xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “ม.นอกระบบ” เงินเดือน 1.7 เท่าต้องจ่ายเต็มตามมติ ครม.เตือนหักเงินแบบผิดๆ เจอมาตรา 157

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวทีเสวนาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีปรับเงินเดือน 1.7 และ 1.5 เท่าของพนักงานมหาวิทยาลัย อาจารย์ มรภ.เชียงใหม่ ที่ชนะคดี ชี้ เจตนารมณ์มติ ครม.ปี 42 มีไว้เพื่อความเสมอภาค แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับหักเงินมาตลอด เตือนต้องทำตามคำสั่งศาล จ่ายเต็มไม่หัก ถ้าจะตั้งกองทุนสวัสดิการเกื้อกูล ต้องดูว่ามีมาตรฐานเทียบเท่าราชการหรือไม่ ระวังหากทำแบบผิดๆ โดนมาตรา 157

วันนี้ (17 พ.ย.) สภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดการเสวนาหัวข้อ “คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด : กรณีปรับเงินเดือน 1.7 และ 1.5 เท่า” สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายแนวทาง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีลักษณะได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการสมัยก่อน เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ หลังจากออกนอกระบบราชการแล้ว บำเหน็จบำนาญ การรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่เหมือนข้าราชการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 1.5-1.7 เท่า เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างพนักงานทั้งสองระบบ

แต่เมื่อกำหนดอัตราเงินเดือนแล้ว พบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีแนวปฏิบัติแตกต่างกัน บางแห่งหักเงินเดือน และนำไปใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน ทำให้คณาจารย์เกิดความแคลงใจ ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศาลปกครอง แม้จะมีคำสั่งออกมาแต่มหาวิทยาลัยไม่กล้ากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทั่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล วศินสุนทร อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงเห็นว่าเป็นบทเรียนสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อจัดค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล วศินสุนทร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 ให้อำนาจและหลักการให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จ้างลูกจ้างในลักษณะพิเศษ พร้อมกำหนดให้จ่ายค่าจ้าง 1.7 เท่าในสายวิชาการ และ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน เพื่อต้องการจำกัดการรับข้าราชการบรรจุใหม่ ให้เป็นพนักงานของรัฐชนิดหนึ่ง เรียกว่า พนักงานมหาวิทยาลัย แต่มีโครงสร้างลักษณะว่าจ้างแบบพิเศษ สัญญาจ้างระยะสั้น เกรงว่าจะถูกเลิกจ้าง จึงเป็นความกระอักกระอ่วนใจในบรรยากาศการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาหน้า 37 ระบุถึงเจตนารมณ์ให้มีพนักงานมหาวิทยาลัย ระบุว่า จากหลักการที่ทบวงมหาวิทยาลัยขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการและได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างระบบการจัดสรรงบประมาณเงินเดือนและสวัสดิการ ให้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อคุณภาพการศึกษา สภาพสังคม และงบประมาณที่สนับสนุน ถือว่าเป็นการวางหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจัดจ้างพนักงานในลักษณะพิเศษ โดยมีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการทดแทนอัตราข้าราชการเกษียณอายุและการบรรจุข้าราชการใหม่ในมหาวิทยาลัย โดยให้ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดจ้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในลักษณะพนักงานมหาวิทยาลัย

ในตอนหนึ่ง ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าวว่า เมื่อปี 2551 มติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ขณะนั้น วางหลักการให้หักเงินเดือน 0.2 เท่า กันไว้เป็นสวัสดิการ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเงินที่หักไว้ 0.2 เท่า บวกด้วย 1.5 เท่า เป็น 1.7 เท่า ศาลจึงกล่าวว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี เห็นว่าหากมหาวิทยาลัยมีการพูดคุยกันในประชาคม และมีการจัดสวัสดิการจริง แนววินิจฉัยศาลปกครองนี้ทำได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยจัดสวัสดิการเกื้อกูลเลย การหักเงิน 0.2 เท่า ในสัญญาจ้างระบุว่ายินยอมให้หัก ซึ่งศาลระบุว่าถ้าตามสัญญาจ้างจะจัดสวัสดิการครอบคลุมทำได้ แต่ศาลวางแนววินิจฉัยว่า การที่เอาเงินไปจ่ายตำแหน่งวิชาการ หรือจ่ายกองทุนประกันสังคมนั้นไม่ใช่

เพราะสวัสดิการเกื้อกูล หมายความว่า ทุกคนได้รับในฐานะสมาชิกขององค์กร เป็นประโยชน์เกื้อกูล เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสวัสดิการของข้าราชการ แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยตั้งกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการ ศาลจึงตั้งคำถามว่า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่เห็นว่าแหล่งที่มาของเงินเป็นอย่างไร เทียบได้กับมาตรฐานการจัดสวัสดิการของข้าราชการหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเจตนามิชอบ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฉะนั้น เจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรียังมีอยู่ การเพิ่มเงินเดือน 1.7 เท่าให้รวมสวัสดิการเกื้อกูล แต่มหาวิทยาลัยแต่ละที่จะจัดสวัสดิการอย่างไร เมื่อจัดแล้วเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

“เจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี สะท้อนไปยังผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ ว่า ในเมื่อศาลมีคำวินัยออกมาแล้ว ไม่ต้องรอฟ้องให้ชนะ ซึ่งไม่ใช่การบริหารที่เป็นธรรมาภิบาล เมื่อก่อนหากสงสัยในอำนาจของผู้บริหารว่าทำได้หรือไม่ ก็ต้องพึ่งอำนาจตุลาการมาถ่วงดุล แต่เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดผูกพันทุกองค์กร และมีแนววินิจฉัยแบบนี้แล้ว หน้าที่ของผู้บริหารอย่างแรกคือ กลับไปดูว่าที่หักเงินเดือนนั้น จัดสวัสดิการเกื้อกูลอย่างไร เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ หรือคนน้อยเกินไป ก็คืนเงินเขาไปก่อน รอให้มหาวิทยาลัยมีรายได้มากขึ้น ดีขึ้น ถึงค่อยคุยกัน เพราะทั้งหมดกลับไปยังเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อมีคนรู้สึกเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปร้องศาลปกครองหรือศาลอาญาก็ร้องง่ายๆ เองว่าไม่จ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรีแค่นั้นเอง และการตีความมติคณะรัฐมนตรี ศาลสูงก็วางบรรทัดฐานแล้ว” ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าว

ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าวว่า หลังจากวันนี้หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะเริ่มมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะศาลปกครองสูงสุดได้วางแนววินิจฉัย บอกเหตุผลให้ฝ่ายบริหารไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้บอกไปแล้ว และมีเจตนาชัดเจน ส่วนที่ผ่านมาจะเข้าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ต้องดูกรณีของแต่ละมหาวิทยาลัย หากจัดสรรเงินโดยมีเจตนาในเชิงทางปกครองแบบไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเยียวยาแก้ไขทางแพ่งกันไป ซึ่งต้องคุยกันแต่ละมหาวิทยาลัย แต่บางแห่งเอาเงินไปใช้แบบผิดๆ ต้องดูเป็นกรณีว่าจะมีความผิดตามมาตรา 157 ในเรื่องเจตนาพิเศษหรือมิชอบอย่างไร เชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีแนววินิจฉัยเหมือนกันตลอด นอกเสียจากจะมีการออกมติคณะรัฐมนตรีใหม่

“การจ่ายเงิน 1.7 กับ 1.5 เท่า ไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยเจ๊ง เป็นการชี้เป้าผิด เพราะเป็นเงินในสิทธิที่มติคณะรัฐมนตรีมีเจตนาที่จะพัฒนาครูบาอาจารย์ตั้งแต่แรกมา 21 ปีแล้ว เป็นการตั้งต้นสิ่งที่ดีแล้วแต่กลับไม่ทำ และไม่ใช่ว่าเงินไม่ได้เหมือนกรณีเงินข้าราชการ 8% กรณีนี้สำนักงบประมาณจ่ายเงินมาให้แล้วชัดเจน และมติคณะรัฐมนตรีชัดเจน แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือวิธีการบริหารงาน ถ้ามหาวิทยาลัยท้าทายตัวเองที่จะออกนอกระบบ ก็ต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ที่จะผลักดันและหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าทำไม่ได้ก็ให้คนอื่นที่ทำได้เข้ามา การจะรอให้คนมาฟ้องนั้น ไม่ใช่การบริหารตามความสามารถ” ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น