xs
xsm
sm
md
lg

“บรรยง” เสนอเปลี่ยนข้อบัญญัติ-กฎหมายสถาบันฯ กลับไปสู่ยุครัชกาลที่ ๙ หวังยุติขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บรรยง พงษ์พานิช” ชูข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกแนวทางหนึ่ง ให้แก้ไขข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ กลับไปเป็นเหมือนยุครัชกาลที่ ๙ คาดหวังยุติความขัดแย้งรุนแรง

วันนี้ (23 ต.ค.) เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ของนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์ข้อความถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สาระสำคัญก็คือ ให้แก้ไขข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ปรับเปลี่ยนให้กลับไปเหมือนเดิม เหมือนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เพราะเห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลแก้ไขโดยที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงเรียกร้องต้องการ คาดหวังที่จะยุติข้อขัดแย้งที่เริ่มบานปลาย สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง โดยมีข้อความดังนี้

ข้อเสนอในการ “ปฏิรูป” สถาบันสูงสุดของประเทศ … 23 ตุลาคม 2563

หนึ่งในประเด็นที่มีผู้เรียกร้องกันมากในขณะนี้ นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ยุติการสืบทอดอำนาจของเผด็จการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้ว ประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ก็คงเป็นเรื่องของการ “ปฏิรูป” สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสมและถาวรของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากข้อเสนอสิบข้อของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมแล้ว ผมยังไม่ค่อยเห็นข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากกลุ่มอื่นๆ แม้จากกลุ่มหลักเยาวชนปลดแอก ก็ดูเหมือนจะเรียกร้องกว้างๆ เพียงว่าขอปฏิรูปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ผมจะลองนำเสนอแนวทางและเหตุผลในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่ออาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ และเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง

ก่อนอื่นต้องขอประกาศเลยว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสิบข้อของคณะธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถึงแม้จะเห็นด้วยในบางข้อ (ขอไม่สาธยายนะครับว่าข้อไหนบ้างด้วยเหตุผลใด)

หลักการที่ผมขอเสนอในการปฏิรูปสถาบันสูงสุดนี้มีสั้นๆ และง่ายๆ ดังนี้นะครับ …

“ในเมื่อเป็นที่พิสูจน์จนประจักษ์ชัดแล้วว่า ภายใต้พระราชอำนาจ และพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นั้น พระราชาผู้ทรงธรรม สามารถปกครองประเทศได้อย่างวิเศษ สร้างคุณูปการมหาศาลให้แก่พสกนิกรได้อย่างถ้วนทั่ว จนได้รับการสรรเสริญว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมครบถ้วน ดังนั้น เราจึงควรสืบต่อระบอบแบบเดิม ธำรงรักษาไว้เพื่อความสถิตย์สถาพรของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป”

ซึ่งภายใต้หลักการที่ว่านี้ ก็หมายความว่า ในระยะเริ่มต้นของรัชกาลปัจจุบัน เราไม่สมควรจะไปเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอะไรให้วุ่นวายไป อะไรที่คณะ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือแม้แต่รัฐบาล รัฐสภาได้ทำไปเกี่ยวกับสถาบัน ภายหลังจากที่เสด็จสวรรคตนั้น ก็น่าที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้พระมหากษัตริย์ได้ทรงปกครองพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างสงบร่มเย็น ก้าวหน้ามาเป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรตลอดเจ็ดสิบปีที่ทรงครองราชย์

ถ้าเราจะย้อนกลับไปดูข้อบัญญัติอันเกี่ยวกับสถาบัน ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ (รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว) จะพบว่าทุกฉบับ จะมีหลักการและการกำหนดพระราชอำนาจไว้แบบเดียวกัน ในขอบเขตเดียวกันทั้งสิ้น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็เป็นกฎหมายที่สามารถทำให้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชกุศลได้อย่างเหมาะสมตลอดเจ็ดสิบปี

จริงอยู่ครับว่า ทุกสิ่งสามารถมีการปฏิรูปปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ตามพัฒนาการ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง แต่ท่ามกลางความสับสน ความขัดแย้งยิ่งใหญ่อย่างในเวลานี้ เราจำเป็นที่จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายพอรับได้เสียก่อน ก่อนที่จะเริ่มปฏิรูปต่อไป

สำหรับผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันนั้น ผมเชื่อว่า ข้อเสนอของผมควรจะได้รับการพิจารณาด้วยดี เพราะเป็นข้อเสนอที่เราต่างก็ร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณภายใต้กฎเกณฑ์นี้มาตลอดชีวิต

สำหรับกลุ่มผู้เรียกร้องให้ปฏิรูปนั้น ผมขอเรียกร้องให้พิจารณาข้อเสนอนี้อย่างถ่องแท้ ถึงจะไม่เหมือนกับที่บางกลุ่มเรียกร้อง แต่ก็น่าจะเป็นสถานะที่ควรยอมรับได้ จุดเริ่มต้นอย่างนี้ ไม่ได้บิดเบือนไปจากหลักการสากลแต่อย่างใด

สำหรับสถาบันนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และด้วยทศพิธราชธรรม ย่อมเพียงพอที่จะทรงสร้างพระบารมี พระราชทานคุณประโยชน์แก่พสกนิกรถ้วนหน้า เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปชั่วกาลนาน … อีกทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ที่เพิ่มนั้น พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ทรงเรียกร้องต้องการแต่อย่างใด เป็นเพราะคณะ คสช. และรัฐบาลจัดถวายทั้งสิ้น

สำหรับชาวคณะ คสช. นั้น นี่ก็จะเป็นการถอดสลักข้อขัดแย้งหลักได้อย่างสันติ

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอภายใต้หลักการง่ายๆ ของผม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เริ่มบานปลาย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ที่จะนำความเสื่อมถอยมาให้ประเทศอย่างยาวนาน

หวังว่า จะได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นทางเลือกในการออกจากความขัดแย้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้นะครับ”

กำลังโหลดความคิดเห็น