จากกรณีมีผู้พบเห็นปลิงทะเลจำนวนมากเกยตื้นบริเวณริมหาดบางกะไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ตลอดความยาวกว่า 300 เมตร โดยมีการเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก “คนเจาะข่าว” เมื่อวันที่ 23 ต.ค.63
วันนี้ (24 ต.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เร่งรัดมอบหมายให้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สั่งการให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง นำทีมเจ้าหน้าที่และนักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบปลิงทรายหนามชนิด Holothuria (Theelothuria) kurti จำนวนมากเกยตื้น ทั้งหมดอยู่ในสภาพยังมีชีวิตแต่มีอาการอ่อนแรง เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรอบเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน กล่าวคือมีน้ำจืดปริมาณมากไหลลงมาสู่ทะเลทำให้เกิดความเจือจางจนค่าความเค็มต่ำทำให้ปลิงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน สูญเสียแรงดันออสโมซิสในร่างกายจึงเกิดความอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานกระแสคลื่น และพัดมาเกยชายหาดเป็นจำนวนมากดังกล่าว
นอกจากนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 จุด และสำรวจสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ พบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งมีสาเหตุจากน้ำเสียที่มีผู้ปล่อยลงทะเล คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เพื่อสันทนาการ ไม่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่หลายรายยืนยันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถพบเห็นได้เป็นประจำ ที่ผ่านมาอาจพบปลิงทะเลหัวมันเทศ และปลิงทะเลชนิดอื่นด้วย โดยส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงน้ำหลาก เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติปลิงทะเลก็จะกลับสู่ธรรมชาติดังเดิม
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบสถานการณ์และเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นได้รับสรุปรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการพบเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เกิดการรุกของน้ำจืดทำให้ค่าความเค็มมีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ซึ่งปลิงทะเลจะเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดหากมีการเปลี่ยนแปลงความเค็มก็จะแสดงอาการให้เห็นทันที ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเท่านั้น อย่าได้กังวลว่าจะเป็นลางร้ายหรือเหตุเภทภัยเหนือธรรมชาติใดๆ
“สิ่งต่างๆ เปรียบเสมือนสัญญาณทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ น้ำเสียที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยน้ำมือมนุษย์ผู้ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ ทำให้เกิดการสะพรั่งของสาหร่าย และเกิดมลพิษทางทะเล สิ่งนี้จะต้องหาทางจัดการและป้องกันอย่างที่สุด แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจตราเฝ้าระวังอย่างไร หากยังมีคนเห็นแก่ตัว มักง่ายแอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล ปัญหาเหล่านี้ก็ยังจะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและหามาตรการแนวทางในการแก้ไขให้ได้อย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเลให้สมดุลต่อไป” รมว.ทส.กล่าวยืนยัน