“ผู้ประกอบการภูเก็ต” โอดรัฐสื่อสารกรณี “ทัวร์จีน” ผิดพลาด ไม่ฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต แถมซ้ำเติมผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวไทยตื่นตระหนก ยอดจองตกฮวบ ชง 4 ข้อเรียกร้องรัฐทบทวนมาตรการ ช่วยฟื้นท่องเที่ยวทั้งระบบ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.63 นายต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิฟอันดามัน จำกัด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนกลุ่มแรกเดินทางมาที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ปรากฎว่าวันดังกล่าวไม่ได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นปัญหาของการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงสาธารณสุข, ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน รวมถึงการสื่อสารกับประชาชนที่ไม่ชัดเจน ยิ่งเป็นการทำร้ายผู้ประกอบการ หรือหากจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาจริง ก็ต้องสื่อสารให้ดีพอว่าจะมีมาตรการกักตัวอย่างเข้มข้นตามมาตรการของ ศบค. หรือกลุ่มต่างชาติอื่นๆที่เดินทางเข้า กทม.ในช่วงที่ผ่านมา
“ครั้งนี้มีข่าวว่าวันที่ 8 ต.ค.จะมีเที่ยวบินมาทั้งที่ไม่มี และผู้มีอำนาจก็ให้สัมภาษณ์ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความตื่นตระหนก ยอดการจองที่พักและที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่ไม่ได้เยอะมากมาย ก็ยิ่งถูกยกเลิก รอบที่แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มา สมาคมท่องเที่ยวและโรงแรมต่างก็เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเป็นคนช่วย ไม่ใช่ซ้ำเติม มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะเตรียมพร้อมหรือคุยกันก่อนสัมภาษณ์ ได้โปรดประชุมและสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้มีอำนาจที่จะสื่อสาร แต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้ประกอบการที่ถูกยกเลิกการจอง” นายต่อพงษ์ กล่าว
นายต่อพงษ์ ยังได้เสนอ 4 ข้อเรียกร้องในการฟื้นฟูและบรรเทาความเดือดร้อนภาคการท่องเที่ยวทั้งใน จ.ภูเก็ต และทั้งระบบ ประกอบด้วย 1.ให้โครงการเที่ยวไปด้วยกัน ขยายการใช้จ่ายไม่ใช่แค่สายการบินและโรงแรม แต่ครอบคลุมถึงทัวร์บก ทะเล เรือเฟอร์รี่ ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงเกาะต่างๆ ด้วย รวมถึงรถเช่าต่างๆ ที่จะทำให้คนเที่ยวได้ถูกลง เมื่อดูจากยอดการใช้จ่ายของโครงการจังหวัดภูเก็ตอยู่อับดับ 4 ทั้งที่มีห้องพักมากที่สุด และบาดเจ็บมากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายเดินทางสูงกว่า
2.โครงการท่องเที่ยวของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่กำหนดให้เที่ยวข้ามจังหวัด มีรถรับส่ง ที่พัก และอาหาร ภายใต้งบประมาณ 2,000 บาททำให้ไม่สามารถไปเที่ยวไกลๆได้ จ.ภูเก็ต หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล จึงไม่ได้รับโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะมาใช้จ่าย ดังนั้นจึงควรทบทวนเงื่อนไขบางประการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก
3.ธุรกิจต่างๆ ตามเกาะปิดตัวลง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เช่น เกาะพีพี ดังนั้นหากเปิดอ่าวมาหยา หรือเกาะตาชัย โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน และกำหนดเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวไปค้างเกาะพีพี และใช้เรือหางยาวชาวบ้าน ซึ่งจะเปิดในลักษณะช่วงเวลาพิเศษให้คนไทยได้ชมความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติในช่วงโควิด-19 ปิดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ถือเป็นการใช้วิกฤตเป็นโอกาส ยกระดับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานมากขึ้น
4.หน่วยงานราชการทำงานบูรณาการให้มากขึ้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรลงมาฟังผลกระทบจริงให้เห็นปัญหาจริง หรือลงไปพักในที่ๆเป็นปัญหา จะได้รับทราบข้อเท็จจริงโดยตรง
“หากแก้ไขปัญหาตรงจริงได้เร็วก็ช่วยคนที่จะตายได้ง่าย อย่าแบ่งพรรคหรือกลัวเสียหน้าว่านโยบายที่ออกมาดีแล้วแต่ไม่ปรับปรุง” นายต่อพงษ์ ระบุ.