เจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งคำถามใครรับผิดชอบและให้นโยบาย หลังพบต้นไม้ที่เกาะกลางถนนถูกตัด แม้ไม่ทำอันตรายใดๆ หรือเกะกะยวดยานพาหนะ และมักถูกปลูกขึ้นมาใหม่ซ้ำๆ แนะควรมีนโยบายให้ชัดเจนในการดูแล และหากไปจังหวัดไหนควรเห็นต้นไม้ประจำจังหวัดนั้นๆ
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. เพจ “พระเมธีธรรมาจารย์-เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ระบายหลังพบว่าต้นไม้เกาะกลางถนนหลายแห่งที่เดินทางผ่าน มีการตัดแต่งโดยไม่ได้จำเป็นต้องตัด ไม่เกะกะ หรือไปเกี่ยวสายไฟฟ้าที่จะทำให้เกิดอันตรายใดๆ และก็ไม่บดบังทัศนียภาพของการขับขี่ยวดยานพาหนะที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุเลย และพอต้นไม้ที่ตัดตายลงก็การปลูกขึ้นมาใหม่ พอกำลังสวยงามสบายตาก็ตัดอีก
โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า “ปลูกแล้วก็ตัด ตัดแล้วก็ปลูก เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด ถนนสายหลักส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็จะเป็นถนน 4 เลนบ้าง 6 เลนบ้าง และถนนเหล่านี้ก็ล้วนแต่มีเกาะกลางถนนด้วยกันทั้งนั้น เกาะกลางถนนนี้หลายที่หลายแห่งก็จะตกแต่งทำนุบำรุงที่แตกต่างกันออกไป จากการสังเกตุถนนหลายสายที่ผ่านมาจะเห็นสองอย่างที่ค่อนข้างขัดเจนบนเกาะกลางถนนในสภาพปัจจุบันคือ
1. ปลูกต้นไม้ บ้างก็ปลูกต้นไม้ยืนต้น บ้างก็ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม
2. ตัด จะมีเจ้าหน้าที่นำเลื่อยไฟฟ้า รถกระเช้าไฟฟ้า มาทำการตัดต้นไม้ที่เกาะกลางถนน จะเห็นได้ชัดเจนว่า ต้นไม้ที่บริเวณเกาะกลางถนนหลายแห่งหลายที่ทั่วประเทศ หรือต้นไม้สองข้างทางก็ตาม ส่วนหนึ่งจะไม่เกะกะ หรือไปเกี่ยวสายไฟฟ้าที่จะทำให้เกิดอันตรายใดๆ เลย และก็ไม่บดบังทัศนียภาพของการขับขี่ยวดยานพาหนะอันจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุเลย
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่หลายแห่งขยันตัดไม้ยืนต้นที่เกาะกลางถนนและสองข้างทางกันจัง หลายที่ตัดสั้นจนต้นไม้ที่กำลังสวยงาม สบายตาของผู้ใช้รถใช้ถนนและกว่าจะปลูกได้โตขนาดนี้ก็ตัดเสียจนต้นไม้ต้นนั้นตายเหลือแต่ตอเหลือแต่ซาก น่าเสียดายมาก แต่ก็มีบางที่ที่ตัดตกแต่งเฉพาะกิ่งก้าน ใบให้สวยงามเพื่อรักษาต้นไว้ แต่ก็มีน้อยมากในกรณีเช่นนี้
เมื่อตัดต้นไม้เหล่านี้จนตายหมดเหลือแต่ตอแล้ว ก็เริ่มต้นกระบวนการงบประมาณใหม่ คือ ซื้อต้นไม้ จ้างคนงานมาปลูกและดูแลรักษา พอโตมาหน่อยก็เริ่มตัดพอตัดให้ตายแล้วก็เริ่มต้นปลูกใหม่ ปลูกแล้วก็ตัด ตัดแล้วก็ปลูกงบประมาณที่ลงไปวนเวียนซ้ำชากเพื่อการนี้ล้วน แต่เป็นเงินภาษีของประชาชนทั่วประเทศทั้งนั้น ไม่ใช่เงินของคนตัดหรือคนสั่งให้ตัดเลยช่วยกันคิดให้ดี และที่แปลกไปกว่านั้นคือชุมชน ประชาชน หรือผู้ใช้รถใช้ถนนไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลย ได้แต่มองตาปริบๆ
จึงไม่ทราบว่าใครรับผิดชอบในเรื่องนี้ และใครให้นโยบายเช่นนี้ ที่จริงแล้วในเขตพื้นที่ในแต่ละแห่งควรมีนโยบายในการปลูกต้นไม้สองขัางทางและเกาะกลางถนนให้ชัดเจน พร้อมด้วยวิธีดูแลรักษาไม่ใช่ปล่อยสะเปะสะปะแบบนี้ เช่น พอเข้าเขตจังหวัดไหนก็ควรเห็นต้นไม้ประจำจังหวัดนั้นๆ อร่ามสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของจังหวัดแบบนี้ถนนหลายสายหลายแห่งจะสวยงามจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดได้ด้วย หารายได้เข้าจังหวัดและชุมชนได้ด้วย วิธีก็คือปลูกต้นไม้ที่ออกดอกสวยงามโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กำลังเสือโคร่ง ต้นคูณ ต้นจาน ดอกปีบ เป็นต้น
วันนี้ต้นไม้ ป่าไม้ทั่วประเทศเรามีขนาดและปริมาณที่น้อยลงๆ มีพื้นที่ที่ไหนจะมากจะน้อย จะเป็นที่ดินเอกชน บ้าน ส่วนราชการ วัดหรือที่สาธารณประโยชน์ใดๆ ก็ตามควรจะช่วยกันปลูก ช่วยกันรักษา และมีกติการ่วมกันว่าใครก็ตามที่ตัดต้นไม้ในที่ที่หวงห้าม ที่ไม่ควรหรือแม้กระทั่งเกาะกลางถนนควรมีบทลงโทษ ไม่ใช่ปล่อยให้คนเหล่านี้มีมือถือเลื่อยไฟฟ้าได้ตามใจชอบ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
เจ้าคุณประสาร”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ