เพจ“เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” ไขข้อข้องใจน้ำสีฟ้า ที่เจ้าหน้าที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุม มีไว้สำหรับยืนยันตัวตนของกลุ่มผู้ชุมนุม และยังสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากน้ำจะติดอยู่บนผิวหนัง 3-7 วัน
จากเหตุการณ์ “คณะราษฎร” ได้ประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปเป็นบริเวณแยกปทุมวันแทน โดยเริ่มชุมนุมในเวลา 17.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยออกไป ก่อนที่จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้ฉีดน้ำสีฟ้าใส่ชุมนุมจนต้องร่นถอยไป และเมื่อเวลา 18.50 น.ตำรวจเริ่มฉีดน้ำผสมสีน้ำเงินที่มีสารเมธิลีนบลูใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งมีรายงานภายหลังว่าเป็นน้ำผสมแก๊สน้ำตาด้วย ทำให้ผู้ชุมนุมรวมตัวกันพยามดันแนวตำรวจที่อยู่หน้าสุดเอาไว้ บางคนพยายามแย่งหมวกกันน็อกและโล่กระบองจากตำรวจ รวมทั้งมีการนำแผงรั้วเหล็กมาดันตำรวจ จนเวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่จึงหยุดฉีดน้ำ และทั้งสองฝ่ายถอยห่างออกจากกัน หลังจากนั้นตำรวจได้เปิดทางให้รถบรรทุกน้ำเข้ามาเติมน้ำใส่เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเตรียมปฏิบัติการอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนสงสัยว่า น้ำสีฟ้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ผสมสารอะไรไว้บ้างหรือไม่ ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 62 เพจ “เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” ได้เคยโพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำสีฟ้า ที่ทางการของฮ่องกงใช้ฉีดใส่ผู้ชุมนุม โดยได้ระบุข้อความว่า
“จากข่าววันเสาร์ที่ผ่านมา (31-08-2019) ที่ทางการของฮ่องกงได้มีการใช้งานสีย้อมสีน้ำเงินละลายน้ำแล้วฉีดใส่ผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ชุมนุมได้แบบที่เรียกว่าเป็นหลักฐานติดตัวอย่างน้อย 3-7 วันได้เลย จากลิงก์นี้นะครับ
ซึ่งแอดเห็นสีที่ละลายน้ำที่เป็นสีน้ำเงิน (Blue) / แต่คราบสีที่ติดบนผิวหนังที่เป็นสีฟ้าอมเขียว (Greenish blue) บนร่างกายของผู้ชุมนุมนั้น แอดคาดว่าสีที่ว่านั้นน่าจะคือ “เมธิลลีนบลู” (Methylene Blue) หรือไม่ก็สีในกลุ่มของ Azure A, B, C หรืออาจจะเป็นสีของ “Thionine” (Lauth's violet) ก็ได้นะครับ โดยสีทั้งหมดในซีรีส์นี้ต่างก็เป็นสีย้อมที่มีโครงสร้างส่วนให้สี (Chromophore) เป็น “ไธอะซีน” (Thiazines) ที่มีประจุบวก (cationic dyes) ที่สามารถติดบนวัสดุโปรตีน (Protein material) ทั้งผิวหนังคน เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงเส้นใยไหมและขนสัตว์ได้ดี แม้ที่อุณหภูมิห้องนะครับ และเมื่อทางการของฮ่องกงได้นำมาใช้ในการละลายน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมนั้น ก็สามารถที่จะทำให้สีนั้นสามารถติดบนผิวหนังได้ตามระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ตามแต่ความเข้มและความสามารถในการขัดล้างของผู้ที่โดนฉีดสีเหล่านี้ (ตามอายุของขี้ไคลและหนังกำพร้าที่เกาะอยู่บนผู้เปื้อนสี) นะครับ
หลายๆ คนก็คงสงสัยว่า อ้าว!! แล้วสีในกลุ่มนี้จะขัดไม่ออกเลยรึ?? สีกลุ่มนี้มีสภาพประจุบวกที่แรงมากๆ ที่สามารถติดบนวัสดุที่มีประจุลบทั้งๆ ที่มีคราบไขมัน รวมไปถึงเกิดพันธะไอออนิกกับหมู่ “คาร์บอกซิเลต” (Carboxylate : -COO⁻) ของโปรตีนได้ดีมาก จึงทำให้การชำระล้างด้วยสารซักล้างธรรมดานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ เว้นแต่ว่าจะขัดคราบขี้ไคลหรือหนังกำพร้าออกจนหมด ซึ่งก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ถ้าใครเคยทำ Gram staining หรือ biological staining ด้วยสีเหล่านี้ จะซาบซึ้งถึงความยากลำบากในการขัดออกมากๆ เลยนะครับ) แม้ว่าสีเหล่านี้จะสามารถถูกรีดักชัน (Reduction) ด้วยกลูโคสในสภาวะเบสแก่จน “สีหาย” ได้ แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักในบรรยากาศที่มีออกซิเจนนั้น สีก็จะกลับกลายมายิ้มโชว์ความฟ้าอย่างชัดเจนอยู่ดี (ลอง search keyword “Blue bottle experiment” ดูนะครับ) และสีกลุ่มนี้จะทนต่อสารฟอกขาวออกซิไดซ์ (oxidative bleaching agents) เช่น สารฟอกขาวคลอรีน และสารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์ได้ดีมากๆเลยนะครับ คือ ได้แต่รอให้เวลาผ่านไปจนเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังนั่นแหละครับ ท่านผู้ชม!!
หลายๆ คนก็คงสงสัยต่อว่า อ้าว แล้วสีกลุ่มนี้เมื่อรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดมลภาวะหรือไม่??
สีในกลุ่มนี้มีความคงทนต่อแสง (Light fastness) ที่ต่ำมากๆ เรียกว่าเพียงแค่ 1 เดือนเมื่อเจอแดดค่อนข้างจัดๆนี่ สีก็หายไปเยอะมาก (จึงไม่นิยมนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า เว้นแต่จะนำมาย้อมบนเส้นใยอะคริลิกที่จะอยู่นานสุดนะครับ) และยิ่งในสภาวะที่ละลายน้ำนั้นสีจะสลายตัวได้เร็วมากๆ และสามารถถูกดูดซับด้วยวัสดุดูดซับ (absorbent) ได้ง่ายมากๆ ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม สีในกลุ่มนี้จะสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิดมากๆ ก็อาจจะทำให้สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในท้องถิ่นธรรมชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปได้นะครับ และด้วยสีในกลุ่มนี้มีสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จึงนิยมใช้ในการรักษาปลาจาก “โรคที่เกิดจากพยาธิ “อิ๊ค” (Ichthyopthirius sp.)” ได้ดีเลยเชียว!! แต่แอดว่า ทางการฮ่องกงคงจะมีการรองรับผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของการใช้น้ำสีเหล่านี้ฉีดใส่ผู้ชุมนุมแล้วล่ะครับ (ซึ่งแอดจะขอกล่าวเฉพาะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ขอมองข้ามเรื่องสังคมและการเมืองไปนะครับ!!)
Note เพิ่มเติม : มีหลายท่านก็มองดูเหมือนจะเป็น “มาลาไคต์กรีน” (Malachite Green) ที่ให้สีเขียวอมฟ้า (Bluish green) ก็เป็นไปได้นะครับ เนื่องจาก Malachite Green นั้นก็เป็น Cationic dyes เช่นเดียวกัน และมีสมบัติเป็น Biological staining ได้ดีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีโครงสร้างส่วนให้สีเป็น Triarylmethane นะครับ ตรงนี้แอดจึงขอคาดเดาเพิ่มเป็นอีกหนึ่งตัวด้วยนะครับ”
จากข่าววันเสาร์ที่ผ่านมา (31-08-2019)...โพสต์โดย เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เมื่อ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2019