“พระมหาไพรวัลย์” ออกมาแสดงความคิดเห็น พร้อมให้ข้อคิดเกี่ยวกับกรณีที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในโลกโซเชียลฯ กรณีฆ่าคนในเกมเป็นบาปหรือไม่ เผยว่าต้องดูหลายปัจจัย ครอบครัว สังคมรอบข้าง เกมมีส่วนบ้างที่อาจจะส่งผลเชิงลบต่อพฤติกรรม และต้องอยู่ที่วุฒิภาวะ
จากกรณี พระศักดา สุนฺทโร ไปออกรายการเจาะใจ รายการประเภทสนทนาปกิณกะ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. โดยมี สัญญา คุณากร เป็นพิธีกร บางช่วงบางตอนได้มีการพูดถึงการเล่นเกมประเภทที่มีการฆ่าผู้อื่นในเกม ซึ่งในช่วงท้ายของรายการได้มีการถามพระศักดา สุนฺทโร ว่าการมีจิตคิดสังหารเป็นบาปแล้วหรือยัง หรือต้องไปฆ่าก่อนถึงจะบาป โดยพระศักดา สุนฺทโร ได้ตอบกลับว่า “คนมักจะถามว่าฆ่าคนในเกมบาปไหม อาตมากล้าตอบวันนี้เลย ยืนยันด้วยคำของพระพุทธเจ้าว่าการฆ่าคนในเกมก็มีเศษส่วนของบาปอยู่” จนกลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลฯ อยู่พอสมควร
ทั้งนี้ “บอย มิโนรุ” สตีมเมอร์ชื่อดังและโปรเพลเยอร์เกม playerunknown's battlegrounds หรือ PUBG เวอร์ชัน PC ได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “1st.MinORu” พร้อมกับระบุข้อความว่า “เรียบร้อย นรก ก็แค่ชื่อน้ำพริก”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ต.ค. พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร วัดสร้อยทอง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ไพรวัลย์ วรรณบุตร” เกี่ยวกับการฆ่าคนในเกมว่า
“การฆ่าในเกมเป็นบาปหรือไม่? อาตมาขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้หน่อยนะ เพราะมีโยมส่งข้อความเข้ามาถามกันมากเหลือเกิน อาตมาคิดว่ามีประเด็นที่เราควรจะต้องพูดกันให้ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า ในส่วนที่มีข้อถกเถียงกันในตอนนี้ว่า การฆ่าในเกมเป็นบาปนั้น เป็นบาปประเภทไหน และเป็นบาปด้วยเหตุผลอะไร เวลาพูดถึงการฆ่า เราก็จะถึงนึกถึงเรื่องของปาณาติบาตเป็นเรื่องแรกใช่ไหม และคนส่วนใหญ่ที่สงสัย ส่วนหนึ่งก็สงสัยว่า การฆ่าคน (แม้จะเกมก็ตาม) ถือเป็นปาณาติบาตหรือไม่ อันนี้ถ้าพูดตามหลักการทางศาสนา การฆ่าในเกม ไม่ถือว่าเป็นบาปด้วยข้อของปาณาติบาต เพราะองค์ประกอบของปาณาติบาตนั้นมีหลักการชัดเจนว่าจะต้องเป็นสัตว์มีชีวิตเท่านั้น ถ้าไม่ใช่สัตว์มีชีวิตก็ไม่ถือว่าเป็นปาณาติบาต ดังนั้นข้อถกเถียงในประเด็นนี้ก็ควรจะตกไป
ทีนี้มันก็มีเรื่องที่ควรจะต้องพูดกันต่อไปอีก เพราะเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการเล่นเกมที่มีความรุนแรง อย่างการปล้นฆ่าหรือการต่อสู้กัน เป็นต้น มันก็จะมีทัศนคติของคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเกมเหล่านี้นี่แหล่ะที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง เป็นการสั่งสมความคิดที่จะนำไปสู่ความรุนแรง
อาตมาเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่งนะ เขาบอกว่า มีงานวิจัยจำนวนมากกว่า 100 ฉบับ รวมถึงการศึกษาแบบ Meta-Analysis (เป็นงานวิจัยในลักษณะรวบรวมงานวิจัยอื่นจำนวนมากมาประเมินความน่าเชื่อถือ) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกมไม่มีความเกี่ยวข้องในการสร้างความรุนแรงในตัวผู้เล่น
ทีนี้ถ้าเราถือตามงานวิจัยที่ว่านี้ การจะสุรปหรือเหมารวมว่า การเล่นเกมที่มีความรุนแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสมความคิด (จิต) ที่เป็นอุกศล เป็นความเศร้าหมอง ซึ่งจะนำไปสู่ทุคติ (อันนี้พูดแบบเชิงศาสนามากๆ) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ คงต้องดูเป็นกรณีไป
อาตมานึกถึงข้อเท็จจริงของตัวเองนะ คือสมัยที่เป็นเด็ก อาตมาก็เคยเล่นเกมพวกนี้เป็นประจำ เกมโขมยรถ เกมยิงปืน อะไรพวกนี้ แต่มันก็เป็นเรื่องของช่วงวัยหนึ่ง อาตมาไม่ได้รู้สึกว่าเกมพวกนั้นมีผลอะไรกับตัวเองในตอนโตเลย คือโตแล้วก็เลิกเล่นไป บวชแล้วก็เลิกเล่นไป ไม่เคยมีความรู้สึกว่า เดินๆ ไปแล้ว อยากกระโดดขึ้นไปขโมยรถคนอื่นเพื่อขับเล่นเหมือนอย่างในเกม
ในความรู้สึกของอาตมา เกมมันก็เหมือนกับการเล่นอย่างอื่นๆ ที่เราเคยเล่นในสมัยที่เป็นเด็ก เช่น แบ่งข้างซุ่มยิงกัน ถ้าโดนยิงแล้วก็ต้องแกล้งตายอะไรแบบนี้ คือการเล่นในลักษณะนี้ ไม่ได้สร้างความคิดในการอยากฆ่าใครจริงๆ เมื่อตอนที่เราโตขึ้นมาแล้ว (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ)
ดังนั้น ในทัศนะของอาตมา เกมอาจมีส่วนบ้างไม่มากก็น้อย ที่ส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรม แต่นั่นก็เป็นเรื่องปลายเหตุ เรื่องของสภาพแวดล้อม และการเอาใจใส่ของผู้ปกครองด้วย เป็นเรื่องของช่วงวัย ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และบางกรณีที่ผู้เล่นมีวุฒิภาวะแล้ว การเล่นเกมส์เป็นเรื่องของอะไรที่สามารถแยกแยะได้อย่างไม่ยากเลย
อาตมามองแค่ประเด็นนี้นะ ไม่ได้คิดว่าจะต้องพูดถึงเรื่องบาปไม่บาปอะไร ถ้าจะมีใครทำอะไรที่ผิดบาป นั่นไม่ใช่เพราะว่า เกมทำให้เขาผิดบาป โลกของเกมทำให้เขาผิดบาป แต่เป็นเพราะทัศนคติและพฤติกรรมที่แสดงออกบนโลกแห่งความเป็นจริงของเขาเองต่างหาก” ซึ่งก็ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
เรียบร้อย นรก ก็แค่ชื่อน้ำพริก credit เอนเกมโพสต์โดย 1st.MinORu เมื่อ วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2020
การฆ่าในเกมส์ เป็นบาปหรือไม่ ?
อาตมาขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้หน่อยนะ เพราะมีโยมส่งข้อความเข้ามาถามกันมากเหลือเกิน...โพสต์โดยพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เมื่อ วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2020