แม้ภาพจำของสังคมจะมองว่า กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผู้ครอบครองและผู้เสพ มีโทษทั้งจำและปรับ แต่ประโยชน์ของกัญชาที่นำมาใช้รักษาอาการต่างๆ แล้วได้ผลดี ทำให้มีความพยายามผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วย ให้กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น และลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
กัญชาแต่ละสายพันธุ์จะให้สารที่แตกต่างกัน ได้แก่ สาร CBD ที่บรรเทาอาการเจ็บปวดโดยไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและสมอง กับสาร THC ที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาทโดยตรง ที่ผ่านมา แพทยสภา ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดกลุ่มโรคที่สามารถใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาอาการต่างๆ ตามหลักทางวิชาการ
จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นเมืองต้นแบบที่ผลักดันการปลูกและผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตามนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” อย่างจริงจัง นับตั้งแต่การจัดงานมหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ “พันธุ์บุรีรัมย์” เมื่อปี 2562 กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กระทั่งเกิดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรัฐ กับวิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยารักษาโรคต่างๆ
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง (ผอ.รพ.คูเมือง) จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของ “บุรีรัมย์โมเดล” มาจากนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะที่นี่มีโรงผลิตยาสมุนไพร ที่ผ่านมาตรฐาน WHO GMP แห่งเดียวในจังหวัด จึงรับมอบภารกิจผลิตกัญชาทางการแพทย์
ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ในด้านวิชาการและการเขียนเอกสารการปลูก เพื่อยื่นต่อกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเนื่องจากทดลองวิจัยกัญชาทางการแพทย์เป็นแห่งแรก จึงได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยรังสิต ให้องค์ความรู้การสกัดยา และศึกษาดูงานหลายครั้ง
จากการจัดงานพันธุ์บุรีรัมย์เมื่อปี 2562 พบว่า นอกจากจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 5,000 คนแล้ว ยังได้เห็นผู้ป่วยบางรายเป็นโรคหลายโรค แล้วใช้กัญชาใต้ดิน โดยไม่ทราบถึงความรุนแรงของสารที่อยู่ในกัญชา และไม่รู้ว่ากัญชามีสารปนเปื้อนหรือไม่ อีกทั้งคนไข้บางรายเป็นโรคที่แพทย์ระบุว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ปัจจุบันยังคงใช้กัญชาใต้ดินรักษาอาการ
“หน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นงานหลักที่ดูแลประชาชน แต่พบว่ากัญชาใต้ดิน มีความไม่ปลอดภัย ถ้าเราจะช่วยประชาชน ก็จะให้ขึ้นมาอยู่บนดิน ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนดีกว่า โดยการให้กัญชาอยู่ในมือของแพทย์” นพ.กิตติ กล่าว
หลักการปลูกกัญชาของที่นี่ จะต้องเข้าใจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แม้ประชาชนจะมีความต้องการปลูกกัญชาเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาก็คือ ปลายน้ำจะไปไหน จึงใช้วิธีเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) เริ่มต้นจากทางโรงพยาบาลจะค้นหาผู้ป่วย ว่า พร้อมจะจ่ายยากัญชาทั้งน้ำมันกัญชาและยาแผนไทยเท่าไหร่ แล้วคำนวณปริมาณการใช้
โดยประเมินว่า จะใช้ดอกสด และดอกแห้งเท่าใด จากนั้นทางโรงพยาบาลจะแจ้งผู้ปลูกกัญชาให้ปลูกตามจำนวนที่สั่งจอง ก่อนที่จะส่งให้โรงพยาบาลนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา หรือแปรรูปเป็นยาแผนไทยชนิดแคปซูล
อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากกัญชามีหลายสายพันธุ์ จึงให้สารสำคัญ คือ CBD และ THC แตกต่างกัน รวมทั้งหากปลูกกัญชาในพื้นที่เปิดโล่งอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มีโอกาสจะเจอศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เชื้อรา และหากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง ก็จะเกิดสารปนเปื้อนในกัญชา มีผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยอีกด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชยาเสพติด การขนย้ายกัญชาจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกำกับตลอดเส้นทาง ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือกับ สภ.คูเมือง เฝ้าระวังตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเมล็ด การทำลาย ซึ่งจะมีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกมาตรวจสอบทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ระยะแรกที่มีการสกัดเพื่อดูสารสำคัญก่อนทำลายทิ้ง เพื่อไม่ให้หลุดรอดออกสู่ภายนอก
ระยะแรก รพ.คูเมือง ได้ปลูกกัญชา 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ชาลอตแองเจิล (Charlotte Angle) และเซนสิ (Sensi #34) เพื่อวิเคราะห์หาสารสำคัญในสายพันธุ์กัญชา และหาวิธีสกัดที่เหมาะสม โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มอบกัญชาเพื่อทดลองปลูกอีก 2 สายพันธุ์ คือ หางกระรอก และ ตะนาวศรี จากนั้นจึงได้วางแผนกระจายไปยังวิสาหกิจชุมชนต่างๆ
ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์มี 13 โรงพยาบาล จับคู่กับ 12 วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา โดยได้รับอนุญาตแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ รพ.คูเมือง กับวิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน, รพ.ลำปลายมาศ กับ รพ.หนองหงส์ กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรนอกกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน และ รพ.ละหานทราย กับวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอินทรีย์เพื่อสุขภาพละหานทราย ที่เหลือกำลังดำเนินการขออนุญาต
อีกด้านหนึ่ง รพ.คูเมือง ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา นำกัญชาที่ปลูกตามโครงการเอ็มโอยู ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มาสกัดเป็นยาแผนไทย 9 ประเภท อาทิ ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ยาแก้ลมเนาวนารียาโย ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาไพสาลี และยาอไภยสาลี เป็นต้น
ขณะนี้อยู่ระหว่างทำวิจัยครีมกัญชาที่มีสาร CBD สูง รักษาโรคสะเก็ดเงิน โดบได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และ อย. ถ้าผ่านการอนุมัติจะเริ่มเก็บเคสจากโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลคูเมือง คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2564 ถ้าได้ผลดีจะทำเรื่องขออนุญาตกับ อย. เพื่อผลิตต่อไป
นพ.กิตติ กล่าวว่า รพ.คูเมือง เริ่มมีความรู้เรื่องการสกัดกัญชาแต่ละตัวให้ได้สารสำคัญ โดยได้เดินตามองค์การเภสัชกรรม และ รพ.อภัยภูเบศร ผลิตยาตำรับแผนปัจจุบันที่คล้ายกัน มีสัดส่วนเท่ากัน เพื่อให้ง่ายต่อผู้ป่วย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้ยาตำรับเดียวกันได้สะดวก โดยที่ความเข้มข้นตัวยาเท่ากัน ซึ่งแต่ละสารของยาแผนปัจจุบันจะรักษาโรคที่ต่างกัน
“ตำรับยาของแต่ละสถาบันจะมีสูตรต่างกัน ของ รพ.คูเมือง เปิดตัวน้ำมันกัญชาที่มีสาร CBD สูง เนื่องจากสาร THC ใช้ได้เพียงแค่ 3 โรคหลัก ที่กรมการแพทย์อนุญาตให้ใช้ แต่กลุ่มโรคที่ต้องใช้สาร CBD สูงยังไม่มีคนทำ จึงพยายามหาตัวยาอื่นให้แพทย์แผนปัจจุบันใช้ ซึ่งโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางต้องการใช้ยารักษาโรคลมชัก ขณะที่กลุ่มโรคซึ่งใช้สาร CBD และ THC ในอัตราส่วน 1:1 ขณะนี้ รพ.คูเมืองได้นำสายพันธุ์ผลิตยาให้กลุ่มคนไข้ เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย”
ปัจจุบัน รพ.คูเมือง ผลิตยาจากกัญชาทั้งตำรับยาแผนปัจจุบัน และตำรับยาแผนไทย ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง โดยได้รับความร่วมมือกับ ม.รังสิต และ ม.นเรศวร ส่วนระยะที่สองกำลังดำเนินการผลิต โดยใช้วัตถดิบจาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี เป็นตำรับยาแผนไทยทั้งหมด 9 ประเภท
นอกจากนี้ ยังได้เปิดคลีนิกกัญชาทางการแพทย์ทุกโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ 23 แห่ง โดยที่ รพ.คูเมือง แพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย และพยาบาลทุกคนผ่านหลักสูตรและผ่านการรับรองให้จ่ายยาได้ ซึ่งจะมีแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ทำงานร่วมกัน ช่วยกันคัดกรองกลุ่มเสี่ยง มีการเจาะเลือด ตอบแบบสอบถาม
โดย 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้มารับบริการคลีนิคกัญชา 352 ราย ได้รับน้ำมันกัญชา 276 ราย รักษาอาการนอนไม่หลับมากที่สุด รองลงมาคือโรคมะเร็ง อาการปวด ไมเกรน สันนิบาตลูกนก (โรคพาร์กินสัน) ภูมิแพ้ เบื่ออาหาร มีเพียงบางรายไม่ได้รับยา เพราะตัวยาแผนปัจจุบันรักษาดีกว่า ยาบางตัวมีปฏิกิริยาข้างเคียงกับกัญชา บางคนมีปัญหาตับ ไต ซึ่งเป็นข้อห้ามใช้
ขั้นตอนการรับบริการ เริ่มจากลงทะเบียนผู้ป่วย ทำการวัดสัญญาณชีพ คัดกรอง ซักประวัติ พบกับเภสัชกรเบื้องต้น จากนั้นจึงพบกับแพทย์แผนไทย ชี้ขาดว่า อาการนั้นเหมาะกับการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ ก่อนที่จะรับน้ำมันกัญชา หรือยาสมุนไพร บางรายจะให้สังเกตอาการเพื่อที่ดูว่าหลังทดลองใช้นั้นมีผลข้างเคียงหรือไม่ ก่อนจะให้กลับบ้านได้
กว่าจะมาเป็นกัญชาทางการแพทย์ของ รพ.คูเมือง นั้นต้องผ่านหลายขั้นตอน เริ่มจากต้นน้ำ ที่บ้านโคกสะอาด ต.หนองขมาร อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ตั้งของ โครงการปลูกสมุนไพรกัญชาแบบออร์แกนิกส์ เพื่อนำมารักษาผู้ป่วย สำหรับ รพ.คูเมือง โดย วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพ ลา เพลิน เพื่อชุมชน ซึ่งได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2562
ประกอบด้วย ห้องปลูกพืชควบคุม 3 ห้อง ปลูกต้นกัญชาสายพันธุ์ชาลอต แองเจิล รวม 60 ต้น ปรับสภาพแวดล้อมโดยให้แสงสว่างด้วยหลอดแอลอีดี เปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลมให้อากาศไหลเวียน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากบุคคลภายนอก และเนื่องจากเป็นสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จึงต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
น.ส.ธนพร พรสง่ากุล นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์เคมี วิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน เปิดเผยว่า จุดที่ยากที่สุดในการปลูกกัญชา คือ ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับสายพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับที่นี่ เนื่องจากแต่เดิมวิสาหกิจชุมชนเพ ลา เพลิน แห่งนี้ เคยปลูกพืชสมุนไพร แต่ไม่เคยปลูกกัญชามาก่อน จึงต้องเรียนรู้กันใหม่
โดยกัญชาสายพันธุ์ชาลอต แองเจิลนั้น ต้นกำเนิดมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ผ่านการนิรโทษกรรมก่อนหน้านี้ มีคุณสมบัติสำคัญ คือ การผลิตสาร CBD ที่ใช้ในการผลิตยา การจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นการจำลองบรรยากาศเมื่อปลูกกลางแจ้ง ซึ่งสายพันธุ์นี้จะชอบอากาศเย็น โดยจัดช่วงแสงสีแดงและสีน้ำเงินร่วมกัน เพื่อสังเคราะห์แสงส่วนใบและดอก
ส่วนการใช้พัดลมนั้น จะช่วยในการไหลเวียนอากาศภายในห้อง เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะปล่อยลงสู่ด้านล่าง พัดลมจะช่วยให้ก๊าซตีขึ้นไปด้านบนแล้วช่วยในการสังเคราะห์แสงอีกที การปลูกกัญชาแต่ละต้นจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก่อนเก็บผลผลิตส่งให้ รพ.คูเมือง ต่อไป โดยคาดหวังว่าผลผลิตที่ได้ จะมีสาร CBD สูงขึ้น และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น
“เดิม รพ.คูเมือง มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ แต่โรงพยาบาลไม่ได้มีภารกิจในการปลูกกัญชา จึงจับคู่กับวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ซึ่งที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และส่งต่อความรู้ต่างๆ ในเรื่องของการเพาะปลูก การขอใบอนุญาตให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ จะได้สามารถไปขออนุญาตเพาะปลูกได้ และทำให้โรงพยาบาลมีตัวยาใช้ให้กับผู้ป่วย”
อีกด้านหนึ่ง ที่โรงผลิตยาสมุนไพร รพ.คูเมือง ถือเป็นกลางน้ำและปลายน้ำ ทำหน้าที่ผลิตน้ำมันกัญชาและยาสมุนไพร โดยเริ่มจากนำกัญชาที่ตรวจรับเรียบร้อยแล้ว มาทำความสะอาด ตากแห้ง เก็บไว้ที่ห้องเก็บวัตถุดิบ การผลิตยาแผนไทย จะนำใบหรือดอกกัญชาเข้าห้องอบ บดให้เป็นผงสีเขียว เพื่อนำไปผสมสมุนไพร บรรจุเป็นยาแคปซูลตำรับต่างๆ
ส่วนการผลิตน้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้นสูตร CBD นั้น จะผลิตโดยนำช่อดอกกัญชามาอบแห้ง จากนั้นนำมาหมักผ่านตัวทำละลาย คือ เอทิลแอลกอฮอล์ แล้วสกัดออกมาเป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องผ่านการควบคุมคุณภาพ เช่น สารสกัดจากกัญชาได้ค่าตามมาตรฐานหรือไม่ และความเข้มข้นในการผสมกับตัวทำละลายมีมากน้อยแค่ไหน
ที่นี่จะผลิตยาจากกัญชาทั้งตำรับแผนปัจจุบัน คือ น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น สูตร CBD ให้โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้มีการส่งมอบผ่าน สสจ.บุรีรัมย์ก่อนหน้านี้ และยาตำรับแผนไทยจะผลิตให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรักษาตามหลักแพทย์แผนไทยต่อไป
แม้ความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในการผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นเฉพาะจุดเล็กๆ เฉกเช่นจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ก็จุดประกายให้ผู้ป่วยมีทางเลือกรักษาโรคแบบไม่ต้องหลบซ่อน เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนมีทางเลือกปลูกพืชที่สร้างงานสร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาวงการสาธารณสุขของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นในอนาคต
อ่านประกอบ : ก้าวกระโดดบุรีรัมย์โมเดล กัญชาทางการแพทย์สู่สมุนไพรเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว