xs
xsm
sm
md
lg

นักกางเต็นท์โวย “อุทยานฯ ภูสอยดาว” เจอพายุโนอึลทำต้นไม้ล้ม-บาดเจ็บ ไม่มีความพร้อมรับมือ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกางเต็นท์รายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก ไปเดินป่าอุทยานฯ เขาสอยดาว ช่วงพายุโนอึลกำลังมา ปรากฏว่าต้นไม้ล้มทับเต็นท์บาดเจ็บ โวยอุทยานฯ ไม่เตรียมความพร้อม ไม่มีการแจ้งเตือน ด้านชาวเน็ตด่ากลับ โทษอุทยานฯ ฝ่ายเดียวไม่ถูก ติเพื่อก่อก็ดีแต่ย้อนดูตัวเองด้วย

วันนี้ (21 ก.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Dao PrukSoph ได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่ไปกางเต็นท์ที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วประสบเหตุฝนตกและลมกรรโชกแรงจากพายุโซนร้อนโนอึล ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ระบุว่า กลุ่มของพวกตนเริ่มลงทะเบียนและเดินขึ้นภูสอยดาวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ก่อนหน้านี้กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีประกาศใดๆ ว่าทางอุทยานฯ จะปิด ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการช่วยเหลือและดูแลของทางอุทยานฯ จึงไม่ได้เอะใจใดๆ คิดว่าการเปิดให้ขึ้นทุกอย่างน่าจะเอาอยู่

ปรากฏว่าพายุเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 21.00 น. และหนักขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเวลา 05.15 น.ของวันที่ 19 ก.ย. ต้นไม้ทางหลังอุทยานฯ พัดและล้มในบริเวณที่พวกตนกางเต็นท์ ทับเต็นท์ส่วนด้านข้างหลายเต็นท์ ปลายต้นได้ล้มไปทางผู้ประสบเหตุ กิ่งไม้หัก พุ่งไปในเต็นท์ขณะที่นอน เข้าไปปักที่หน้าของผู้ประสบเหตุ หลังจากนั้นเพื่อนในกลุ่มวิ่งไปแจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนั้นได้ทราบว่ามีผู้ประสบเหตุอยู่แล้ว 1 ราย เป็นชาย มีอาการหูฉีกขาด และหนังศีรษะเปิดเห็นกะโหลก จากต้นไม้ล้มทับที่เต็นท์

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Dao PrukSoph กล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่าอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวว่า เปิดมาแล้วกี่ปี การเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือมีอย่างไรบ้าง เปลช่วยเหลือ มี 1 อัน ต่อคนที่อนุญาตให้ให้ขึ้นทั้งหมด 200 คน เท่ากับ 0.5% ของการเตรียมพร้อมรับมือใช่หรือไม่ และการอนุญาตให้ขึ้นทั้งหมด 350 คน ในสถานการณ์โควิด-19 ยังควรมีอยู่หรือไม่ ตามประกาศที่อุทยานฯ แจ้ง แต่สิ่งที่พบบนอุทยานลานสน คือ เกือบ 300 คน และจะรับขึ้นเพิ่ม 582 คน ออกกฎเองหรือไม่ และปฏิบัติอย่างไร อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่าปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไม่มีแม้กระทั่งผ้าก๊อซ

และการปฏิบัติงาน ความพร้อมในส่วนของการประกาศและแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างไร เท่าที่เผชิญไม่มีเสาประกาศ หรือแม้กระทั่งให้เจ้าหน้าที่เดินแจ้งตามเต็นท์หลังต้นไม้ต้นที่ 1 ล้ม กลับไม่มีการเดินแจ้งใดๆ เลย จนกระทั่งต้นสนล้มครั้งที่ 2 เวลา 05.15 น. ขอตั้งคำถามซ้ำว่า ต้องรอให้นักท่องเที่ยวโดนต้นสนทับไปเรื่อยๆ หรือไม่ จุดรวมพลมีหรือไม่ เท่าที่เห็นไม่มี ศาลากลางที่รองรับทุกคนมีหรือไม่ เท่าที่เห็นไม่มี มีบ้านไม้สังกะสีที่พวกเราหลบภัย และต้นสนโดยปกติไม่มีรากแก้วที่ลึก จึงอยากถามทางอุทยานฯ ว่า มีการสำรวจต้นสนเก่าหรือใหม่ในแต่ละปีหรือไม่ และมีการล้มทิ้งต้นเก่าหรือจัดการอย่างไร

ในตอนท้าย ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Dao PrukSoph กล่าวว่า ขอบคุณแพทย์ที่มากางเต็นท์และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ลูกหาบทุกคน เพื่อนๆ ในทริปที่ให้กำลังใจรวมถึงแบ่งผ้าห่มและของกิน รวมทั้งเงินเยียวยา 10,000 บาท จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอบคุณเจ้าหน้าที่และลูกหาบที่ให้การช่วยเหลือทุกคน การติครั้งนี้เป็นการติเพื่อก่อ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น เพื่อความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวภายหลัง และเพื่อความสะดวกในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในโอกาสต่อไป

หลังจากที่ข้อความนี้ปรากฏออกไป มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ส่วนใหญ่มองว่าจะโทษทางอุทยานฯ เพียงอย่างเดียวไม่ถูกต้องนัก เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเรื่องพายุโนอึลทั่วประเทศ แต่ผู้จัดทริปยังฝืนเดินทาง ทั้งที่ต้องประเมินความเสี่ยงด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะสภาพอากาศที่มีพายุนั้นไม่ควรเดินทางเข้าป่า แม้ทางอุทยานฯ จะเปิดอยู่ก็ตาม จึงมองว่าโทษทุกอย่างแต่ไม่โทษตัวเองที่ขึ้นไป แม้จะติเพื่อก่อเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมองย้อนมาที่ตัวเองด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้






























กำลังโหลดความคิดเห็น