ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ หวั่นใจว่าจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมแนะ 4 วิธี คุมโควิด-19
จากกรณี น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ สำหรับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษนี้เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปไม่สามารถเดินทางได้ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ บุคคลต่างด้าวตามเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ และผ่านการดำเนินการตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด มีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ได้ออกมาระบุข้อความแสดงความคิดเห็นถึงการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ โดยได้ระบุข้อความว่า
“สงสัยกันไหมเวลาได้อ่านข้อความต่อไปนี้?
1. การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา กักตัว 14 วัน ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง
ข้อสงสัย : การรับคนจากต่างประเทศเข้ามานั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนมาจากประเทศที่ระบาดรุนแรงกว่าไทย...ถามว่าเสี่ยงไหม?
ระบบคัดกรอง กักตัว 14 วัน มีโอกาสหลุดไหม?
ถ้าใช้หลักวิชาการแพทย์และตรรกะมาตอบ ก็ต้องตอบว่าเสี่ยง และมีโอกาสหลุด
หากตอบเช่นนั้น ย่อมแปลว่าเพิ่มความเสี่ยงมิใช่หรือ?
2. นักฟุตบอลต่างชาติ เดินทางเข้ามา ก่อนมาก็ตรวจว่าได้ผลลบ และกักตัว 14 วัน อยู่มาเกือบเดือนแล้วมาตรวจพบว่าติดเชื้อ...แต่นำเสนอว่า คิดว่าติดจากต่างประเทศ
ส่วนเคสเด็กเมียนมาร์ ถึงเมียนมาร์วันที่ 4 กันยายน ตรวจวันที่ 10 กันยายน ผลติดเชื้อวันที่ 13 กันยายน...แต่นำเสนอว่า คิดว่าติดในเมียนมาร์
ข้อสงสัย : นักบอลอยู่ในประเทศตั้ง 28 วัน ไม่สงสัยว่าติดในประเทศเรา แต่เด็กไปเมียนมาร์แค่เพียงสัปดาห์เดียว กลับสงสัยว่าติดในประเทศเขา?
ทิศทาง...คนละทิศนะครับ
ตามหลักวิชาการแล้ว เคสนักบอลเป็นได้ทั้งติดจากต่างประเทศแล้วหลุดรอดจากระบบคัดกรองกักตัว 14 วัน แต่โอกาสน้อย หรืออาจติดเชื้อในประเทศ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันก็มีรายงานเคสดีเจในเรือนจำ เคสคนไทยคนต่างชาติที่ออกจากไทยไปตรวจพบที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่ามี local transmission โดยนักบอลก็มีโอกาสเป็นอีกเคสที่ติดในประเทศเพราะอาศัยอยู่ในประเทศหลังกักตัวอีกตั้งสองสัปดาห์...พอประเมินตามสถานการณ์แล้ว การติดในประเทศย่อมน่าจะมีโอกาสมากกว่ามิใช่หรือ? แต่ทั้งสองทางก็ล้วนเป็นไปได้
ในขณะที่เคสเด็กเพิ่งเดินทางไปถึงเมียนมาร์ได้เพียง 6 วันแล้วตรวจพบติดเชื้อ ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งติดจากเราหรือติดที่เขามิใช่หรือ?
แต่เหตุใด บทสรุปจึงแตกต่างกันโดยตัดความเป็นไปได้คนละทิศทางออกไปในแต่ละเคส
คำแนะนำ :
1. ควรใช้ข้อมูลวิชาการในการวิเคราะห์ให้เห็นเหตุผล และความเป็นไปได้ อันไหนมากอันไหนน้อยก็ว่ากันไป ไม่ต้องช่วยตัด
2. ไม่ควรใช้ดุลพินิจส่วนบุคคล
3. การสร้างความศรัทธานั้นสำคัญมาก และความศรัทธานั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อกระทำการโดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้
4. สถานการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนประชาชนให้ทราบว่าต้องป้องกันตัวเสมอ เนื่องจากความเสี่ยงที่จะระบาดซ้ำมีได้ทุกเมื่อ และประเทศต่างๆ ที่เจอระลอกสอง ก็สะบักสะบอมกันมาก เราจึงต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ด้วยแรงกายแรงใจแรงปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่งั้นจะลำบากครับ
ในยามเกิดระบาดรุนแรงทั่วโลกเช่นนี้ ชีวิตทุกคนอาจไม่สามารถฝากไว้กับระบบใดระบบหนึ่ง กลไกใดกลไกหนึ่งได้ ยิ่งหากเป็นกรณีที่ความเชื่อความศรัทธานั้นไม่เกิดขึ้น ที่เราจะพึ่งได้คือ"มือของตนเอง"
ช่วยกันรักตัวเองรักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอนะครับ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจ คนไทยต้องทำได้ด้วยตัวเอง”