xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว 7 นักวิชาการสู้ฝุ่น จ่อคุยผู้ว่าฯ กทม.17 พ.ย. อึ้งสูดมากเสี่ยงเบาหวานยันโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.ศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ นิด้า เปิดตัว 7 ผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมหัวกะทิเสนอทางแก้ปัญหาฝุ่น ได้ สสส.สนับสนุน เตรียมคุย “อัศวิน” 17 พ.ย.นี้ อึ้งสูดฝุ่นเสี่ยงเบาหวาน-หลงๆ ลืมๆ-มะเร็ง แถมเป็นไปได้พาหะไวรัส พบชาวอิตาลีป่วยโควิด-19 ตายเพียบในพื้นที่ PM 2.5 สูง ชงตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้นตรงต่อนายกฯ

วันนี้ (11 พ.ย.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดตัวโครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย

โดยเป็นการรวมตัวของนักวิชาการต่างแขนงเพื่อช่วยหาทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศรวม 7 คน ประกอบด้วย ศ.ดร.ศิวัช, รศ.ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์

โดย ศ.ดร.ศิวัชระบุว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.จากมลพิษทางอากาศที่ไม่ได้มีเพียงค่า PM 2.5 เพียงชนิดเดียว ซึ่งปัญหาก็คือเราจะแก้กันอย่างไร เพราะไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนการควบคุมโรคโควิด-19 ระบาด เนื่องจากแหล่งกำเนิดซับซ้อน ไร้พรมแดนต่อให้ไทยไม่ปล่อยมลพิษแต่ถ้าประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีอยู่ก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี ในฐานะที่ตนทำเรื่องนี้มาตลอดก็คิดว่าเราจะใช้มุมมองทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวมาแก้คงไม่ได้ เลยเป็นที่มาของการรวมตัวเหล่านักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาแต่มีอุดมการณ์อยากได้อากาศที่สะอาดในประเทศนี้ โดยล่าสุดทีม Prime Mover เตรียมเข้าพบกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่ 17 พ.ย.นี้

ด้านนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ตนขอขอบคุณนักวิชาการทั้ง 7 คนที่มารวมตัวกันจากสหวิชาการ สสส.ชื่นชม ยกย่อง ให้กำลังใจ และคิดว่าเรากำลังสู้อยู่กับมหันตภัยซึ่งมีมาเป็น 10 ปี แต่ประชาชนเพิ่งรู้ว่าสิ่งที่เราสูดเข้าไปทุกวันมันมีอันตรายมาก มันก่อมะเร็ง และโรคที่ไม่ติดต่อหลายโรคมาก รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพจิตคนไทย สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการก่อร่างสร้างตัวที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช้ประเด็นสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวที่จะแก้ปัญหา แต่มีอีกหลายภาคส่วนที่จะต้องมาจัดการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน สสส.เป็นหน่วยงานที่จุดประกาย สร้างเสริม สร้างพลังให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร สูดอากาศอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ทีม Prime Mover ได้มีการเสวนาถึงปัญหาฝุ่นอย่างน่าสนใจ โดย รศ.ดร.ธันวดี เปิดเผยถึงงานวิจัยที่มีการพบว่า โรคหลงๆ ลืมๆ ก่อนวัยอันควร, เบาหวาน, มะเร็ง และโรคไม่ติดต่อ อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศจากการสูดดมฝุ่น ยิ่งรับมากยิ่งเสี่ยงมาก และยังส่งผลต่อค่ารักษาพยาบาลของรัฐที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นต้องให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหาให้เหมือนกับโรคโควิด-19 มีการใช้ระบบชุมชน รวมทั้ง อสม.แจ้งเตือนสภาวะอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้อยู่ที่รัฐบาลเชื่อหรือไม่ว่าสิ่งนี้คือปัญหาสำคัญ และกล้าให้ข้อเท็จจริงแบบตรงไปตรงมา

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ ที่เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ของไวรัสที่มาพร้อมกับฝุ่น โดยอ้างอิงงานวิจัยในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในประเทศอิตาลีรอบแรก โดยพบว่าพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง ก็พบมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงเช่นกัน

ด้าน ผศ.ดร.นิอร ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ทำให้ชาว จ.เชียงราย หยุดการเผาเพื่อสร้างมลพิษได้สำเร็จ แนะนำว่า ให้เริ่มจากการหยุดวิจารณ์คนเผา แต่ชวนให้ไปดับไฟป่า จะได้ทราบถึงปัญหา พร้อมทั้งสร้างห้องเรียนรู้ฝุ่นให้การเรียนรู้แก่เด็ก เพื่อปลุกจิตสำนึกและนำความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง

ขณะที่ ผศ.ดร.กฤษฎากร กล่าวถึงกฏหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมว่า มีกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายหน่วยงานรัฐ ฉะนั้นภาครัฐอาจต้องพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายที่จริงจัง ควบคู่กับมาตรการส่งเสริมสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยการหายใจในอากาศบริสุทธิ์ เป็นสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนอาจยื่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบการใช้เงินของหน่วยงานที่แก้ปัญหาว่ามีประสิทธิภาคหรือไม่ พร้อมผลักดันมาตรการไม่รับซื้อสินค้าที่มาจากการเผาทำลายคุณภาพอากาศ

ทางด้านนายปิยศักดิ์ได้เสนอทางแก้ปัญหา เช่น เพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เก็บค่าผ่านเข้าเมือง ภาษีที่ดิน ผลัดดันการขนส่งสาธารณะโดยภาครัฐต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ลดแรงจูงใจในการเพิ่มฝุ่น เพิ่มแรงจูงใจธุรกิจพลังงานสะอาด ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และให้เงินอุดหนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมองว่าถ้าไทยสามารถแก้ปัญหาฝุ่นได้จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น 3%

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.รณบรรจบ ที่มองว่ารัฐต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ ปัญหาพลังงานเชื้อเพลิง และการลดมลพิษ รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือที่ปลายเหตุ ทั้งหน้ากากอนามัย เครื่องกรองอากาศ พื้นที่เซฟโซนอากาศบริสุทธิ์ และเพิ่มห้องความดันบวก

ส่วน ศ.ดร.ศิวัช เสนอให้ตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นศูนย์สั่งการ แต่ก็มองว่าในไทยมีการเผาป่าในหลายรูปแบบ และยังพบว่ามีการเผาในพื้นที่ป่าสงวนเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ก็ต้องกระตุ้นให้ประชาชนตื่นรู้ สร้างความเข้าใจถึงเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่บั่นทอนต่อชีวิตและบุตรหลาน

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.




กำลังโหลดความคิดเห็น