพราะไม่มีเจตนาลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายจริง

จากกรณี “กลุ่มคณะราษฎร” ผุดไอเดียทำแบงก์ปลอมที่เรียกว่า “ธนบัตรคณะราษฎร” จำนวน 3,000 ใบ สามารถนำแลกอาหารตามได้ตามร้านรถเข็นของม็อบ

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เตรียมดำเนินคดีต่อผู้ที่นำธนบัตร “คูปองเป็ด” มาใช้แลกซื้อของกับร้านค้ารถเข็นภายในม็อบราษฎร หรือหรือฉายา CIA ในการชุมนุมที่เอสซีบีปาร์ค เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา ในความผิดมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แบงก์กาโม่หลบไป! ม็อบสามนิ้วเตรียมแจกธนบัตรคณะราษฎร 3,000 ใบ ซื้อลูกชิ้นตามรถเข็น

ธนบัตร “คูปองเป็ด” พ่นพิษ ตร.ชี้ผิด พ.ร.บ.เงินตราส่อเข้าข่าย ม.112 อีกข้อหา

นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กางพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ชี้ 'คณะราษฎร' ผลิต 'ธนบัตรเป็ด' โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถดำเนินการจับกุมดำเนินคดีได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวผ่านเพจ “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ได้ออกมาอธิบายถึงสาเหตุที่การออกแบงก์เป็ดของกลุ่มนักศึกษายังไม่น่าจะเป็นความผิดตามกฎมายอาญา มาตรา 240 โดยได้ระบุข้อความว่า

“ในส่วนตัวผมคิดว่าการออกแบงก์เป็ดของกลุ่มนักศึกษายังไม่น่าจะเป็นความผิดตามกฎมายอาญา มาตรา 240 เพราะการปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240 ผู้กระทำต้องมีเจตนาทำ หรือลวงให้บุคคลอื่น หรือผู้พบเห็นเชื่อหรือเข้าใจได้ว่าเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายจริงๆ แต่จากภาพและข้อความด้านล่าง ที่เขียนว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ราษฎรผู้อิ่มแก๊สน้ำตาและน้ำสารเคมีจากภาษีประชาชน” ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีข้อความหรือส่วนใด ทำให้ประชาชนเชื่อว่าแบงก์เป็ดเป็นธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประกอบกับเป็นการแจกจ่ายในกลุ่มแทนเงินตราจริงๆ เพราะเมื่อนำไปซื้อของ (แลก) แล้ว พ่อค้าแม่ค้ายังต้องนำแบงก์เป็ดไปแลกธนบัตรของจริง ในมูลค่าใบละ 10 บาท หาก คนใช้ คนรับไว้ เชื่อหรือเข้าใจว่าใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปแลกเงิน 10 บาทกับผู้ที่นำมาแจก

แต่คงจะนำไปใช้สอยหรือ ซื้อขายต่อๆ กันไปครับ ผมดูที่เจตนาของผู้กระทำมากกว่า ผมมองว่า กลุ่มนักศึกษา เจตนาทำแบ็งก์เป็ด เพื่อล้อเลียนทางการเมืองมากกว่าเจตนาปลอมเงินตราครับ ในส่วนการล้อเลียน มีข้อความ “ข้าพระพุทธเจ้า ราษฎรผู้อิ่มแก๊สน้ำตาและน้ำสารเคมีจากภาษีประชาชน” น่าจะเป็นการล้อเลียน ประชดประชัน รัฐบาลตรงๆ และกระทบไปถึงสถาบันฯ ซึ่งพอจะเข้าใจในนัยได้ แต่ยังไม่อาจสรุปได้ว่าผิดกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ เพราะไม่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาครับ

ฎ.4930/2557
ป.อ. มาตรา 240 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา” คำว่า “#ทำปลอมขึ้น” #หมายความถึงทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงต้องทำในประการที่จะให้มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลกำหนด เช่น มีลวดลาย สี ขนาด ลักษณะของกระดาษอย่างเดียวกัน #ซึ่งจะต้องพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา แต่ไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาจึงจะรู้ว่าปลอม เพียงแต่ลวงตาซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจหลงเข้าใจว่าเป็นเงินตราได้ ก็ถือว่าเป็นการทำปลอมขึ้นแล้ว และการทำปลอมย่อมจะเหมือนของจริงไปทุกอย่างไม่มีผิดกันเลยไม่ได้ ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดจากของจริงบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การปลอมจะผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดจึงไม่สำคัญ

การที่จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลไทยออกใช้จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อนทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใส ย่อมเป็นการทำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ขึ้นใหม่อีก 23 ฉบับ โดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลออกไว้ การที่ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรชำรุดตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 18 ประเภทต่อท่อนผิด ทำให้ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะหากธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรดังกล่าวย่อมไม่เป็นของปลอม การที่ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายแสดงว่าเป็นของปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตาม ป.อ. มาตรา 240 และ 244”

กำลังโหลดความคิดเห็น