ย้อนรอยสารพัดเฟกนิวส์เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ตั้งแต่เรื่องรถพยาบาลมีแม่ท้องกลมเสียชีวิต เรื่องล้อมปราบในจุฬาฯ และอ้างทีมนักข่าวดังระบุมีการปั๊มหัวใจกู้ชีพเด็กๆ หายใจไม่ออก บนสถานการณ์ที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง
จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มคณะราษฎร 2563” โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีเพื่อยืนยันตัวตนผู้ชุมนุม ที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในโลกโซเชียลฯ จำนวนมาก ถึงกระนั้นในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวอยู่นั้น กลับพบว่ามีข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ เกิดขึ้นมากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
รถพยาบาล
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @julbbbbb มีการแชร์วีดีโอคลิปที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางรถพยาบาลไม่ให้มีการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลตำรวจ บริเวณสะพานเฉลิมโลก ก่อนถึงแยกประตูน้ำ รอยต่อระหว่างเขตปทุมวัน กับเขตราชเทวี กรุงเทพฯ กระทั่งมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @StoryMeaw ระบุว่า มีญาติอยู่ในรถฉุกเฉิน ภรรยาของพี่ชายอีกคนของพี่ เสียชีวิตทั้งแม่และเด็กในท้อง
อย่างไรก็ตาม มี สำนักข่าวสปริงนิวส์ ได้สอบถามคนขับรถพยาบาล ระบุว่า ได้รับผู้ป่วยเป็นหญิงสูงอายุ ไม่ใช่สตรีมีครรภ์ รับมาจากชุมชนเทพประทาน เขตคลองเตย มีอาการเหนื่อยหอบ เมื่อวิ่งไปถึงจุดสกัดตรงนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดทางให้จึงเปลี่ยนไปอีกทางประตู และได้นำส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว
ปิดล้อมในจุฬาฯ
ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน และมีมวลชนส่วนหนึ่งไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อหลบภัย พบว่าในทวิตเตอร์มีการปล่อยข่าวในลักษณะที่ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ปลอดภัย รวมทั้งเพจที่ชื่อว่า "คณะราษฎร" เผยแพร่อินโฟกราฟฟิกระบุว่า "ห้ามเข้าไปในจุฬา! จุฬาเป๋นพื้นที่ปิด ไม่ได้ปลอดภัย อาจมีการปิดล้อม!" ทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งล่าถอยออกไป
อย่างไรก็ตาม นายสิรภพ อัตโตหิ หรือแรปเตอร์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คอยทำหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ระบุว่า ตนควบคุมสถานการณ์อยู่ที่จุฬาฯ ขอบอกว่าอย่าเชื่อเฟกนิวส์ ที่บอกว่าจุฬาฯ มีการสลายการชุมนุม มีการจับตัวผู้เข้าชุมนุม มีตำรวจ ไม่จริง อย่าไปเชื่อเพจไหนก็ตาม ทั้งเพจเยาวชนปลดแอกที่แชร์ก็ไม่ต้องเชื่อ ตนอยู่ในจุฬาฯ แกนนำเยาวชนปลดแอกไม่ได้อยู่ในจุฬาฯ จะรู้ได้อย่างไร ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีคนโดนจับ ไม่มีการชุมนุมในจุฬาฯ ไม่มีการสลายการชุมนุมในจุฬาฯ ดังนั้น จุฬาฯ ยังปลอดภัยอยู่ จุฬาฯ เปิดพื้นที่สำหรับคนให้เข้ามาพักอย่างปลอดภัย หรือเดินทะลุผ่านไปเท่านั้น ไม่ได้มีเวทีที่จุฬาฯ ตั้งแต่แรก ดังนั้นไม่มีการสลายการชุมนุมในจุฬาฯ ไม่มีใครโดนจับในจุฬาฯ ด้วย
เช่นเดียวกับ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่า "ขอยืนยันว่า จุฬาฯปลอดภัย ครับ อย่าเชื่อและปล่อยข่าวลือ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในมหาวิทยาลัย"
ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "กรุณาอย่าเชื่อข่าวลือ ข้อเท็จจริง คือ นิสิตและบุคลากรในจุฬาฯ ยังได้รับความปลอดภัย และได้ทยอยเดินทางกลับแล้ว 16 ตุลาคม 2563 21:15 น."
เพราะฉะนั้น ข่าวปล่อยที่ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ปลอดภัย จะมีการปิดล้อม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. เท่ากับว่าไม่เป็นความจริง
ปั๊มหัวใจกู้ชีพเด็กๆ
ในช่วงชุลมุนมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุว่า "มีการปั๊มหัวใจกู้ชีพเด็กๆ ไปหลายราย เนื่องจากถูกแก๊สน้ำตาจนหายในไม่ออก CC เครดิตสื่อทีมคุณฐาปนีย์" ข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่กระจายต่อจำนวนมาก ทำให้ น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีชัย เจ้าของสำนักข่าวเดอะรีพอตเตอร์ ออกแถลงการณ์ยืนยันไม่เคยมีการรายงานข่าวตามที่ถูกกล่าวอ้าง พร้อมยืนยันทำการไลฟ์ทางเพจ The Reporters และเผยแพร่ทางสื่ออื่นๆ ของตนเองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำสัญญาณภาพ เสียง ไปใช้เผยแพร่รวมกับช่องทางอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของตนไม่เคยรายงานตามที่ต้นทางได้สรุปว่ามาจากทีมของตน ทวีตต้นทางให้ข้อมูลว่าทีมของ น.ส.ฐปณีย์ รายงานในช่องคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล พร้อมได้แนบลิงก์ให้ดู ซึ่งไม่ใช่ช่องของตน และตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการดึงสัญญาณนำแล้วโดยไม่ขออนุญาต และจากคลิปที่เพื่อนๆ ช่วยส่งให้ดู ทำให้เข้าใจว่าในไลฟ์ของตนมีเสียงแทรกจากผู้สื่อข่าวคนอื่น ยืนยันว่าเสียงนั้นไม่ใช่เสียง และไม่มีภาพของผู้สื่อข่าวของตน ทุกคนยืนยันว่าไม่ใช่เสียงรายงานของพวกตน คาดว่าเป็นเสียงแทรกจากผู้สื่อข่าวสำนักอื่นที่รายงานอยู่ใกล้เคียง
วิธีการรับมือข่าวปลอมในการชุมนุม
ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นมายาวนาน นับตั้งแต่โซเชียลมีเดียมีบทบาทในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเนื้อหาในโซเชียลมีเดียมีลักษณะเป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (UGC หรือ User-generated content) ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ เช่น น้ำมะนาวโซดารักษามะเร็ง ยันทุกเรื่องที่ปุถุชนสนใจ บ่อยครั้งที่ผู้ตกเป็นข่าวสร้างความเสียหาย ฟ้องร้องเป็นคดีความไปหลายราย
ปัจจุบัน ข่าวปลอมมีอยู่ 4 ประเภทหลัก คือ 1. ข่าวปลอมที่เกิดมาจากความเข้าใจผิด ซึ่งอาจจะมีเจตนาหรือไม่เจตนา 2. ข่าวปลอมที่มาจากมุกตลกขบขัน หรือเสียดสีบุคคลอื่น 3. ข่าวที่บอกความจริงครึ่งเดียว โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงความจริงอีกด้านที่เกิดโทษกับฝ่ายตนเอง และ 4. ข่าวปลอมแบบจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งประเภทที่ 3-4 ถือว่าอันตรายมากที่สุด
ในสถานการณ์การชุมนุมที่มีความอ่อนไหว เมื่อฝ่ายรัฐถูกมองว่าเป็นศัตรู ข่าวสารที่มาจากภาครัฐ แม้กระทั่งสำนักข่าวที่ถูกเชื่อกันว่าสนับสนุนฝ่ายรัฐ มักจะถูกแอนตี้เนื่องจากอยู่ในสภาวะไม่น่าไว้วางใจ ทำให้สื่อโซเชียลฯ เฉกเช่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่ประชาชนรายงานกันเองผ่านแฮชแท็กที่เป็นวาระของการเคลื่อนไหว จึงเป็นทางออกสำหรับพวกเขาเพราะถูกจริตมากกว่า
การจะเชื่อและส่งต่อข่าวหรือเหตุการณ์ใดๆ จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล พยายามถามคนที่โพสต์ข่าวว่ามาจากแหล่งใด ควบคู่ไปกับตรวจสอบกับสำนักข่าว หรือหน่วยงานต่างๆ ให้หลากหลาย นอกจากนี้ควรหาต้นตอข่าว เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวหรือภาพเก่าที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือข้อมูลเก่าแล้วถูกนำมาเล่าใหม่ อาจใช้เพื่อเป็นประโยชน์แอบแฝง
อนึ่ง สำหรับข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร) หนึ่งในนั้นคือ ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรืออสื่ออื่นใด รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีข้อความทำให้เกิดความหวาดกลัว บิดเบือนข่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ