xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจขึ้นเงินเดือน 3.7% “เมอร์เซอร์” แนะพนักงานยุคใหม่เร่งเพิ่มทักษะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2563 ถดถอยลง โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะลดลง 7.8% ซึ่งแม้จะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น 3.5% ในปี 2564 แต่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนเช่นนี้บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานในอัตราประมาณ 3.7% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่อัตราการขึ้นเงินเดือนต่ำกว่า 5% “เมอร์เซอร์” แนะพนักงานเร่งเสริมทักษะความสามารถเอื้อการปรับเพิ่มเงินเดือน

สมมติฐานดังกล่าวเป็นผลมาจากการสำรวจ “อัตราค่าตอบแทนรวมในประเทศไทยประจำปี 2563” (Annual Thailand Total Remuneration Survey (TRS) 2020) โดย “เมอร์เซอร์” (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทางด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการพนักงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการสำหรับพนักงาน การเกษียณอายุ และการลงทุน โดยการสำรวจบริษัททั้งหมด 577 บริษัทจากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายน 2563 และได้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2563 เกี่ยวกับสภาพการณ์ตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นายพิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา Career Products Business Leader บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงความสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ มีการตรวจสอบและทบทวนงบประมาณสำหรับการขึ้นเงินเดือนอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดย 2 ใน 5 ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราการขึ้นค่าตอบแทนปี 2563 ที่บริษัทวางแผนไว้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีบริษัทเพียง 22 บริษัทจาก 577 แห่งที่ร่วมการสำรวจครั้งนี้รายงานว่าไม่มีการขึ้นเงินเดือนในปี 2563 ขณะที่ค่ากลางของอัตราการขึ้นเงินเดือนของปี 2563 ปรับลดลงอยู่ที่ 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4.8% ซึ่งผลกระทบนี้แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งแบ่งเป็น 6 หมวดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมประกันภัย และอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมยานยนต์-ไฮเทคขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ย

สำหรับการขึ้นเงินเดือนในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฮเทค มีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม เนื่องจากลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยอุตสาหกรรมไฮเทคนั้นมีอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน (New Way Of Work) ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งจึงทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากการหดตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน มีอัตราการขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุดที่ 2.5%”

ในส่วนของการจ่ายโบนัสตามงบประมาณยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.3 เท่าของเงินเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับ 2.2 เท่าของเงินเดือนในปี 2562 โดยอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงมีอัตราสูงสุด โดยมีบริษัทเพียง 5% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจที่ไม่มีการให้โบนัส ส่วนแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ 28% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจคาดว่าการจ่ายโบนัสในปี 2564 จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 39% ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องของโบนัสได้ ณ ขณะนี้ และมีบริษัทเพียง 5% ที่คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณสำหรับโบนัสในปี 2564
ปัจจัยที่มีผลต่อเงินเดือนขึ้นอยู่กับทักษะที่หลากหลาย

นายพิรทัต กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนคือทักษะของพนักงานยุคใหม่ที่ควรมีคือการทำงานร่วมกับบุคคลคนอื่นในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยต้องสามารถทำงานกับเทคโนโลยีและปรับตัวเข้ากับสภาวะต่าง ๆ ได้ ตลอดจนมีทักษะความรู้ความสามารถที่หลากหลายเพิ่มขึ้น (Multiple Skill) ดังเช่นใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เกิดปรากฎการณ์ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้านฟินเทคและจำเป็นต้องใช้บุคลากรด้านไอทีที่มีความรู้ด้านการเงินมาเสริมงานเพิ่มมากขึ้น หรือในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จำเป็นต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มากขึ้น เป็นต้น

“ผลสำรวจครั้งนี้จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนประมาณปี 2564 ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าหากผลิตได้สำเร็จจะส่งผลให้ธุรกิจกลับมาประสบผลสำเร็จได้ดังเดิม เพราะธุรกิจหลาย ๆ ประเภทยังจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างน้อย 1-3 ปี”

ทางเลือกใหม่ของผลตอบแทนการทำงาน
นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาในทุกแง่มุม บริษัทต่าง ๆ ยังคงอยู่ในสถานะของการเฝ้าจับตาและรอคอย โดยเฝ้าติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนของบริษัทในปี 2564 โดยบริษัทส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการจ้างงานในเชิงบวกโดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจและงานที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยี หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอนในปีนี้กลับมีธุรกิจที่เพิ่มจำนวนพนักงานมากกว่าธุรกิจที่พยายามลดพนักงาน

“ปัจจุบันมีพนักงานคนไทยส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพสูง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเงินเดือนเป็นปัจจัยหลักอันดับหนึ่ง เพราะมีความต้องการอื่น ๆ ที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่น ต้องการทำงานเป็นโปรเจกต์ระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 เดือน แล้วหยุดพัก 1 เดือน หรือต้องการผลตอบแทนเป็นหุ้นส่วนบริษัท รวมถึงความเติบโตก้าวหน้าอื่น ๆ จึงเป็นความท้าทายของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่จะรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ให้อยู่กับองค์กรต่อไป โดยพนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนรุ่นเจนวายและเจนเอ็กซ์อีกด้วย ในขณะที่บริษัทที่พนักงานคนไทยทำงานด้วยนั้นส่วนใหญ่เริ่มเป็นบริษัทคนไทยด้วยเช่นกัน”

นายจักรชัย กล่าวเสริมว่า ในขณะที่อนาคตยังคงแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน บริษัทต่างมีความกังวลต่องบประมาณทางด้านบุคลากร เมอร์เซอร์สนับสนุนให้บริษัทใช้เวลาพิจารณาแผนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานแบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทควรใช้โอกาสนี้ทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนแบบองค์รวมและมองให้ละเอียดกว่าการจ่ายค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว โดยพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของพนักงานให้พัฒนาทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ และมีสุขภาพกายและใจที่ดี ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อบริษัท และการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคยบนเส้นทางแห่งการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท












กำลังโหลดความคิดเห็น