“รศ.ดร.สมชาย” ชี้ ความเหลื่อมล้ำเกิดจากการบริหารเศรษฐกิจ สำหรับไทยช่องว่างคนรวย-จน หนักขึ้น หลังเข้ายุคดิจิทัล เพราะปรับตัวไม่ได้ ความสามารถแข่งขันลดลง เกิดธุรกิจผูกขาดจำนวนมาก แนะหากแก้รัฐธรรมนูญให้เหมือนปี 40 อย่าลืมคำนึงถึงจุดอ่อนด้วย เหตุมีส่วนทำความเหลื่อมล้ำขยายตัว
วันที่ 22 ก.ย. 2563 รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “มองการชุมนุมบนเหตุผลความเหลื่อมล้ำ?”
โดย ดร.สมชาย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากระบบด้านการบริหารเศรษฐกิจ หลักการบริหารทางด้านเศรษฐกิจ 1. กระตุ้น 2. รักษาเสถียรภาพ 3. ลดความเหลื่อมล้ำ 4. การจ้างงาน ถ้าทำ 4 ตัวนี้ได้วิเศษเลย แต่ในความเป็นจริงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรงนี้ที่เป็นปัญหาทั่วโลก บางพรรคอาจเลือกอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน บางคนเชื่อว่า เศรษฐกิจโตแล้วช่องว่างจะลดลง ความจริงมันไม่เกิด แต่บางคนอาจบอกว่าเศรษฐกิจโตไม่สำคัญ แต่ช่องว่างสำคัญ
ยกตัวอย่าง เวเนซุเอลา ภายใต้ ฮูโก ชาเวซ ช่วยลดช่องว่างคนรวยจน แต่พอหลังเศรษฐกิจแย่ ตัวลดช่องว่างกลับกลายเป็นปัญหา
ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนของไทย ก่อนสงครามเย็นสิ้นสุด ช่องว่างของเรามี แต่ไม่มากมาย แต่พอยุคดิจิทัล โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจก็ขยายตัวในอัตราช้า พอช้า ช่องว่างก็สูงขึ้น ระยะหลังธุรกิจผูกขาดมากขึ้น สมัยก่อนไม่ผูกขาดมากมายขนาดนี้
โลกหลังยุคดิจิทัล เราไม่ได้แก้ปัญหาการผูกขาด ประสิทธิภาพการแข่งขันลดต่ำลง เศรษฐกิจชะลอตัว ช่องว่างก็ยิ่งทำให้คนระดับล่างลำบากมากขึ้น
ดร.สมชาย กล่าวถึงการชุมนุม ว่า ขึ้นกับโมเมนตัมในการชมุนม ว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหม ถ้าไม่สูงขึ้น รัฐบาลก็บริหารต่อ แต่ถ้าโมเมนตัมสูงขึ้น แรงกดดันจะไปอยู่ที่สภา อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ
และหากการชุมนุมขยายขอบเขต ไปกระทบบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย อันนี้อาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ความรุนแรง ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้น ข้อที่เป็นไปได้มากสุด คือ มีการแก้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้งใหม่
ดร.สมชาย กล่าวด้วยว่า อีกอันที่ไม่พึงปรารถนา หากแก้รัฐธรรมนูญได้ดีมาก เหมือนปี 40 แต่ของปี 40 เป็นจุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว เพราะทำให้มีปาร์ตี้ลิสต์ ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก เกิดเผด็จการเสียงข้างมาก ถ้าแก้ไขต้องคำนึงจุดอ่อนในอดีต เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสำหรับประเทศไทย