xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ทรัพยากรฯ เผยภาพการค้นพบซาก “วาฬโบราณ” บ้านแพ้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ เผยภาพการค้นพบซาก “วาฬโบราณ” บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และคณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เตรียมส่งวิเคราะห์หาอายุ คาดทราบในหนึ่งเดือน

วันนี้ (25 พ.ย.) เพจ “TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา” หรือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬโบราณ บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยเผยว่า “วันนี้ ผมอยู่ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ หลังได้รับแจ้งการค้นพบจาก บริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เจ้าของพื้นที่ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

โดยการสำรวจขุดค้นซากวาฬตามหลักวิชาการในพื้นที่ได้มีการดำเนินการ โดย กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ จากผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม พบว่า ชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬที่พบมีการเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง ทีมงานจึงเร่งทำการสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และพบกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง สามารถขุดค้นได้มากกว่า 50% ประกอบด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่ และครีบด้านซ้าย

ต่อมาคณะสำรวจได้เข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ค้นพบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติม รวมมากกว่า 80% ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์ โดยหลังจากนี้ จะนำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป

นอกจากโครงกระดูกวาฬ คณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ เช่น ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่าง เปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) แล้ว คาดว่า จะทราบผลประมาณอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าครับ

จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน ทั้งยังสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับวาฬ นอกจากนี้ ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งผมได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป

คลิกโพสต์ต้นฉบับ






















กำลังโหลดความคิดเห็น