“พิชาย” หนุนธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เปิดพื้นที่ให้ม็อบ ห่วงปักหลักค้างคืนที่อื่นอาจเกิดเหตุรุนแรงจากมือที่ 3 แนะรัฐปล่อยขบวนเดินไปทำเนียบฯ ลดเงื่อนไขปะทะ พร้อมเสนอฝ่ายม็อบ-อนุรักษนิยม ถกหาทางออกร่วมกันเรื่องสถาบันฯ ชี้เมื่อขัดขวางการพูดไม่ได้ ก็ควรเอามาคุยกันด้วยเหตุผล
วันที่ 17 ก.ย. 2563 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เจาะสถานการณ์ ม็อบ 19 กันยา เบิ้มๆ หรือไม่”
โดย ดร.พิชายกล่าวว่า ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปิดไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้า แล้วสนามหลวงก็ไม่ให้ชุมนุม คนก็อาจมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วถ้าค้างคืนในพื้นที่ที่ไม่มีการจัดการ จะมีความเสี่ยงมากกว่าในมหาวิทยาลัย ที่มีรั้วรอบขอบชิด น่าเป็นห่วงความรุนแรงจากมือที่ 3 ซึ่งรัฐก็ต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี ถ้าเกิดรุนแรงขึ้นมา รัฐบาลเองก็เสีย เพราะไม่สามารถดูแลความสงบได้
แต่เชื่อว่าความรุนแรงโดยฝ่ายรัฐจะไม่เกิดขึ้น ส่วนฝ่ายนักศึกษาเองจะรุนแรง ก็ไม่น่าเป็นไปได้ อาจมีบ้างวันที่ 20 ก.ย. ที่ม็อบจะไปยังทำเนียบรัฐบาล ที่จะสกัดไว้ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตรงนี้อาจมีการปะทะกันกับตำรวจ ซึ่งถ้าเกิดสถานการณ์จะยิ่งขยายตัว ทางที่ดีรัฐควรตัดเงื่อนไขความรุนแรงออก ปล่อยให้ม็อบเดินไปหน้าทำเนียบฯเลย ให้ปราศรัย ยื่นจดหมาย เดี๋ยวก็กลับ ก็จะไม่รุนแรง
ดร.พิชายกล่าวอีกว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของม็อบ คือ ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.จะเป็นการกดดันสภา กดดัน ส.ส.ที่ยังลังเลที่จะประชุมกันวันที่ 23-24 ก.ย. เรื่องนี้ถ้าแก้ที่สภาได้ ความร้อนแรงจะลดลง นึกภาพหากวันที่ 23-24 ก.ย. สภาไม่รับหลักการจะเป็นเชื้อเพลิงให้กลับมาชุมนุมที่ใหญ่กว่า ในเดือน ต.ค.
ดร.พิชายยังกล่าวอีกว่า หากการชุมนุมมีการพูดถึงประเด็นสุ่มเสี่ยง ถ้ายังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐก็ใช้กฎหมายเล่นงานไม่ได้ แต่ถ้าเกินเลย มีการเสียดสี ดูหมิ่น ก็สามารถใช้กฎหมายจัดการได้ ใครพูดก็รับผิดชอบไป
ดร.พิชายกล่าวต่อด้วยว่า ผลกระทบอีกด้าน คือ ต้องมีปฏิกิริยาต่อต้านจากฝั่งอนุรักษนิยม ถ้าไม่รุนแรงก็แค่มีการถกเถียงกันตามสื่อ แต่ตนอยากให้มีการจัดให้ถกเถียงกันในด้านวิชาการ ถ้าสามารถพูดกันได้ ความขัดแย้งก็จะคลี่คลายลง ยังไงเราไม่สามารถขัดขวางการพูดเรื่องนี้ได้ ควรนำมาพูดอย่างมีเหตุมีผล หาทางออกร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเกิดการยอมรับมากขึ้น ส่วนการยื้อให้คงสถานะเดิม มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง