"วิวัฒน์" ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม มอบเงินเยียวยาเหยื่อคดีอาญาแก่ ปชช.ราชบุรี-กาญจนบุรี เผย “ก.คุ้มครองสิทธิฯ” จ่ายเยียวยาทั่วประเทศแล้ว 431 ล้านบ. ยันยุติธรรมยุคใหม่มีแต่ให้-บริการ ปชช. ย้ำให้ความสำคัญการศึกษา-วิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.63 ที่ไม้แก้วดำเนินรีสอร์ท ราชบุรี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานพิธีปิดโครงการฝึกอบรมและมอบวุฒิบัตรให้กับครูผู้ฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับครูผู้จัดกระบวนการ พร้อมด้วย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช กรรมการผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม, นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีฯ ร่วมงาน
นายวิวัฒน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การอบรมในครั้งนี้ตนหวังว่าจะเป็นการนำความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนจากครูสู่นักเรียนได้ และอีกเรื่องที่อยากบอกเล่า เป็นงานในส่วนของกรมราชทัณฑ์ เวลานี้เรือนจำกลางราชบุรี ขณะนี้มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 5,670 คน โดยเป็นชาว จ.ราชบุรี 4,224 คน แบ่งเป็นชาย 3,868 คน และหญิง 498 คน ตนให้ความสำคัญกับการศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดันให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ โดยเมื่อรับผู้ต้องขังเข้าสู่แดนแรกรับ จะสอบถามประวัติการศึกษา โดยได้ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถม จนถึงที่พวกเขาต้องการ และเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษออกไปแล้ว สามารถเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับต่อไปได้ ในส่วนของสายอาชีพทางเรือนจำมีการฝึกสายวิชาชีพทั้งหมดทั้งงานช่างต่างๆ เกษตรกรรม คหกรรม เราร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อทดสอบฝีมือและออกใบประกาศรับรอง เพื่อให้ผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษแล้ว สามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และนี่คือหนึ่งในนโยบายคืนคนดีสู่สังคมที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และตนร่วมกันผลักดันมาโดยตลอด
จากนั้นที่โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวิวัฒน์ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2562 รุ่นที่ 23 และมอบเงินเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 จำนวน 20 คน จาก จ.ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยมี นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รองผู้ว่าฯราชบุรี ให้การต้อนรับ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การอบรมในหลักสูตรนี้ กรมคุ้มครองสิทธิได้จัดขึ้นตลอดทั้งปี มีผู้สำเร็จการอบรมทั้งสิ้น 1,207 คน ซึ่งขึ้นทะเบียนประจำไว้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทรัฐ 82 ศูนย์ และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประชาชน 86 ศูนย์ ขอให้ผู้ที่ผ่านอบรมนำความรู้ที่ได้ ไปช่วยสังคม ศูนย์ต่างๆเหล่านี้มีประโยชน์ช่วยประชาชนในเรื่องของการไกล่เกลี่ย ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ลดคดีขึ้นสู่ศาลและสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่กรณี
“จะเห็นได้ว่าการทำงานของกระทรวงยุติธรรมยุคใหม่นั้น มีแต่ให้ มีทั้งงานบริการและการให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการอำนวยความยุติธรรม ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษากฎหมาย รับเรื่องราวร้องทุกข์ และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท" นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สถิติการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา จ.ราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2563 มีผู้ยื่นคำร้อง 161 รายเป็นผู้เสียหาย 156 ราย จำเลยในคดีอาญา 5 ราย มีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 143 ราย รวมเป็นเงิน 7,123,967 บาท และเวลานี้กรมคุ้มครองสิทธิฯได้จ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศไปแล้ว 431 ล้านบาท สุดท้ายนี้ตนขอฝากประชาสัมพันธ์ สิทธิผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญา ไม่ว่าจะถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต ถูกข่มขืน หรือถูกชิงทรัพย์ สามารถไปร้องเรียนกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัด สถานีตำรวจ หรือโทรสายด่วน 1111 กด 77 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยจะได้รับการช่วยเหลือทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ และค่าอื่นๆตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร สูงสุดถึง 1 แสนบาท และกรณีเสียชีวิตจะได้ค่าตอบแทนสูงสุด 1 แสนบาท และอาจได้ค่าจัดการศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูและค่าเสียหายอื่นๆอีก โดยนำหลักฐานสำคัญที่จำเป็นไปยื่นได้เลย แต่ทุกคนต้องไม่ลืมสิทธิของตนเอง.