คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๘ ให้วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ” ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนรำลึกความหลังกับคลองสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ และมีชื่อโด่งดังในหลายด้าน ก็คือ “คลองแสนแสบ”
คลองแสนแสบ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ใช้เป็นคลองยุทธศาสตร์ในการทำสงครามกับญวนที่เข้ายึดครองเขมร ซึ่งเป็นสงครามยืดเยื้อถึง ๑๔ ปี ทำให้การเคลื่อนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปประชิดแดนเขมรได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
เมื่อขจัดอิทธิพลของญวนออกจากเขมรได้แล้ว คลองนี้จึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทำให้การเดินทางจากบางกอกไปเมืองแปดริ้วและเมืองปราจีนสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก ต่อมามีผู้คนอพยพมาอยู่ตามแนวชายคลองขยายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งยังได้อพยพชาวมุสลิมจากหัวเมืองภาคใต้ที่เข้ามาอยู่แถววัดชนะสงครามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ให้มาอยู่ตามแนวคลองนี้ด้วย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าทำให้คลองนี้ได้ชื่อว่า “แสนแสบ” เพราะคนมุสลิมกลุ่มนี้เคยเห็นแต่คลองติดทะลที่น้ำไหลเชี่ยว เมื่อมาเห็นคลองที่น้ำนิ่งเพราะมีประตูน้ำอยู่ทั้งหัวและท้ายคลอง จึงเรียกคลองนี้ว่า “เซนแญป” ที่แปลว่า “คลองเงียบ” และเพี้ยนเป็น “แสนแสบ”ไป เลยทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า “แสบเพราะอะไร”
ต่อมามีบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อ นาย ดี.โอ. คิง กล่าวไว้ว่า
“...คลองนี้ยาวถึง ๕๕ ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯกับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท... คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์... ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ ...”
จึงตีความหมายกันไปว่า แสบเพราะยุงชุมนี่เอง
แต่เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำพิธีเปิดการเดินรถไฟสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ที่สถานีหัวลำโพง เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราทางรถไฟ แต่เดิมกะว่าจะเสด็จกลับทางรถไฟเหมือนขาไป แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรคลองแสนแสบ จึงโปรดให้จัดกระบวนเรือกลับทางคลอง แม้จะใช้เวลานานกว่ารถไฟมาก ทรงประทับแรมกลางทางในคลองแสนแสบถึง ๒ คืน และมีพระราชประสงค์จะไปอย่างเงียบๆไม่ให้ใครรู้ เหมือนอย่าง “ประพาสต้น” คืนแรกทรงประทับแรมที่วัดปากบึง ซึ่งทรงบันทึกไว้ว่า
“...มาแถบนี้มีที่ว่างมาก มีตัวแมลงมาก แต่ยุงน้อยกว่าบางกอก ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี...”
ทรงกล่าวถึงยุงของคลองแสนแสบว่า “ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี” เลยทำให้สงสัยว่า นาย ดี. โอ. คิง รู้จักยุงหรือเปล่า หรือเข้าใจว่าตัวแมลงที่มีมากเป็นยุง
คลองแสนแสบมาดังเพราะเป็นฉากในอมตะนิยายเรื่อง “แสนแสบ” ของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งมี “อ้ายขวัญและอีเรียม” เป็นคู่พระคู่นางที่ดังลั่นทุ่ง และดังมาจนถึงวันนี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างทีไรก็ดังทุกที
ต่อมาในยุคนี้ก่อนปี ๒๕๓๗ ขวัญกับเรียมก็คงลงเล่นน้ำในคลองแสนแสบไม่ไหวแล้ว เพราะคลองแสนแสบที่คนสองฝั่งเคยดำผุดดำว่ายและมีปลาชุกชุม ได้กลายเป็นท่อน้ำครำขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นคลองที่สะพานผ่านฟ้า ผ่านราชเทวี ประตูน้ำ คลองตัน จนถึงบางกะปิ กลายเป็นคลองน้ำครำสีดำคล้ำส่งกลิ่นตลบ ทั้งรกเรื้อไปด้วยหญ้าคา ผักตบชวา และขยะ ผู้คนทั่วไปต่างเบือนหน้าหนีให้พ้นคลองแสนแสบ แต่คนที่อยู่ริมฝั่งคลองก็ไม่อาจหนีไปไหนได้ ต้องทนกับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และทำลายสุขภาพนั้นด้วยความจำใจ
จนในกลางปี ๒๕๓๗ มี “กลุ่มบุคคลผู้รักน้ำ” ทนเห็นคลองในกรุงเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่ไม่ได้ จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กองทัพบก กทม. และสถาบันการศึกษา รวมทั้งงโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวกันในชื่อโครงการว่า "โครงการรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ" มีวัตถุประสงค์ที่จะทำความสะอาดคลองแสนแสบ และกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประพาสทางเรือจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปถึงประตูน้ำท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๗ เป็นระยะทาง ๗๒ กิโลเมตร เพื่อตรวจสภาพคลองแสนแสบ และเยี่ยมประชาชนสองฝั่งคลอง ทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จครั้งนี้ว่า
“คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป”
นอกจากนี้ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ยังมีพระราชดำรัสเรื่องนี้กับคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาว่า
“พูดถึงเรื่องคลองแสนแสบที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จไปดูมานั้น ความจริงเราไปสำรวจดูก่อนพระเทพฯเสียอีก ก็เงียบๆ นั่งเรือจากวังสระปทุมล่องไปตามคลองแสนแสนแสบ ซึ่งตอนนั้นน้ำเน่าเหม็นมาก ตอนที่ไป ระดับน้ำค่อนข้างสูง ต้องนั่งเรือลอดใต้สะพานต่างๆซึ่งสกปรกรกรุงรัง ราชองครักษ์ต้องคอยบอกให้ก้ม ไม่งั้นจะชนสะพาน ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์มาก ได้เห็นสภาพคลองที่แท้จริง ได้เห็นชีวิตใต้สะพานต่างๆว่าเป็นอย่างไร ก็เดินทางไปไกลจนสุดคลองแสนแสบเข้าคลองบางกะปิ ได้รวบรวมข้อมูลและสภาพความเป็นจริงมาพิจารณาแก้ไข ไม่ใช่ไปสำรวจทางอากาศกับทางน้ำเท่านั้น ทางบกก็ไป บางครั้งต้องออกไปดู ไปสำรวจในจุดที่เกิดปัญหาความเดือดร้อน อย่างน้ำท่วมที่วัดโพธิแมนก็ไปดูเอง และได้กลับมาวางแผนแก้ไขจนได้ผล หรืออย่างฝั่งธนบุรี ก็ได้นั่งรถไปสำรวจหลายครั้ง ทั้งด้านปัญหาการจราจรและเรื่องน้ำท่วม บางครั้งไปถึงท่าเรือ ไปถึงสถานีรถไฟด้านนอกๆออกไป ก็ได้คุยกับประชาชนว่าเป็นอย่างไร เดือดร้อนอย่างไร ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มา เมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ก็เคยนั่งรถสะเตชั่นเวกอนไปดูระดับน้ำ ตอนนั้นระดับน้ำท่วมค่อนข้างสูงมาก รถวิ่งตามถนนที่กลายเป็นคลองไปเรื่อยๆ รถเมล์วิ่งสวนมาเร็วๆ ทำให้เกิดคลื่นใหญ่กระแทกรถสเตชั่นเวกอนที่นั่งจนเซไปเซมา ต้องนับว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลก ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะนั่งรถยนต์แท้ๆ แต่เจอคลื่นจากรถเมล์กระแทกเอาได้...”
นี่คือการทำงานของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญพระองค์หนึ่ง ซึ่งโลกยกย่องว่าเป็น “KING OF KING”
จากวันนั้นเป็นต้นมา ก็สร้างแรงจูงใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองกันอย่างแข็งขัน จนคลองแสนแสบลดกลิ่นลงอย่างมาก พอที่จะกลับมามีประโยชน์ในการช่วยแบ่งเบาความคับคั่งของการจราจรบนท้องถนน และได้รับความนิยมจากประชาชนในวันนี้