xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานคนเสี่ยงตายเพื่อความสนุกของคนอื่น! และยังตายได้หลายๆครั้ง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



พระเอกในหนังนั้นตายไม่ได้ ถ้าพระเอกตายเมื่อไหร่หนังก็ต้องจบ ทั้งแฟนหนังไทยยังไม่ชอบดูหนังที่พระเอกตาย พระเอกหนังไทยจึงแทบจะไม่ได้แสดงบทตายกันเลย เป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน ผู้ร้ายมาเป็นร้อยพระเอกก็ยังไม่ตาย
แต่มีนักแสดงอีกประเภทหนึ่งที่เล่นเรื่องไหนมักตายเรื่องนั้นไม่ค่อยรอด ตายเพื่อให้พระเอกเก่ง บางทีเรื่องเดียวยังตายได้ตั้งหลายครั้ง เรียกว่าถนัดบทตายโดยเฉพาะ และใคร “ตายได้สวย” ก็จะมีงานไม่ขาด

นักแสดงประเภทนี้ก็คือ ตัวแสดงประกอบที่เรียกกันว่า “สตั้น”

จึงขอชวนคุณไปพบกับสตั้นแอนทิกของหนังไทยคนหนึ่ง ซึ่งเคยตายมาแล้วเป็นร้อยๆครั้ง เพราะเล่นหนังมามากเรื่องกว่าพระเอกดังทุกคน วงการหนังไทยและฮ่องกงรู้จักเขาดีในนาม “โตสตั้น” แต่เขาตั้งชื่อตัวเองไว้อ่อนหวานกว่านั้นว่า “โต ยอดรัก”

โตเริ่มเข้าสู่วงการหนังมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ ขณะที่มีอายุ ๑๕ ปี เรียนอยู่โรงเรียนทวีธาภิเษก เพื่อนชวนมาเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำในกองถ่ายหนัง จึงติดใจงานกระทบไหล่ดาราจนเลิกไปโรงเรียนเลย ต่อมาขยับเข้าแสดงเป็นตัวประกอบ และติดใจบทสตั้นว่ามีบทถึงอกถึงใจดี หางานง่ายกว่าตัวประกอบประเภทอื่น เพราะหนังไทยถ่ายทำหนังบู๊กันมาก ทีมสตั้นจึงมีงานไม่ขาด

พระเอกดังๆนั้นโตประกบมาแล้วทุกคน หรือจะเรียกว่า “รับมือรับตีน” พระเอกมาแล้วทุกคน รวมทั้งพระเอกต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายในเมืองไทย แม้แต่ โตชิโร มิฟูเน่ พระเอกดังสุดยอดของญี่ปุ่น โต ยอดรักก็เคยประฝีมือมาแล้วตอนเข้ามาถ่าย “พรานเพชฌฆาต” คู่กับไชยา สุริยัน ผู้กำกับดังๆก็เคยกำกับโตมาเช่นกัน อย่าง จอห์น วู ผู้กำกับดังของฮอลลีวูด ตอนที่ตอนยกกองถ่ายฮ่องกงมาปักหลักถ่าย “Operation Sampton” อยู่ที่สระบุรีหลายเดือนเมื่อปี ๒๕๒๔ ก็เคยชื่นชอบบทตายของโตมาแล้ว
หนังฮ่องกงที่ยกมาถ่ายทำในเมืองไทยนั้น จะต้องมีทีมงานทุกประเภทมาครบ รวมทั้งทีมสตั้น ตามกฎกติกาของสมาคมภาพยนตร์ฮ่องกง แต่ก็เอามาพอเป็นพิธีตามกฎ แล้วใช้สตั้นไทยเข้าสมทบ สตั้นฮ่องกงนั้นฝีมือไม่ได้เหนือกว่าสตั้นไทย ทั้งใจยังสู้กันไม่ได้ อย่างในหนังของ จอห์น วู ที่เข้ามาถ่ายครั้งนั้น ต้องการให้ไฟลุกท่วมตัว ๓ คน สตั้นฮ่องกงไม่ยอมเล่น อ้างว่าอันตรายเกินข้อตกลง แต่สตั้นไทยใจสู้ เมื่อผู้กำกับรับรองความปลอดภัยว่านอกจากจะมีเสื้อกันไฟแล้ว ยังมีเยลกันความร้อนชโลมทั้งตัวด้วย เลยอยากทดลองเทคนิคนี้โดยไม่ได้พูดเรื่องค่าตัวเลย และถ่ายทำไปได้ด้วยความเรียบร้อย ตอนนั้นค่าตัวสตั้นทั่วไปวันละ ๓๐๐ บาท สตั้นฝีมือดีอย่างโตได้ ๕๐๐ บาท ถ้าต้องกระโดดจากที่สูงเสี่ยงหน่อยก็จะได้ถึง ๗๐๐-๑,๐๐๐บาท ฉากไฟไหม้นี้ จอห์น วู สั่งจ่ายให้คนละ ๗,๐๐๐ บาท สบายสตั้นไทยไป

ฉากเสี่ยงชีวิตแบบนี้โตก็เคยอาสามาแล้วเมื่อตอนไปถ่ายหนังไทยเรื่อง “มือเหนือเมฆ” ที่ภูเก็ต มีฉากรถตำรวจที่ติดตามผู้ร้ายถูกยิงถังน้ำมันระเบิดไฟลุกท่วม พุ่งจากสะพานลงทะเล สตั้นจากทีมรถแข่งเรียกค่าตัวคัทนี้ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และขอประกันชีวิตให้ด้วย ผู้สร้างไม่สู้ โตเลยรับอาสาขับเองเพื่อให้หนังปิดกล้องได้ เขากดระเบิดเองจากในรถจนไฟลุกท่วม แล้วขับพุ่งจากสะพานลงทะเล คนขับกับรถจมไปด้วยกัน จากนั้นจึงตั้งสติดำน้ำออกมา คัทนี้โตได้ค่าตัวแถมมาอีก ๕,๐๐๐บาท ห่างไกลกับ ๑๐๐,๐๐๐ เยอะ

ผู้กำกับหนังต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทยโดยเฉพาะฮ่องกง จะนิยมสตั้นไทยว่าใจถึง ให้ล้มดิ้นตายบนหินจนถลอกปอกเปิกก็ไม่เกี่ยง หนังที่ยกกองเข้ามาจึงใช้สตั้นไทยทุกเรื่อง ส่วนด้านอัธยาศัยน้ำใจไมตรี สตั้นไทยก็เข้ากับสตั้นฮ่องกงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพาไปเริงราตรี จึงถ่ายทอดวิทยายุทธของฮ่องกงมาได้ไม่น้อย เช่นการใช้สลิงชักรอกทำตัวเบา หรือที่รองตัวตอนตกจากที่สูง สมัยหนัง ๑๖ มม.ไทยเราใช้กระสอบใส่แกลบรองรับ ซึ่งก็ช่วยได้ไม่เท่าไหร่ แต่เทคนิคฮ่องกงใช้กล่องกระดาษ ขนาดกล่องเบียร์หรือใหญ่กว่าซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น ขึ้นกับความสูงที่จะต้องรับ แล้วทับด้วยเบาะฟองน้ำประเภทที่นอนปิกนิกอีกที ถ้ากล้องต้องรับภาพลงถึงพื้น ก็จะขุดหลุมฝังกล่องลงไปให้เสมอพื้น การยุบตัวของกล่องจะช่วยผ่อนแรงกระแทกได้อย่างดี

หนังฮ่องกงนั้นจอมหลอก อาศัยตัดต่อไวจึงหลอกคนดูได้ง่าย ถ้าสตั้นคนใดมีท่าตายสวย ผู้กำกับก็มักจะเรียกให้มาตายอีก โดยคิดว่าความเร็วของหนังจะทำให้คนดูจำหน้าไม่ได้ แต่สตั้นไทยที่เล่นหนังเกือบทุกเรื่องอย่าง โต ยอดรัก คนดูคุ้นหน้า เห็นแค่แว๊บๆก็จำได้ จึงร้องว่า

“อ้าว ไอ้โตมันตายแล้วนี่หว่า มาตายอีกแล้ว”

แหล่งหางานของตัวประกอบหรือสตั้นรุ่นก่อนจะอยู่แถวเฉลิมกรุง หรือที่เรียกกันว่า “มะขามสแควร์” ใครว่างก็มาเกร่แถวนี้ คนหาตัวประกอบ หาสตั้น ก็จะมาที่นี่ บางทีมีงานด่วนก็เอารถมารับได้เลยมักไม่พลาด แต่ต่อมาก็ใช้มือถือกันทั้งนั้น

สตั้นแอนทิกรุ่น โต ยอดรัก ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว แต่โชคดีที่ตายด้วยโรคชราหรือเจ็บไข้ ไม่มีใครตายด้วยอุบัติเหตุจากการถ่ายทำ โตเองก็โชคดีที่ไม่เคยเจ็บหนักถึงเข้าโรงพยาบาล แต่พออายุขึ้นเลข ๖ รับมือรับตีนพระเอกไม่ไหว เลยหันมาเล่นบทชีวิต จากประสบการณ์ในการแสดงมานาน จึงยังพอมีงานเป็นระยะ

จากเด็กเสิร์ฟน้ำในกองถ่ายเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จนมาเป็นตัวประกอบแก่ๆในบั้นปลายชีวิต โตยังมีความสุขกับงานแสดง และมีงานพิเศษที่ถือเป็นหน้าที่ คือต้องไปรำมวยในงานศพของนักแสดงทุกคน โดยไม่ขอรับรางวัลใดๆ
“แต่พอถึงงานของผม ไม่รู้จะมีใครมารำให้หรือเปล่าก็ไม่รู้” สตั้นแอนทิกรำพึงเสียงอ่อยๆ

โต ยอดรัก
กำลังโหลดความคิดเห็น