เกิดประเด็นดรามา หลังมีชาวเน็ตรายหนึ่ง มองว่า การใช้คำว่าหอม-คือลือ เป็นคำที่คุกคามทางเพศ เป็นการกล่าวถึงลักษณะจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิง ส่วนคำว่า คือลือ นั้นไม่มีความหมายในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน
จากกรณีเกิดประเด็นดรามาในโซเซียลมีเดียเรื่องการใช้คำว่าหอม-คือลือ โดยมีชาวเน็ตรายหนึ่งมองว่าคำว่า หอม และคำว่า คือลือ ที่เราใช้พูดในชีวิตประจำวัน กลับมองว่าส่อไปทางคุกคามทางเพศ ซึ่งคำว่า “หอม” ถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นตัวย่อของคำหยาบคายคำหนึ่งที่เป็นการกล่าวถึงลักษณะจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิง
ล่าสุด วันนี้ (8 ต.ค.) เพจ “Contrast” โดยออกมาโพสต์อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ โดยระบุว่า “อันนี้สาระ จากที่ได้ไปสืบค้นมา การคอมเมนต์ว่า ห อ ม เป็นวัฒนธรรมการพิมพ์มาจากชาวงัต เช่น Anangutmai โดยทุกๆ คำที่อยากจะเน้น เช่น คุ ณ ภ า พ, ส ว ย ง า ม (เป็นความ aesthetic ของการพิมพ์)
ในขณะที่ผู้คนถกเถียงกันก่อนหน้านี้ว่าสมควรหรือไม่ มันคุกคามทางเพศหรือไม่? เนื่องจากบางคนไปพบเห็นคำนี้ และไม่สบายใจเอามากๆ (พบเห็นหมายถึง มีบุคคลที่ 1 พิมพ์คอมเมนต์ถึงบุคคลที่ 2 แต่ความไม่สบายใจเกิดขึ้นกับบุคคลที่ 3 จึงเกิดเรื่อง)
พอสืบค้นๆ ไปว่า ทำไมจึงแปลกันว่า .....
ก็ค้นพบการแปลนี้ในกลุ่มทวีตกลุ่มหนึ่ง
สรุปว่า คำว่า “ห อ ม” คิดค้นโดยกลุ่มหนึ่งแต่ถูกแปลโดยคนอีกกลุ่ม (ก็คิดในใจ...มันก็ดูไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่นะ) หากเราจะอิงคำแปลจากผู้ที่ไม่ได้คิดค้นคำนี้ขึ้นมา
โดยกลุ่มที่คิดค้นคำนี้ขึ้นมา แทบทุกคนออกแนวสงสัย และเกาหัว มึนงงว่า : มันแปลออกมาแบบนั้นได้ยังไงงงง!? ตกลงใครผิด คนพิมพ์ หรือคนแปล?”
อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้วนั้น หอม แปลว่า จูบ, ได้รับกลิ่นดี, มีกลิ่นดี ตรงข้ามกับเหม็น
ส่วนคำว่า คือลือ นั้น ไม่มีความหมายพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า สมคำร่ำลือ ซึ่งถูกนำมาใช้คอมเมนต์รูปผู้หญิงในเชิงคุกคามทางเพศ หรืออาจจะมีความหมายตามภาษาถิ่นอีสานอย่างคำว่า อือลือ ที่มีความหมายว่าพองโต มักจะถูกใช้ในการวิจารณ์หน้าอกของผู้หญิงนั่นเอง