เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมในงาน “ค่ำคืนนี้ที่ดงเสลา” ที่โรงเรียนบ้านดงเสลา ตำบลแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่คุณครู ๒ ท่านผู้สร้างคุณงามความดีที่โรงเรียนนี้มายาวนานจะอำลาชีวิตราชการ ผู้เขียนยินดีอย่างยิ่งที่จะไปร่วมงานนี้ ก็ด้วยเหคุผลที่สำคัญ คือ
โรงเรียนบ้านดงเสลาเป็นหนึ่งในโรงเรียนรุ่นแรกในโครงการพระราชดำริสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวถึงความเป็นมาในปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “แนวพระราชดำริด้านการศึกษากับอนาคตประเทศไทย” ณ ห้องประชุมสำนักพระราชวัง เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๙ ไว้ว่า
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๕ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ได้รับสั่งให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีเข้าเฝ้าฯ และมีรับสั่งว่า พระองค์ยังมีเงินเหลืออยู่ก้อนหนึ่ง
“ฉันจะตั้งกองทุนการศึกษา ให้เอาเงินฉันไปใช้ ไปทำอย่างไรก็ได้ เป้าหมายคือให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง”
เป็นพระราชประสงค์ให้คณะองคมนตรีจัดตั้งกองทุนการศึกษาขึ้น อันเป็นโครงการพระราชดำริโครงการสุดท้าย โดยตั้ง “โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม” เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังขยายความไว้ด้วยว่า วิธีการที่จะทำให้การศึกษาประสบผลสำเร็จ ก็ต้องเน้นการศึกษาควบคู่ไปกับการอบรม โดยเน้นเรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรม วัฒนธรรม ความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และการเตรียมเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต การสอนก็คือการให้ความรู้ แต่การอบรมนั้นต่างกัน การอบรมคือการฝึกจิตใจผู้เรียนให้ซึมซับเป็นนิสัย ไม่ใช่ท่องมาสอบ หากจะเปรียบเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง เด็กก็เหมือนต้นกล้า หน้าที่ของครูก็คือการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เตรียมดินให้ดี ป้องกันไม่ให้มีแมลงเข้ามากิน เพราะต้นไม้นี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติ จะให้เด็กเป็นพลเมืองดี ครูก็ต้องให้การศึกษาและอบรมนั่นเอง
โรงเรียนที่คัดเลือกมาร่วมโครงการนั้น จะมีลักษณะโดยทั่วไปคือ เป็นสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ หรืออยู่ในพื้นที่มักได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือมีความสำคัญด้านความมั่นคงชายแดน เป็นสถานศึกษาที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และเป็นสถานศึกษาที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาได้ หลายโรงเรียนที่คัดเลือกมาร่วมโครงการ จึงเป็นโรงเรียนที่อยู่ชายขอบซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ทรงให้ศึกษาตัวอย่างจากโรงเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ต่างๆ เป็นแนวทาง
นอกจากนี้ กองทุนการศึกษายังได้ช่วยแก้ไขปัญหาครูขาดแคลน โดยการจัดสรรทุนสำหรับนักศึกษาวิชาครูที่มีภูมิลำเนาใกล้เคียงโรงเรียน เพื่อคืนถิ่นเป็นครูผู้สอนต่อไป ทั้งยังได้ช่วยจ้างครูระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูเป็นกรณีเร่งด่วน รวมทั้งตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่น คัดเลือกนักเรียนตัวอย่างที่เรียกว่า ‘นักเรียนผู้รับทุนพระราชทาน’ โดยได้รับการสนับสนุนจนจบชั้นปริญญาตรี และเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ช่วยรับช่วงต่อสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปลายให้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี โดยเริ่มมาตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาโครงการ พระราชทานคำแนะนำให้องคมนตรีเป็นเหมือน “ผู้ใหญ่ใจดี” ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ
โรงเรียนบ้านดงเสลาได้รับเลือกให้อยู่ในรุ่นแรกของโครงการนี้ พร้อมกับอีก ๓ โรงเรียนในอำเภอเดียวกัน คือ โรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม โรงเรียนบ้านโป่งหวาย และโรงเรียนวัดถ้ำองจุ ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการนี้กว่า ๑๕๕ โรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนในแถบภาคกลาง ก่อนจะกระจายไปยังภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ จนกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย และในรัชกาลที่ ๑๐ ก็ยังสานต่อพระราชปณิธานนี้ โดยองคมนตรีออกตรวจเยี่ยมติดตามผลงานของโรงเรียนในโครงการเป็นประจำ สำหรับในเขตการศึกษาย่านจังหวัดกาญจนบุรีนี้ อยู่ในการดูแลของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา
ในงาน “ค่ำคืนนี้ที่ดงเสลา” ซึ่งจัดขึ้นโดย ผอ.อำนาจ ทัดสวน ผู้อำนวยการคนใหม่ ร่วมกับคณะครู โดยมีครูจากโรงเรียนใกล้เคียงมาร่วมสนับสนุน ได้แสดงผลงานของโรงเรียนบ้านดงเสลาอย่างเด่นชัดในความเป็น “โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม” ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๓ ประการ คือ กตัญญูต่อครูอาจารย์ กตัญญูต่อบรรพบุรุษไทย และกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด
เริ่มพิธีด้วยการแสดงมุทิตาจิตครูผู้มีอุดมการณ์ ๒ ท่าน ซึ่งได้สร้างคุณงามความดีที่โรงเรียนนี้มายาวนาน มีศิษย์เก่าซึ่งหลายคนก็อายุมากแล้ว ได้เข้าแถวยาวเป็นร้อยคน ขึ้นไปแสดงความกตัญญูต่อครูบนเวที นับเป็นภาพที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นก็เป็นการแสดงบูชาครูชุด “รางวัลของครู” การแสดงพิ้นเมืองของชาวกะเหรี่ยง ประชากรจำนวนมากของอำเภอนี้ ซึ่งได้สร้างประเพณีวัฒนธรรมที่งดงาม เรียบง่าย แสดงถึงความพอเพียงตามแนวศาสตร์พระราชา ต่อด้วยการแสดงความรักในสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ชุด “ความฝันอันสูงสุด” และการแสดง แสง สี เสียง “สงคราม ๙ ทัพ” ตอน “วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า” ซึ่งอำเภอนี้ก็อยู่ในสมรภูมิครั้งนั้น โดยมีครูและนักเรียนแสดงร่วมกัน ปิดท้ายด้วยการแสดงเพื่อระลึกถึงพระคุณแผ่นดินชุดรัตนโกสินทร์
รอบสนามที่เปิดการแสดง มีหน่วยงานและชาวบ้านได้นำอาหารคนละอย่างสองอย่างมาบริการฟรีให้แก่ผู้มาร่วมงาน ตั้งเป็นเพิงไม้ไผ่เปิดไฟสว่างไสวยาวเหยียด แสดงถึงโรงเรียนได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากชุมชนเป็นอย่างดี
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชนบทค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความดีงามยังงอกงามอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ที่จะยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้อย่างมั่นคง