พบประเทศไทยมีท่อส่งก๊าซธรรมชาติยาวรวมกันกว่า 4 พันกิโลเมตร ใช้มาเกือบ 40 ปี ไม่เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรง กระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมที่ จ.สมุทรปราการ พบข้อควรปฏิบัติ ให้ออกจากจุดก๊าซรั่วไปทางเหนือลม ห้ามขับรถ ห้ามก่อประกายไฟ และแจ้งสายด่วน ปตท. เร็วที่สุด
โศกนาฏกรรมท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) เกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 13.22 น. ของวันที่ 22 ต.ค. บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 52 คน บ้านเรือนเสียหาย 34 หลังคาเรือน ร้านค้า 7 แห่ง รถยนต์ 62 คัน รถจักรยานยนต์ 59 คัน เครื่องจักร 12 เครื่อง
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมดูแลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต สำหรับสาเหตุยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยละเอียด
นับเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต หลังจากที่ประเทศไทยมีการใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมานานเกือบ 40 ปี และยังไม่เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้
ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อก๊าซ จะแตกต่างไปตามปริมาณการจำหน่ายให้แก่ลูกค้า
ข้อมูลจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เริ่มมีการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในปี 2524 จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย มายังชายฝั่งที่จังหวัดระยอง
ก่อนที่จะวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเลียบถนนสายหลักไปยังผู้ใช้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแนวท่อ โดยใช้ท่อเหล็กกล้าเคลือบผิวท่อเพื่อป้องกันการผุกร่อน
ปัจจุบันระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มีความยาวรวม 4,255 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล 8 เส้นทาง จากแหล่งในอ่าวไทย ไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช
และ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก แบ่งออกเป็น ระบบท่อส่งก๊าซบนบกฝั่งตะวันออก 4 เส้นทาง จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง ไปยัง โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ย่านท่าหลวง อ.พระพุทธบาท และย่านทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
นอกนั้นจะมีระบบส่งก๊าซบนบก วังน้อย-ไทรน้อย จ.นนทบุรี, ระบบส่งก๊าซบนบก นครสวรรค์ ขนานไปกับถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) และระบบส่งก๊าซบนบก นครราชสีมา ขนานไปกับถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2)
ระบบท่อส่งก๊าซบนบกฝั่งตะวันตก 2 เส้นทาง ได้แก่ ชายแดนไทย-เมียนมา จ.กาญจนบุรี-โรงไฟฟ้าราชบุรี และ ราชบุรี-ไทรน้อย จ.นนทบุรี อีกทั้งยังมีระบบส่งก๊าซบนบกไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ผ่านนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
โดยปกติแล้ว แนวท่อส่งก๊าซจะมีความกว้างประมาณ 12-23 เมตร ความลึกมาตรฐานขั้นต่ำ 1-1.5 เมตร มีการเคลือบผิวท่อเพื่อป้องกันการผุกร่อน และมีการเคลือบท่อเพื่อป้องกันสนิมและการผุกร่อนบนรอยเชื่อมทุกครั้ง
และเนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่บรรจุอยู่ในท่อ อาจก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น หลังการฝังกลบท่อ จะติดตั้งป้ายเครื่องหมายแสดงแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของ ปตท. เพื่อแจ้งเหตุผิดสังเกต
จากข้อมูลทางสถิติของ ปตท. พบว่าตั้งแต่เริ่มมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อมาตั้งแต่ปี 2524 ถึงปัจจุบันเกือบ 40 ปี พบว่าประเทศไทยไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ
โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดจากบุคคลที่สาม หรือปัจจัยภายนอก ซึ่งในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันต่อสถานการณ์
สำหรับข้อควรปฏิบัติของชุมชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่ว หากพบอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซรั่ว ควรปฏิบัติตนดังนี้
1. ให้ออกจากบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วไปทางเหนือลมทันที
2. ห้ามขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผ่านกลุ่มก๊าซธรรมชาติที่รั่ว
3. หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อนซึ่งเป็นสาเหตุให้ก๊าซธรรมชาติลุกติดไฟ รวมทั้งอย่าสตาร์ทเครื่องยนต์ หรือแม้แต่เปิด-ปิดสวิตช์ไฟฟ้า
4. โทรศัพท์แจ้ง ปตท. ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในป้ายเตือนให้เร็วที่สุด หรือศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซ (Gas Control) หมายเลข 1540 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งบอกสถานที่เกิดเหตุ และลักษณะการรั่วของก๊าซธรรมชาติที่พบเห็น
เมื่ออุบัติเหตุเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันดูแลท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
แหล่งข้อมูล
https://www.pttplc.com/th/Products/Ourbusinessbypttplc/Gasunit/Transmissionanddistributionpipeline.aspx
https://ptttpa.pipeline.pttplc.com/GasTransmissionInformation/GIP
https://www.pttplc.com/uploads/Product/TQA_Report_2010.pdf
http://www.netenergy-tech.com/doc/knowledge/vgas.pdf
http://www.netenergy-tech.com/doc/knowledge/ooc.pdf