xs
xsm
sm
md
lg

พบอีกเครื่องมือหินโบราณ ขวานหิน ที่ถ้ำดินอุทยานสามร้อยยอด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ทีมสำรวจโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด สำรวจถ้ำ พบเครื่องมือหิน ขวานหิน เศษภาชนะดินเผา และเปลือกหอยสองฝา ไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนเขา แต่ถูกมนุษย์นำพาขึ้นไป แสดงถึงหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทีมสำรวจโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ร่วมกันสำรวจถ้ำต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตามโครงการสำรวจร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ต่อเนื่องมาหลายปี โดยพบถ้ำที่ปรากฏภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 2,000-3,000 ปี รวม 7 จุด กระจายอยู่ทั่วทั้งอุทยานฯ และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พบภาพเขียนสีโบราณที่บริเวณถ้ำดิน ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 125 เมตร ม.4 บ้านพุน้อย ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นลำดับล่าสุดนั้น

ล่าสุด นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมด้วย น.ส.กรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีชำนาญการ ศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ นายอำเภอสามร้อยยอด นายยุทธนา ชูจันทร์ ปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง นายสิทธิศักดิ์ น้อยผลเพชร กำนัน ต.สามร้อยยอด นายชูเกียรติ เมฆขยาย ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.สามร้อยยอด พร้อม อส.สามร้อยยอด และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ร่วมกันสำรวจถ้ำดินอีกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทีมสำรวจพบเครื่องมือหินโบราณหลายชิ้น ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา และหอยสองฝาภายในถ้ำดินดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีร่องรอยของการใช้ประโยชน์จากมนุษย์โบราณในอดีตภายในถ้ำดังกล่าว

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีชำนาญการ ศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมากที่ทีมสำรวจพบเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบเศษภาชนะดินเผาทั้งก่อนและร่วมสมัยประวัติศาสตร์ และพบภาพเขียนสีเพิ่มเติมอีกจุดที่บริเวณโพรงถ้ำที่ 2 ด้วย

นอกจากนี้ อีกจุดที่บริเวณเขาหัวพัง พบภาพเขียนสีและเครื่องมือหินกะเทาะชิ้นใหญ่รูปทรงหยดน้ำ สภาพสมบูรณ์ ซึ่งน่าสนใจ แม้เนื้อหินจะไม่แกร่ง และลักษณะการแต่งขอบและรูปทรงคือเครื่องมือหินแน่นอน และได้ให้ผู้เชี่ยวชาญได้ลองตรวจสอบเบื้องต้นแล้วยืนยันวันว่าใช่เครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ความน่าสนใจของถ้ำดินคือ นอกจากจะพบภาพเขียนสีเยอะแล้ว เรายังพบเครื่องมือหิน ขวานหิน เศษภาชนะดินเผา และเปลือกหอยสองฝา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนเขา แต่ถูกมนุษย์นำพาขึ้นไป แสดงถึงหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัย ถือว่าโครงการสำรวจร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้ามาก เพราะเจอหลักฐานที่น่าสนใจ

ก่อนหน้านี้ มีการสำรวจพบถ้ำภาพเขียน ตั้งแต่ปี 2539 กรมศิลปากรเข้าดำเนินการคัดลอกภาพ ประมาณปี 2544-2545 จากนั้นปี 2559-2560 มีการพบภาพเขียนสีที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตรอีกหนึ่งแห่ง จึงเป็นที่มาของโครงการสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันตก โดยเน้นพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเพื่อตามหาร่องรอยภาพเขียนสีและที่อยู่อาศัย ในปีงบประมาณ 2563

ขั้นตอนต่อไปคือ การศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุที่สำรวจพบเพื่อเปรียบเทียบว่าเหมือนกับที่แหล่งไหนบ้าง และศึกษาวิเคราะห์ภาพเขียนสีที่สำรวจพบเพิ่มเติมอีก 6 แห่งด้วย และเตรียมเสนอของบประมาณสำรวจศึกษาถ้ำดินเพิ่มเติมในปี 2565 เนื่องจากถ้ำดินมีความเหมาะสมหลายด้านที่จะเป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดี ซึ่งข้อมูลหลักฐานที่พบนี้ถือว่ามีประโยชน์แก่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และชุมชนมากเพราะเป็นหลักฐานร่องรอยทางประวัติศาสตร์

ด้าน นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ นายอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์มากในอนาคตทางอำเภอจะได้ร่วมกับท้องถิ่น อุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมพื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก โดยจะได้มีการนำเสนอจังหวัดเพื่อผลักดันอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวตอนบน หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตอนบนเชื่อมโยงกับหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอดและกุยบุรี ซึ่งเรามีจุดท่องเที่ยวมากมาย ทั้งหาดทราย ชายทะเล ภูเขา และถ้ำต่างๆ

นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการสำรวจในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้ำดินได้สำรวจพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และล่าสุด พบเครื่องมือหินโบราณเพิ่มเติมอีก บ่งบอกว่าในพื้นที่ตรงนี้นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีระบบนิเวศ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อย่างถ้ำพระยานคร โดยวันนี้ถ้ำดิน เราพบภาพเขียนสีเพิ่มเติมและยังพบเครื่องมือหินด้วย ซึ่งจะต้องรอให้กรมศิลปากรไปตรวจสอบและวิเคราะห์ว่าเครื่องมือหินดังกล่าวอยู่ในช่วงอายุใด หากได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนแล้วในอนาคตทางอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้










กำลังโหลดความคิดเห็น