เพจหมอเวร ออกมาให้ความรู้ หลังมีกระแสโซเชียลฯ ต่างแห่แชร์เรื่องราวของหญิงรายหนึ่งที่ชอบสะสมขยะ จนล้นบ้านสร้างความรำคาญใจให้เพื่อนบ้านไม่จบสิ้น ยืนยันเป็นโรคป่วยทางจิต ชื่อโรค “โรคชอบสะสมสิ่งของ” ต้องได้รับการรักษา และมีผู้ป่วยแบบนี้มากมายในต่างประเทศ
จากกรณีที่ชาวโซเชียลฯ แห่แชร์เรื่องราวของหนุ่มคนหนึ่งที่ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวความไม่สบายใจ หลังต้องทนอาศัยร่วมกับเพื่อนบ้านรายหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านถนนเทพรัตน จ.สมุทรปราการ โดยหญิงรายดังกล่าว ที่มีพฤติกรรมสะสมขยะจำนวนมาก และมีอายุประมาณ 50 ปี ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมานานกว่า 10 ปี พบว่า หญิงรายนี้มักจะตระเวนเก็บขยะจากพื้นที่ต่างๆ แล้วนำมากองรวมไว้ที่หน้าบ้าน ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. เพจ “หมอเวร” ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีโรคชนิดหนึ่งที่จะมีลักษณะอาการคล้ายหญิงรายดังกล่าว โดยระบุเนื้อห่โพสต์ว่า “ไม่กี่วันก่อน มีข่าวพบเจอบ้านของคุณป้าท่านหนึ่ง สะสมข้าวของไว้เต็มบ้าน ไม่ยอมเคลียร์ทิ้ง ส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านเป็นเวลานาน ว่า ตามตรงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก และเรามักได้ยินอยู่เป็นระยะไม่ว่าจะข่าวในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม แต่จะบอกว่าอาการของคนที่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่อาการงก หรือหวงสมบัติอะไรอย่างเดียวนะ แต่เป็นอาการป่วย มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า Hoarding Disorder แปลเป็นไทยว่า โรคชอบสะสมสิ่งของ ถือเป็นโรคอาการทางจิตที่ต้องได้รับการรักษานะ โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่อาการจะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และมักแสดงอาการหนักตอนอายุสูงวัยไปแล้ว
สาเหตุที่เกิดโรคมีหลายอย่างด้วยกัน 80% ของคนที่เป็นโรคนี้ สามารถถ่ายทอดได้ผ่านพันธุกรรม ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากสมัยก่อนชีวิตยากลำบาก ต้องเก็บของไว้ใช้เผื่อในยามจำเป็น หรือเก็บไว้แล้วรู้สึกอุ่นใจ และบางรายกลัวโจรเข้ามาขโมยข้าวของ จึงพยายามสะสมของให้บ้านรกเอาไว้ให้ทมากที่สุดเพื่ออำพรางโจรผู้รายอีกที รวมไปถึงบางราย อาจเกิดจากผลข้างเคียงของโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกันนะ
โดยพฤติกรรมการเก็บ ก็มักเริ่มจากของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลังกระดาษที่ได้มาจากการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือถุงหูหิ้วพลาสติกที่ใส่ของมาก็ตาม เมื่อใช้เสร็จก็ตัดใจมุ้ปอรทิ้งสิ่งของไปไม่ได้ เผื่อว่ามันจะมีประโยชน์ หรืออาจเก็บไว้ใช้ในภายภาคหน้าได้นั่นเอง
และพฤติกรรมร่วมด้วยของผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือมักเลี้ยงสุนัข หรือเลี้ยงแมวไว้ใกล้ๆ ตัว มีความหวังลึกๆว่าอย่างน้อยสัตว์เลี้ยงพวกนี้ก็คอยดูแลทรัพย์สมบัติของเขาได้
ด้าน ผลเสียของผู้ป่วยโรค คือ ทำให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยน้อยลงกว่าเดิมมากๆ การเคลื่อนที่ในบ้านอาจลำบากขึ้นกว่าที่ควรเป็น รวมไปถึงสิ่งของที่หมักหมมเอาไว้ก็เป็นแหล่งสะสมทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรค ทำให้มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจ เจ็บป่วยง่าย รวมไปถึงของที่กองพะเนินแบบนี้ ยังเป็นแหล่งรวมสัตว์ร้าย ทั้งแมลงสาบ หนู หรืออาจจะมีกระทั่งงูขอเข้ามาพักพิงอิงแอบไออุ่นในบ้านรวมกับผู้ป่วยได้ด้วย
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยอาศัยอยู่ในพื้นที่แบบนี้เป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้มีโรคอาการทางจิตอื่นๆ ร่วมได้ด้วย เช่นโรคซึมเศร้า โรคขี้กลัววิตกกังวล อาการย้ำคิดย้ำทำ หรือแม้กระทั่งกลัวการเข้าสังคมไปเลยก็มี
ปัจจุบันการรักษา โรคนี้ก็มักให้ยาที่ใช้ปรับเคมีในสมอง ควบคู่ไปกับการบำบัดพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่ออธิบายเหตุผลในการจัดกลุ่มเรียงสิ่งของ อธิบายหลักการ How to ทิ้ง รวมถึงการมุ้ปอรไปข้างหน้า เพราะถึงแม้เคลียร์ของในบ้านจากการรักษารอบนี้ได้แล้ว แต่ถ้าไม่จัดการระบบชุดความคิดในสมองให้ลงตัว อนาคตข้างหน้าก็ยังมีการ CF ของเข้ามาเติมในบ้านให้แน่นเหมือนเดิมได้อีกอยู่ดี
ฉะนั้น คนใกล้ตัวบ้านใครเริ่มมีพฤติกรรมสะสมของที่ไม่ได้ใช้ไว้จนรกบ้าน หรือมีพฤติกรรมที่ตัดใจทิ้งขยะออกไปจากบ้านไม่ได้ ก็ขอให้ใจเย็นๆ ในการเจรจาในการพูดคุยเรื่องการนำของไปทิ้ง อย่าลืมว่าเรากำลังคุยกับคนป่วยอยู่ การใช้อารมณ์พูดคุยไม่ส่งผลดีใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการสะสมของไว้จนกระทบต่อสุขภาพชีวิต อันนี้ญาติอาจต้องโน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ด้วย อย่าปล่อยทิ้งไว้นานถึงขนาดไม่มีที่เดิน หรือเข้าออกบ้านไม่ได้เลย อันนี้เป็นห่วงนะ”