xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสเสน่ห์ “ชนบทที่รัก” ชุมชนลีเล็ด-ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ กับกิจกรรม Media & Trade FAM TRIP โครงการ Thailand Village Academy Season 2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนกิจกรรมโครงการ Thailand Village Academy Season 2 เพื่อพัฒนายกระดับแหล่งเรียนรู้ วัฒนธรรมในชุมชน และนำเสนอสู่ตลาดกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหญ่ Silver Age โดยเชิญสื่อไทยและต่างชาติรวมทั้งบริษัททัวร์ร่วมกิจกรรม Media & Trade FAM TRIP (Familiarization Trip) สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยว ในเส้นทาง "ชนบทที่รัก” ชุมชนลีเล็ด-ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลต่อยอดการตลาดต่อไป


“ชุมชนลีเล็ด” เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราฎร์ธานี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสายแตกแขนงเชื่อมต่อกันมากมายจนได้ชื่อว่า “คลองร้อยสาย” สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ร่มรื่น เช่น ต้นจาก โกงกาง แสมดำ โดยเฉพาะ ต้นลำพู ที่มีมากมายและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยของ “หิ่งห้อย” จำนวนมาก พื้นที่บางส่วนอยู่ติดกับทะเล มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดทำให้เป็นพื้นที่ที่มีป่าล้ำทะเลหรือเรียกขนมกันว่า “ป่ารุกทะเล” ที่ขยายพื้นที่ความเขียวขจีออกไปทุกปี เป็นป่าชายเลนครอบคลุมพื้นที่ถึง 7,818 ไร่ จนได้ชื่อว่าเป็น “ป่าอเมซอนเมืองไทย” ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนมะพร้าว ทำประมงพื้นบ้าน และทำนากุ้งอีกด้วย


นอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่งดงามของป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนลีเล็ดแล้ว ที่นี่ยังมีวิถีชุมชนที่น่าสนใจในหลายด้าน ทั้งทางด้านภูมิปัญญาและศาสตร์ในการดูน้ำขึ้นน้ำลงอย่างแม่นยำ รวมทั้งการอนุรักษ์นำทรัพยากรณ์ที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาดและเรียบง่าย อีกทั้งผู้คนในชุมชนก็มีอัธยาศัยไม่ตรีที่น่ารักยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นเสน่ห์ที่สัมผัสได้ในการท่องเที่ยววิถีชุมชน


สำหรับกิจกรรมวันแรก กำนันประเสริฐ ชัญจุกรณ์ ผู้นำชุมชน ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎ์ ให้การต้อนรับพร้อมชิมของว่าง “กาแฟมะพร้าว” ที่ใช้กะทิและน้ำมะพร้าวของชุมชนเป็นส่วนประกอบมีรสชาติกลมกล่อม เสิร์ฟพร้อมขนมพื้นถิ่น ขนมจาก ขนมหน้าหลุบ และวุ้น จากนั้นร่วมทำกิจกรรมการทำ “ขนมจาก” โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติมาดัดแปลงทำขนม เช่นใบจาก มะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ในการขนมจาก โดยให้คณะได้ทดลองทำขนมและห่อขนมกันอย่างสนุกสนานพร้อมชิม ขนมจาก สุดอร่อยจากฝีมือตนเองด้วย


กิจกรรมถัดมาเดินทางไปชมการทำ “กะปิ” ของชุมชนลีเล็ด ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนที่ใช้ กุ้งหัวมัน แทนเคย ทำให้รสชาติหวานกว่ากะปิทั่วไป โดยนำกุ้งมาตากแดดและตำด้วยครกใบใหญ่ ปรุงรส แล้วนำไปหมักไว้ 2 วัน จากนั้นก็นำมาตำอีกแล้วตากแดดอีกรอบสุดท้าย หมักต่ออีกหนึ่งเดือนเพื่อเพิ่มความหอม ได้รสชาติที่อร่อยไม่เค็มจัดสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น มะม่วงน้ำปลาหวาน ก็อร่อยเข้มข้นทีเดียว ที่นี่เขามีเคล็ดลับการบรรจุกะปิที่ทำให้กะปิหอมน่ารับประทานด้วยการนำตอกไม้ไผ่นำขัดปิดปากภาชนะบรรจุก่อนปิดฝา นับเป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจที่ชาวชุมชนลีเล็ดนำมาใช้ในการถนอมอาหาร




จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมกลุ่มกิจกรรมทำ “จักสาน” โดยการใช้ต้นจากที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น การใช้ใบจากแก่มาทำตับจากมุงหลังคา ใช้ใบอ่อนมาลอกทำใบจาก มวนยาสูบ จำหน่ายเป็นอาชีพได้ และ นำก้านใบจากที่เหลามาจักสานทำข้าวของเครื่องใช้ เช่น สานเป็น เสวียนหม้อ หรือที่รองหม้อ ตะกร้าใส่ผลไม้ ทำไม้กวาด และอื่นๆ เป็นต้น




พร้อมรับประทานอาหารมื้อกลางวันของชุมชนโดยเชฟชุมชน กับเมนูพิเศษ ขนมจีน น้ํายาใต้ แกงเผ็ด และผักที่เป็นผักพื้นถิ่นที่อยู่ในสวนหลังบ้าน


หลังจากอิ่มอร่อยกับขนมจีนน้ำยาใต้กันเรียบร้อยแล้ว คณะลงเรือหางยาวไปชมบรรยากาศของชุมชนลีเล็ด สุราษฎร์ธานี ที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำคลองร้อยสาย บรรยากาศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ จนได้ชื่อว่า “ป่าอเมซอนเมืองไทย” มีระบบนิเวศน์แบบ 2 น้ำ หรือเรียกว่า “น้ำกร่อย” มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพรรณไม้และสัตว์น้ำ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน เวลาน้ำขึ้นหรือเวลาน้ำลง ชาวบ้านจะไปตัดจาก หาหอย จับปู และทำประมงได้ตามวิถี อีกทั้งป่าชายเลนยังให้ประโยชน์ทั้งช่วยป้องกันภัยธรรมชาติอีกด้วย




ระหว่างทาง กำนันประเสริฐ นำคณะมาถึงจุดปลูกต้นโกงกางซึ่งใกล้กับบริเวณที่สามารถล่องเรือออกสู่ทะเลได้ และร่วมกันปลูกต้นโกงกางซึ่งเป็นต้นไม้ที่รากยาวไปไกล ซึ่งทำให้ดินเกาะและยกพื้นดินบริเวณนั้นให้สูงขึ้น รวมทั้งติดป้ายสื่อความหมายในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และอนุรักษ์ผืนป่า ให้นักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนร่วมในชุมชนได้ร่วมกันหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพย์พยากรณ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ จากนั้นล่องเรือชมความงดงามของธรรมชาติที่สามารถมองเห็นนกเหยี่ยว ฝูงนกกะยางเกาะกลุ่มกันบนต้นไม้ฝูงใหญ่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ชมวิวทิวทัศน์ของ “ขนำกลางทะเล” ที่มีอยู่หลายหลังปลูกเอาไว้ทำฟาร์มหอยแครง ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกจุดหนึ่งทีเดียว






หลังรับประทานอาหารเย็น ที่ร้าน  LUCKY RESTAURANT ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี และเดินชมตลาดนัดยามค่ำคืน ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการไปนั่งเรือชม “หิ่งห้อย” ซึ่งเป็นไฮไลท์ของที่นี่ เนื่องจากที่นี่มีความโดดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ มีต้นลำพูที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินับล้านต้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และโดยเฉพาะ “หิ่งห้อย” ทีนี่หิ่งห้อยจำนวนมากเพราะธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทำให้มีหิ่งห้อยมาเกาะตามต้นไม้มากมาย ทำให้ต้นลำพูมีแสงระยิบระยับสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์




สำหรับกิจกรรมวันที่สอง เดินทางไปชมความงดงามของ “อุโมงค์จาก” ณ ชุมชนบางใบไม้ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “คลองร้อยสาย” เพราะมีคลองเล็กคลองน้อยนับร้อยสายเชื่อมต่อกัน แม่น้ำทุกสายจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำบางตาปี ประกอบไปด้วยพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอเมือง ตั้งอยู่ที่ ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี บางใบไม้เต็มไปด้วยใบไม้สมชื่อชุมชน เพราะเต็มไปด้วยใบจากและพืชน้ำจำนวนมากขึ้นหนาแน่นตลอดสองฝั่งคลอง และเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน


ที่นี่มี “อุโมงค์จาก” อุโมงค์ต้นจากธรรมชาติที่ใบโค้งตัวเข้าหากันเป็นอุโมงค์ยาวคลุมลำคลอง เวลาล่องเรือผ่านเหมือนลอดอุโมงค์ต้นไม้ เกิดเป็นภาพความงดงามดึงดูดสายตาให้นักถ่ายภาพและนักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัสและถ่ายภาพความงดงามนี้ไว้ อีกทั้งภาพถ่ายของอุโมงค์จากแห่งนี้เคยได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) ในโครงการประกวดภาพถ่ายเพื่อจัดทำปฏิทิน ททท. ประจำปี 2562 หัวข้อ “มหัศจรรย์เมืองไทย เก๋ไก๋ทุกมุมมอง” อีกด้วย


สัมผัสวิถีชีวิตของคนเมืองในป่าจาก ด้วยการแวะช้อป ชิม ชิล อุดหนุนสินค้าชุมชนกับสินค้าท้องถิ่น ณ “ตลาดประชารัฐบางใบไม้” ที่นี่มีสินค้าชุมชนที่ชาวบ้านนำมาจำหน่าย ทั้งของกินของใช้มากมามายให้เลือกช้อป




มื้อกลางวัลเดินทางไปรับประทานอาหารที่ร้าน “กินดีมีสุข Cafe & Restaurant” ร้านอาหารสุดชิคทันสมัย มีอาหารสดใหม่หลากหลายทั้งอาหารไทย อาหารพื้นถิ่น และบริการที่ยอดเยี่ยม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติแบบในสวนสวย สามารถเลือกถ่ายรูปเช็คอินได้หลายมุม




หลังจากนั้นเดินทางไปสักการะ “พระธาตุไชยา” เพื่อเป็นศิริมงคล ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่นี่มีพระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธรูป และองค์หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่สร้างในสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ด้วย




และเดินทางต่อไปที่ “สวนโมกขพลาราม” หรือมีชื่อทางการว่า “วัดธารน้ำไหล” ชมความสวยงามและเงียบสงบของวัด และสตูดิโอธรรม หรือ Dhamma Studio ค้นหา “ลาย แทงสมบัติทางธรรม” ปริศนาธรรมอันล้ำค่าที่ท่านพุทธทาสภิกขุซ่อนไว้ในป่าโมกข์ต้นพลา อันร่มรื่น ก่อนเดินทางกลับ




ทั้งนี้ นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “สำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเรามีการทำมานานแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีรายได้ และนำของดีจากชุมชนขึ้นมาทำให้มีเสน่ห์สำหรับให้คนมาท่องเที่ยว และเราก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จากตอนแรก 10 ชุมชน ตอนนี้ก็กลายเป็น 200 กว่าชุมชน พอมาถึงปีนี้เราก็คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพ คัดเลือกขึ้นมา 16 ชุมชน ที่จะพัฒนาต่อ ซึ่งการท่องเที่ยวเรามีหลายระดับ ปีที่แล้วเรามีการทำระดับเยาวชุมชนต่างประเทศ ปีนี้เราก็มาเน้นเป็นกลุ่ม Silver Age เป็นกลุ่มที่สูงอายุหน่อยและเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการท่องเที่ยว โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับโครงการ Thailand Village Academy Season 2 ได้คัดเลือกแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมในชุมชนมาออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ให้ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มซิลเวอร์เอจ

นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกชุมชน คือ ต้องดูว่าชุมชนมีความพร้อม มีอัตลักษณ์ มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่โดดเด่นและเป็นเสน่ห์ รวมทั้งชุมชนเองต้องมีความพร้อมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการทำงานแบบต่อเนื่องไม่ใช่ไม่เคยทำแหล่งท่องเที่ยวมาก่อนเลย แต่ส่วนใหญ่จะเน้นชุมชนที่มีประสบการณ์การท่องเที่ยวมาแล้ว เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ซึ่งความจริงก็มีชุมชนมี่มีความพร้อมเยอะแต่เราก็คัดเลือกที่ดีที่สุดก่อน ซึ่งเราเลือกมา 16 ชุมชนก่อนซึ่งก็คือจุดเริ่มต้น


และสิ่งหนึ่งที่เรากำลังนำเสนอก็คือ มรดกทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น ที่เราลงไปในแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนลีเล็ด สุราษฎร์ ครั้งนี้ที่เราไปดูการทำ “กะปิ” ซึ่งกะปิเราได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจังหวัด “จักสาน” ก็เหมือนกันเราก็ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เช่นกัน เราพยายามเน้นพวกนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ได้ประโยชน์ถึงสองเรื่องคือ เรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และสองนักท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้ในภูมิปัญญาเป็นวัฒนธรรมของคนไทยในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพราะกลุ่มคนที่เป็น Silver Age เป็นคนที่วัยใกล้เคียงกัน สามารถแนะนำแลกเปลี่ยนความรู้ภูมิปัญญากัน ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อไปในอนาคต อย่างเช่น กะปิ เราจะเห็นภูมปัญญาชาวบ้านที่นำไม้มาขัดกันบนปากกระปุก เพื่อให้มีกลิ่นขึ้นมาและหอม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจและสร้างเสน่ห์ให้วัสดุ ซึ่งถ้าเรานำกลุ่มเยาวชนมาเขาก็อาจจะไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าเป็นกลุ่ม Silver Age ซึ่งเป็นแม่บ้านก็จะสนใจ ส่วนเยาวชนก็จะสนใจที่ไปล่องเรือ ไปถ่ายรูปนกมากกว่า ซึ่งแล้วแต่ระดับความสนใจ


การจัด FAM TRIP ครั้งนี้เป็นการสรุปบทเรียนในการทำงานทั้งหมด เป็นการปรับปรุงโปรแกรมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเราอยากให้เห็นภาพรวมของชุมชน ซึ่งกลุ่ม silver Age สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้และเลือกโปรแกรมได้ สามารถคุยกับชุมชนได้และมาพัฒนาเรื่องที่อยู่อย่างเช่น โฮมสเตย์ ที่อยู่ ที่กิน ที่พัก สิ่งหนึ่งที่ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเราพบ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเหมาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย มีความพร้อมชอบท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ก็เลยเกิดโปรแกรมปีที่สองขึ้นมา ซึ่งร่วมกับ ททท.ด้วย ทางกรมจะเน้นเรื่องของคอนเทนต์ และเรื่องของเสน่ห์ชุมชน ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตด้วยกัน ได้ลงมือทำ ได้ซึมซับวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ จะทำให้เสน่ห์เข้าไปในจิตใจ ซึ่งจะเหมือนเพื่อนหรือญาติมาเยี่ยมกันมากกว่าที่จะเป็นนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต่อกันจะแนบแน่นใกล้ชิด เอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งทาง ททท. จะช่วยในด้านมาร์เก็ตติ้ง และภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวค่ะ”

นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ขณะที่ นายนพดล ภาคพรตรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ชุมชนท่องเที่ยวที่เมืองไทยเรามีเยอะ ชุมชนที่มีความพร้อมก็เยอะ ตอนนี้เราคัดมา 16 ชุมชน ซึ่งตอนนี้เรากำลังมองที่ทาร์เก็ตของลูกค้าที่จะมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวตรงนี้ ซึ่ง16 ชุมชนนี้สามารถตอบโจทย์ของกลุ่ม Silver Age ได้ค่อนข้างเป็นอย่างดี สินค้าหัตถกรรมต่างๆ ต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว

ในทำนองเดียวกันในด้านของการสื่อสารก็ตามเราพยายามจะตอบโจทย์ในลักษณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้มีวิธีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเขานิยมบริโภคแบบไหน ชอบดูทีวี อ่านบทความ เราก็พยายามทำเรื่องนั้นตลอด ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของสองหน่วยงาน และจริงๆ แล้วยังมีหน่วยงานเอกชนหลายหน่วยงานร่วมมือกับเราในงานชุดนี้ เพราะต้องการเห็นอย่างเดียวกันก็คือ คุณค่าของประเทศไทยในเรื่องของชุมชน อัตลักษณ์ วัฒธนธรรมของชุมชน ซึ่งในตอนนี้เราอยากให้มูลค่าเศรษฐกิจกระจายตัวไปให้เร็วขึ้นที่สุด คือ กลุ่มซิลเวอร์เอจเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทรงพลังที่สุดของยุคนี้ ชอบเที่ยวและหากิจกรรมทำเพื่อให้ชีวิตมีสีสันอยู่เสมอ เป็นกลุ่มที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ชอบเสาะหาของกิน อาหารพื้นบ้าน โหยหาความเป็นธรรมชาติ ต้องการสัมผัสบรรยากาศชนบท เพราะได้ย้อนวันวานนึกถึงความสุขสมัยยังเด็ก


ก็อยากจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในชุมชน ซึ่งโครงการ “ชนบทที่รัก” เป็นหนึ่งโครงการดีๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมทางวัฒนธรรม ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน วัตถุประสงค์ก็คืออยากให้ทุกคนมาร่วมเรียนรู้ สัมผัสรับรู้ประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งในความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ วันนี้เรานำมา 16 ชุมชนที่น่าสนใจทั้งหมด ยังไงถ้าตอนนี้เรายังไปเที่ยวไกลๆ กันไม่ได้ ก็อยากให้หันกลับมาเรียนรู้ในเชิงคุณค่าของความเป็นไทยในประเทศไทย จากชุมชน “ชนบทที่รัก” ของเรากันนะครับ”

เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม


กำลังโหลดความคิดเห็น