xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” ห่วงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว จะทำลายสิ่งที่คนไทยพยายามร่วมกันมากว่าครึ่งปีสูญเปล่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับมาตรการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หวั่นจะเป็นการเปิดประตูต้องรับเชื้อโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศเป็นระลอกที่ 2 เผยหากระบาดอีกครั้งจะรุนแรง รวดเร็ว คุมยาก ใช้เวลานานกว่าเดิม และเกิดผลกระทบวงกว้าง

จากกรณีวันนี้ (28 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมต่อมาตรการเปิดประเทศในระยะต่างๆ ขอให้มั่นใจว่า หากมีเหตุการณ์ติดเชื้อทางสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งการควบคุมโรคและรักษาพยาบาล เราจึงต้องรีบผ่อนคลายมาตรการให้เป็นปกติเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยต้องเฝ้าระวังและตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาในแต่ละระยะ เหมือนช่วงที่เราล็อกดาวน์ก็มีระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3

ต่อมา ในวันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เกี่ยวกับมาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ยังมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ระบาดภ่ยในประเทศ และสิ่งที่พยายามทำกันมาตลอดว่าครึ่งปีของคนไทยจะสูญเปล่า ทั้งนี้ “หมอธีระ” ได้ระบุข้อความว่า

“หากเปรียบเทียบความเข้มข้นในการประกาศนโยบายและมาตรการสู้กับโควิดแล้ว ตัวชี้วัดหนึ่งที่ใช้เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ คือ Policy activity score ค่ายิ่งมากแปลง่ายๆ ว่ามีความเข้มข้นมาก

ไต้หวันนั้นเป็นประเทศที่ดำเนินการอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ในขณะที่เมืองไทยนั้นดำเนินการเข้มข้นช้ากว่าเขาราวกว่าสองเดือน

นั่นจึงทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายความแตกต่างของจำนวนการติดเชื้อที่ไต้หวันมี 513 คน และเสียชีวิต 7 คน อัตราตาย 1.4% ในขณะที่ไทยตอนนี้ 3,545 คน เสียชีวิต 59 คน อัตราตาย 1.7% ในช่วงไตรมาสแรก หากสังเกตจะพบว่าเจอแต่ปรากฏการณ์นโยบายแปลกๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถานการณ์ระบาด และเห็นจำนวนเคสติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ไต่ไปจนเพิ่มวันละกว่า 33% ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่ระบาดหนัก นั่นจึงเป็นจุดวิกฤตที่ต้องมีการคัดค้านการดำเนินการลักษณะเดิม และผลักดันให้เกิดมาตรการเข้มข้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา และเป็นเหตุให้เราสามารถลดจำนวนคนติดเชื้อที่คาดว่าจะมีมากมาย ลงมาเหลือระดับสามพันกว่าคนในวันนี้ได้

อย่างไรก็ตาม สงครามนี้ยังไม่จบสิ้น หากปล่อยให้กลับมาระบาดซ้ำจะรุนแรง รวดเร็ว คุมยาก ใช้เวลานานกว่าเดิม และเกิดผลกระทบวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบัน หากปล่อยให้กิเลสครอบงำ ธุรกิจการเมืองเฮโลสาระพากันผลักดันมาตรการหาเงินโดยยอมให้เกิดความเสี่ยงต่อการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา สิ่งที่ทำมาตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาจะสูญเปล่า โมเดลการทำมาหากินในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ศิลปินนักร้องหลายคนเปิดช่องยูทูป และเฟซบุ๊กทำ Live สดมินิคอนเสิร์ตที่จัดตามโรงแรมต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปหลายต่อหลายจังหวัดในแต่ละสัปดาห์ พร้อมกับแพกเกจทัวร์ให้คนชื่นชอบตามไปชมไปพบศิลปินตัวจริง พร้อมกับเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนั้น ต้องถือว่าเป็นรูปแบบที่เกิดภาวะวิน-วิน-วิน-วิน ที่น่าชื่นชม วินทั้งศิลปิน วินทั้งผู้ชมทางบ้าน วินทั้งคนที่ชื่นชอบศิลปินและท่องเที่ยว วินทั้งโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสปอนเซอร์ในรูปแบบต่างๆ โดยยังมีการจัดการที่จำนวนคนไม่แออัดเกินไปด้วย นี่เป็นตัวอย่างของรูปแบบการทำงาน การตลาด และการพบเจอกันในแนวใหม่ที่น่านำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิรูประบบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

ตราบใดที่ยังยึดติดกับการหาเงินจากท่องเที่ยวแบบเดิมที่เน้นแต่เชิงปริมาณ ก็จะวนอยู่ในอ่าง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการนำพาโรคเข้าสู่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งขอเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา การมุ่งขอลดเวลาการกักตัว ฯลฯ แต่หากเกิดระบาดซ้ำขึ้นมา กลุ่มที่ผลักดันมาตรการต่างๆ ดังกล่าวอาจไม่สามารถรับผิดชอบกับความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจวงกว้างที่เกิดขึ้นได้ การสังคายนากลไกอำนาจสุขภาพท่องเที่ยวเดินทางไม่ให้อยู่ในวงเดียวคือ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อหาทางถ่วงดุล ไม่ให้เกิดภาวะคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และคุกคามต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนครับ

ระบบคัดกรองหลายครั้ง และกักตัว 14 วันนั้นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้”
28 กันยายน 2563

โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์...โพสต์โดย Thira Woratanarat เมื่อ วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2020



กำลังโหลดความคิดเห็น