ผู้จัดการไอลอว์ ที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ โต้กระแสโจมตี “รับเงินต่างชาติ” จากฝ่ายรัฐบาล ระบุ อยู่ได้ด้วยเงินทุนจากต่างประเทศ 12 ปี เพราะแหล่งทุนตรวจสอบรัฐของไทยไม่มี มีแต่ให้ทำงานอวยรัฐ เผยมีเจ้าหน้าที่ประจำ 12 คน อาสาสมัครนับไม่ถ้วน ปีหนึ่งใช้เงินกว่า 3 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่เคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญคู่ขนานกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก และคณะราษฎร 2563 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingcheep Atchanont ระบุว่า "ในประเทศไทย มีกองทุนจากเงินภาษีจำนวนมาก ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อการทำงานบางอย่าง เปิดให้คนทั่วไป ประชาชน และองค์กรต่างๆ ยื่นโครงการมาขอไปใช้ได้ ถ้าหากโครงการดูมีวัตถุประสงค์ดี สอดคล้องกับวัตถุประสงค์กองทุน มีโอกาสสำเร็จผล ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินก็อนุมัติให้ทุน แล้วคนก็เอาเงินไปใช้ เสร็จแล้วก็ส่งรายงานการเงิน
กองทุนแบบนี้ เช่น สสส. (งดเหล้าบุหรี่) สกว. (กองทุนวิจัย) สสย. (เพื่อเด็กเยาวชน) Thai Media Fund (สื่อสร้างสรรค์ปลอดภัย) พอช. (องค์กรพัฒนาชุมชน) กองทุนวิจัยของ กสทช. ฯลฯ
ในหลายประเทศ เขาก็มีกองทุนจากเงินภาษีของประชาชนอยู่เช่นกัน โดยเขามีแนวคิดว่า อุดมการณ์ทางการเมืองบางประการ ถ้าหากทำงานในประเทศของเขาประเทศเดียว แต่โลกไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่สามารถสำเร็จได้ จึงมีกองทุนที่นอกจากพลเมืองในประเทศมีสิทธิขอแล้ว คนต่างชาติก็มาขอไปใช้ได้ด้วย ถ้าวัตถุประสงค์ตรงกัน
ส่วนใหญ่ประเทศที่มีแนวคิดแบบนี้ เป็นประเทศร่ำรวยในตะวันตก แล้วประเทศโลกที่สามที่เงินทุนน้อยกว่าก็ไปขอมาใช้ทำงานทางสังคม กิจกรรมต่างๆ ผู้ขอทุนเป็นคนคิดขึ้นและนำเสนอไป ถ้าตรงวัตถุประสงค์ได้เงินมาแล้วก็ส่งรายงานเพื่อความโปร่งใส และนี่ก็เป็นที่มาการกำเนิดขึ้นของเอ็นจีโอทั่วโลก เป็นเวลานานมาแล้วหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน
งานของไอลอว์อยู่ได้ด้วยเงินทุนจากต่างประเทศมาตลอด 12 ปีขององค์กร ถ้าหากว่า เมื่อไรมีแหล่งทุนสัญชาติไทยเปิดและแจกเงินทุนให้ทำงาน “ตรวจสอบรัฐ” ก็จะไปขอ แต่ดันไม่มี มีแต่แหล่งทุนเปิดให้ทำงานอวยรัฐ ปัจจุบันเราใช้แหล่งทุน 5 แหล่ง คือ OSF NED AJWS FGHR และ HBS หลักการพื้นฐาน คือ เราเป็นคนเขียน Proposal และเป็นคนคิดว่า ปีนี้เราจะทำอะไรบ้างแล้วยื่นขอไป ไม่ใช่ให้แหล่งทุนมากำหนดว่าต้องทำอะไร ถ้าใครแทรกแซงจะไม่ทำงานด้วย แล้วเงินทั้งหมดที่ใช้มีใบเสร็จ มีรายงาน ตรวจสอบได้ มีเจ้าหน้าที่ประจำ 12 คน อาสาสมัครนับไม่ถ้วน ปีหนึ่งๆ ใช้เงินสามล้านกว่าๆ คิดดูว่า เป็นการใช้ฟุ่มเฟือยไหม เงินจะตกถึงท้องแต่ละวันเท่าไร
จากประสบการณ์ 11 ปีในวงการ เมื่อเอ็นจีโอไหนประสบความสำเร็จในการทำงาน สั่นสะเทือนการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลได้ รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่มี “เหตุผล” อะไรจะมาสู้ ก็จะเอาข้อหา “รับเงินต่างชาติ” มาใช้ตลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในสนามเหตุผล ก็โดนเป็นเช่นนี้เองเป็นการทั่วไป เสมอมา อย่าไปเดือดร้อนอะไร”
ด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ iLaw ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีการรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศว่า ไอลอว์ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึง หลักการประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ระหว่างปี 2552 ถึง 2557 iLaw รับการสนับสนุนทุนจาก มูลนิธิ Open Society (Open Society Foundation) และมูลนิธิ Heinrich Böll และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากบริษัท Google
ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน iLaw ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. Open Society Foundation (OSF)
2. Heinrich Böll Stiftung (HBF)
3. National Endowment for Democracy (NED)
4. Fund for Global Human Rights (FGHR)
5. American Jewish World Service (AJWS)
6. ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google และผู้สนับสนุนอิสระ
หลักการทำงานกับแหล่งทุน คือ เราจะพิจารณาแหล่งทุนที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากประเทศใด ถ้ามีแหล่งทุนในประเทศที่วัตถุประสงค์ตรงกันก็จะทำงานด้วยเช่นกัน โดยเราเป็นผู้ร่างโครงการที่ต้องการทำงานในแต่ละปี กิจกรรมทั้งหมดเราเป็นผู้ริเริ่มเสนอ และเป็นผู้ออกแบบ กิจกรรมที่ทำไม่มีผลต่อปริมาณเงินที่ได้รับ และแหล่งทุนไม่มีส่วนในการกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม
ข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่บนเว็บไซต์ของเรามาตั้งแต่ก่อตั้ง และเว็บไซต์ของผู้ให้ทุนทุกแห่ง โดยหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำโดยปิดลับและไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เป็นเช่นเดียวกับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ Open Society Foundation (OSF) นั้น เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยนายจอร์จ โซรอส นักธุรกิจการเงินระดับโลกซึ่งเคยทำการโจมตีค่าเงินบาทของไทยเมื่อปี 2540 โดยอ้างวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรม การศึกษา สาธารณสุขและสื่ออิสระ
ขณะที่ National Endowment for Democracy (NED) หรือ กองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ นั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยกล่าวถึงในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" เมื่อวันที่ 11 ก.ย.63 ว่า เป็นองค์กรที่ก่อตั้งในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา อ้างว่าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) มีเป้าหมายในการส่งเสริมประชาธิปไตยในต่างประเทศ โดยได้งบประมาณมาจากสภาคองเกรส ผ่านองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอเมริกา คือ USAID ซึ่งงบประมาณของ NED ถูกรวมไปอยู่ในงบประมาณกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ NED จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และมีบทบาทคล้ายเป็น CIA ภาคพลเมืองของอเมริกา และประเทศรัสเซียเคยประกาศแบน NED ภายใต้กฎหมายองค์กรเอกชนที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ในปี 2545 NED ถูกจับได้ว่าให้เงินสนับสนุนกลุ่มตรงข้ามกับรัฐบาลของประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซูเอลาซึ่งได้รับการเลือกตั้งมา นอกจากนั้นในปี 2549 ยังให้การสนับสนุนต่อกลุ่มชนชั้นนำและพันธมิตรทางการทหารเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฌ็อง-แบร์ทร็อง อาริสตีด ของเฮติด้วย