xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เผยเห็นสัญญาณดี SMEs ไทยไปรอด แจงพร้อมช่วยธุรกิจที่รู้จักปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรรมการ บสย. เผยเห็นสัญญาณดี SMEs ไทยน่าจะไปรอด จากตัวเลขขอสละสิทธิ์พักชำระหนี้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แจงพร้อมช่วยธุรกิจที่รู้จักปรับตัว แม้อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงมากก็ตาม



วันที่ 5 ต.ค. 2563 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “แหล่งเงินทุน และ ทางรอด SMEs ไทย ในยุคโควิด”

โดย ดร.รักษ์ กล่าวในช่วงหนึ่งว่า สถานการณ์ SMEs ไทย ตอนนี้มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ มีสัญญาณบางอย่างกลับมา มีความน่าจะเป็นว่าเราน่าจะรอดไปด้วยกันได้ อันนึงคือตัวเลขพักชำระหนี้ มี SMEs ขอสละสิทธิ์ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเขาเริ่มรอดแล้ว คนที่ปรับตัวได้เริ่มกลับมาแข็งแรง

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า บสย.เรามีหน้าที่ นอกจากเป็นนายประกันระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นผู้ทำลายกำแพงที่เป็นข้อจำกัดให้ทั้งธนาคารและผู้ประกอบการ เช่น กำแพงเรื่องเวลาการชำระหนี้ที่สั้นเกินไป อย่างซอฟต์โลนมีระยะชำระหนี้ที่ 24 เดือน สมมติหนี้ 10 ล้าน จ่ายใน 24 เดือน ถือว่าหนักมาก นี่คือข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน เราก็เข้าไปทุบกำแพง ช่วยให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้สูงสุด 10 ปี

ส่วนปัจจัยในการเลือกประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจไหน ประเภทธุรกิจก็เป็นหนึ่งปัจจัย แต่วันนี้มีผู้เล่น 3 คน คือ ลูกค้า ธนาคาร และ บสย. ต้องทำให้ทุกคนพร้อมไปด้วยกันถึงจะไปได้ ธุรกิจไหนที่ธนาคาร และ บสย.ไม่อยากไป คือ ธุรกิจที่ไม่ยอมปรับตัว ต่อให้เป็นธุรกิจเปราะบางมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้ อาจสุ่มเสี่ยงมาก แต่ความเปราะบางเป็นภาวะชั่วคราว เมื่อปลดล็อกประเทศก็เริ่มปรับตัวได้ วงเงินช่วยฟื้นการท่องเที่ยว ปล่อยไปเกือบหมื่นล้านแล้ว ถามว่ามีความเสี่ยงไหม เสี่ยง แต่เราเห็นความหวัง ฉะนั้น 3 คนพร้อมไปด้วยกัน

“ธุรกิจที่ไม่ยอมปรับตัว จะหารายได้จากธุรกรรมเดิม ลูกค้ากลุ่มเดิม ยืนบน Business Model เดิม ในโลกที่ไม่มีธุรกรรมนั้นอีกต่อไป นั่นคือธุรกิจที่ทั้งสถาบันการเงิน และ บสย. ปฏิเสธ แรกๆ ตอนนิวนอร์มัลมีเยอะ แต่พอนาวนอร์มัล ทุกคนเริ่มเข้าใจการปรับตัวแล้ว สิ่งมีชีวิตที่จะไปต่อได้ ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด แต่คือคนที่ปรับตัวได้ไวที่สุด” ดร.รักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น