อดีต รมว.คลัง วาดฝันโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลประยุทธ์ ต่อยอดอี-คอมเมิร์ช แพลตฟอร์มสัญชาติไทย เปิดโอกาสให้คนไทยขายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภค โดยที่รัฐสนับสนุนโปรโมชันและการขนส่งทางไปรษณีย์ หวังให้สินค้าไทยและข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไม่รั่วไหลไปต่างชาติ
จากกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม ซึ่งภาครัฐจะช่วยจ่าย 50% แก่ประชาชน 10 ล้านคน เมื่อซื้อสินค้าและบริการตามร้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไปและสินค้าโอทอปที่เข้าร่วมโครงการ และชำระเงินผ่าน G-Wallet บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน และสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนตลอดโครงการ ตั้งแต่ 23 ต.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2563
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงโครงการดังกล่าว ระบุว่า ที่ผ่านมามีคำถามว่าทำไมประเทศไทยไม่พัฒนาระบบอี-คอมเมิร์ชแพลตฟอร์มของตัวเอง ทั้งที่ไทยมียอดการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมาตรการคนละครึ่งที่รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ให้กับประชาชนครึ่งหนึ่ง ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก การเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ครบกำหนดตามสิทธิ์อย่างรวดเร็ว
โดยตั้งแต่เปิดโครงการมา มียอดการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังไปแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้ไปถูกกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ลงทะเบียนแล้ว กว่า 5.7 แสนร้านค้า รวมไปถึงแผงลอยตามตลาด ทำให้สามารถเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ตามความตั้งใจ โดยโครงการนี้ไม่อนุญาตให้ร้านค้าขนาดใหญ่ และโมเดิร์นเทรด เข้ามาสร้างความได้เปรียบแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และภาครัฐกำลังพิจารณาที่จะเปิดรอบ 3 เพิ่มขึ้นอีกในช่วงปลายปี
นายกรณ์กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลได้ทำให้ประชาชน 12 ล้านคนยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้การชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) มากขึ้น เช่นเดียวกันผู้ค้ากว่า 6 แสนรายก็เข้ามาอยู่ในระบบดิจิทัล ดังนั้น สิ่งที่รัฐมีมากมาย คือ ข้อมูล (Data) ในอนาคต หากรัฐเปิดโอกาสให้คนไทยเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคตามฐานข้อมูลที่รัฐมี และรัฐยังช่วยสนับสนุนด้วยโปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงบริการส่งของผ่านไปรษณีย์ไทย อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของอี-คอมเมิร์ชแพลตฟอร์มของไทยที่รอคอย
“โดยสรุปคือ ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการนำมาพัฒนาอี-คอมเมิร์ชแพลตฟอร์มต่อในอนาคต นอกจากทำให้เงินไม่ไหลไปแพลตฟอร์มต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้สินค้าไทยมีพื้นที่ตลาดที่ชัดเจนของเราเอง ข้อมูล (Data) พฤติกรรมคนไทยไม่รั่วไหลไปสู่ต่างชาติ รวมถึงสามารถช่วยประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบ Cashless Society (สังคมไร้เงินสด)” นายกรณ์ระบุ
นายกรณ์กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของรัฐไทยคือการทำงานแบบไซโล (Silo) คือต่างคนต่างทำ อย่างกรณีนี้ ข้อมูลโครงการคนละครึ่งอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ที่มีพันธกิจสร้างอี-คอมเมิร์ช แพลตฟอร์ม คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์จากส่วนกลางที่ชัดเจนกว่านี้