ประธานศาลฎีกา เผยความสำเร็จโครงการ “ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด” ช่วยคนจนได้ประกันตัวออกจากคุก แจงคุกไม่ได้มีไว้ขังแค่คนจน เพียงแต่คนรวยมักทำผิดในคดีซับซ้อนจับตัวได้ยาก อย่างฟอกเงิน-ปั่นหุ้น ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยยังขาดความชำนาญเฉพาะทาง
วันที่ 29 ก.ย. 2563 นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เปิดวิสัยทัศน์ ประธานศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ยุติธรรมไม่มีวันหยุด!”
โดย นายไสลเกษ กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา โครงการความยุติธรรมไม่มีวันหยุด ที่ได้ดำเนินการไป เช่น เมื่อก่อนจำเลย หรือผู้ต้องหาถูกจับวันศุกร์ จะไม่สามารถประกันตัวได้ในวันหยุด มันเสียโอกาส ถูกคุมขังโดยไม่จำเป็น ทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง เมื่อตนรับตำแหน่งก็เลยนำเรื่องนี้มากำหนดนโยบายข้อแรก ศาลต้องเปิดพิจารณาคำร้องขอประกันทุกวันไม่มีวันหนยุด แต่มาตรฐานการพิจารณายังคงเดิม เช่น เป็นคดีไม่ร้ายแรง บุคคลนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสังคม ไม่ไปทำลายหลักฐาน หรือคุกคามเหยื่อ
นอกจากนั้น ยังมีโจทย์ทำยังไงให้ประกันตัวง่ายขึ้นอีก สมัยก่อนต้องทำคำร้องเข้ามา ต้องหาหลักทรัพย์เพื่อประกอบคำร้อง คนยากจนต้องไปเช่าโฉนด เช่าหลักทรัพย์ แล้วก็ไม่รู้ว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือเปล่า ปัจจุบันให้มีคำร้องให้ใบเดียว กรอกข้อมูลพื้นฐาน ความประสงค์ต้องการประกันตัว มีหลักทรัพย์หรือไม่มี ยังไม่ต้องแสดง สามารถปล่อยตัวก่อนแล้วให้ไปหาหลักทรัพย์มาภายหลัง หรือปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์เลย รวมทั้งอาจมีการให้ใส่กำไล EM อีกส่วนที่ทำควบคู่กัน คือ มีการให้ทำแบบประเมินว่ามีโอกาสหนีมากน้อยเท่าไหร่
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า ศาลยังได้ทำงานเชิงรุก ไปถามผู้ต้องขังในคุกว่าทำไมไม่ประกันตัวทั้งที่เป็นคดีไม่ร้ายแรง ก็ได้ข้อมูลหลากหลาย มีทั้งไม่รู้ว่ามีสิทธิประกันตัว เหลือเชื่อว่าเป็นไปได้ ไม่มีหลักทรัพย์ หรือมีไม่มาก ยอมติดคุกเพื่อเก็บเงินไว้ดีกว่า เราก็เอาคำร้องให้เขากรอก เอาแบบประเมินความเสี่ยงให้ทำ ศาลก็ประเมินออกมา ก็สามารถสั่งได้ในวันนั้นเลย แล้วเปอร์เซ็นต์การหลบนี้ตอนนี้ต่ำมากๆ ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นโครงการนี้เป็นที่น่าพอใจ
ส่วนคำกล่าวที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน นายไสลเกษ กล่าวว่า ตัวเลขสถิติทั่วโลก คนที่ถูกจับติดคุกส่วนมากรายได้ต่ำ ซึ่งคนที่ทำความผิดส่วนใหญ่เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ อย่างลักทรพย์ ทะเลาะกัน เป็นเรื่องของวัฒนธรรมคนในองค์กร ส่วนคนมีตังค์มักมีการศึกษา ก็จะไม่ผิดคดีเล็กๆ น้อยๆ แต่ความผิดจะซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งจับยาก เลยไม่แปลกที่บุคคลมีฐานะไม่ถูกจับตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม ก็ถ้าพยายามไปจับคนผิดในคดีฟอกเงิน ปั่นหุ้น แล้วมาดูว่าคุกมีไว้ขังคนจนจริงไหม ทัศนคติอาจเปลี่ยนไป
เราต้องเปลี่ยนต้นน้ำของกระบวนการยุติธรม คือ ตำรวจ ให้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือแม้แต่ศาล ต้องยกระดับให้มีความรู้ควบคู่กันไป ให้มีแผนกพิเศษจัดการคดีเหล่านี้ คนรวยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลองจับคนรวยมาสิ พิสูจน์ว่าศาลเลือกปฏิบัติหรือเปล่า