พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันครบรอบ 103 ปี โดยวันที่ 28 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย
“...เพราะธงชาติและเพลงชาติไทย คือ สัญลักษณ์ของความเป็นไทย คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออนานิคมของชาติใด รวมถึงความเสียสละของบรรพบุรุษไทยทุกยุคสมัย ในการปกป้องรักษาแผ่นดินให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน...”
วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว ต่อมา วันที่ 28 กันยายน 2562 เป็นวันครบรอบ 102 ปี และล่าสุด วันที่ 28 กันยายน 2563 นับเป็นวันครบรอบ 103 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย เพื่อให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ และการกำหนดวันธงชาติของทุกประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงความเป็นมาในการสร้างชาติของแต่ละประเทศ
สำหรับวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ชาวไทยจะได้ร่วมเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติและชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนลุมพินี พร้อมกับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ประวัติธงชาติไทย
ตามหลักฐานต่างๆ รวมทั้งจดหมายเหตุของฝรั่งเศส ทำให้เราทราบข้อมูลว่า ธงชาติไทยผืนแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งธงชาติไทยผืนแรกนั้นเป็นธงผ้าสีแดงเกลี้ยง โดยมีเรื่องเล่าว่า มีเรือสินค้าของฝรั่งเศสแล่นเข้ามาถึงป้อมของไทย แต่ไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้นรับ เพราะว่าไทยไม่มีธงชาติเป็นของตัวเอง ด้วยความที่ฮอลันดากับฝรั่งเศสไม่ค่อยจะลงรอยกัน เรือฝรั่งเศสก็เลยไม่ยอมยิงสลุตรับธงฮอลันดา (ยิงสลุต คือ การยิงดินปืนออกจากปืนใหญ่ทั้งหมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างเป็นมิตร) ฝ่ายไทยจึงต้องแก้ด้วยการนำธงสีแดงเกลี้ยงขึ้นแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุต ตั้งแต่นั้นไทยจึงถือว่าธงสีแดงเป็นธงชาติ
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้จะใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ทว่าสำหรับเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงกันอยู่ และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โดยในยุคนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงเพิ่มขึ้นด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกมา 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลาง
ถัดมาในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ. 2398 พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าฯให้นำเอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง และยกเลิกการใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอีกต่อไป
กระทั่งมาถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทย โดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา และออกประกาศบังคับใช้ธงชาติผืนนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป
และในปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายๆ กับธงชาติของประเทศอื่นๆ ในช่วงนั้น โดยเป็นธงพื้นริ้วขาว แดง แต่ก็ได้เพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปด้วยอีกสีหนึ่ง เพราะสีน้ำเงินถือเป็นสีประจำพระองค์ ซึ่งธงในปี 2460 ก็คือธงไตรรงค์ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง (มีการปรับขนาดเล็กน้อยในสมัยรัชกาลที่ 8)
ความหมายของธงชาติไทย
ธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์ ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อยๆ จึงได้กำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจน แต่ก็ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ด้วย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน)
สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ซึ่งความหมายนี้ก็ใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญของธงชาติไทย
ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสีที่แตกต่างกันออกไป แต่บางทีก็มีคล้ายกันบ้าง โดยประเทศไทยใช้ธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีความเป็นไทย อีกทั้งยังมีความหมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงถือได้ว่าธงชาติไทยนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ ต้องได้รับความเคารพ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ