xs
xsm
sm
md
lg

นิสิต-นศ. “คณะจุฬาฯ” จับมือทนายความสิทธิฯ ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพิกถอนประกาศฉุกเฉินฯ-คุ้มครองชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนาม “คณะจุฬาฯ” นำทีมยื่นฟ้องศาลแพ่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

วันนี้ (21 ต.ค.) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนาม “คณะจุฬาฯ” โพสต์ข้อความ ระบุว่า นิสิตนักศึกษาฟ้องประยุทธ์ขอศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ขอไต่สวนฉุกเฉินและยื่นคุ้มครองการชุมนุมชั่วคราว วันนี้ (21 ต.ค. 63) เวลา 10.30 น. ขอเชิญนิสิต นักศึกษาและประชาชน ร่วมติดตามและให้กำลังใจนิสิตกลุ่มคณะจุฬาฯ และนักศึกษากลุ่ม TPC Awaken ร่วมกับเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีนิสิตกลุ่มคณะจุฬาฯ และนักศึกษากลุ่ม TPC Awaken เป็นผู้ฟ้องคดีจำนวน 6 คน ที่ศาลแพ่ง รัชดาฯ

“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมายการต่อต้านย่อมเป็นหน้าที่” กลุ่มคณะจุฬาฯ ระบุ

กลุ่มคณะจุฬาฯ กลุ่ม TPC Awaken เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้ คณะจุฬาฯ ยังได้เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า การแถลงการณ์ของกลุ่มนิสิตและนักศึกษา

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (Freedom of Peaceful Assembly) ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ข้อ 20 (1) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) หรือข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on civil and Political Rights หรือ ICCPR) รวมถึงเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร อันออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือทางกฎหมายและอำนาจในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนชาวไทยอย่างเกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรงนั้น เป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากล

การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้มาตรการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล เช่น ใช้รถฉีดน้ําแรงดันสูงฉีดน้ําผสมสารเคมีไปที่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ในทางปฏิบัติ การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงจะต้องใช้กับกรณีที่มีการจลาจลที่เสี่ยงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น, พยายามในการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมและขู่จะใช้กระสุนยางโดยไม่มีเหตุอันสมควร

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้อำนาจรัฐตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต อย่างอยุติธรรม และอย่างน่าละอาย โดยไม่เคารพหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

พวกเรา นิสิตและนักศึกษาทั้ง 6 คน ในฐานะประชาชนที่เพียงออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพที่พวกเราอันพึงมี และควรต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ แต่กลับถูกรัฐบาลกระทำการจำกัดและลิดรอนอย่างเกินสมควรโดยไร้เหตุผลและความชอบธรรม จึงได้ทำการเป็นโจทก์ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจทั้งปวงของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาล ในฐานะองค์กรตุลาการ จะทำหน้าที่ในการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและความกล้าหาญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่

ด้วยความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน

กลุ่มนิสิตและนักศึกษา


นิสิตนักศึกษาฟ้องประยุทธ์

ขอศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ...Posted by คณะจุฬาฯ on Tuesday, October 20, 2020






การแถลงการณ์ของกลุ่มนิสิตและนักศึกษา

.
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (Freedom of Peaceful Assembly)...Posted by คณะจุฬาฯ on Tuesday, October 20, 2020







กำลังโหลดความคิดเห็น