xs
xsm
sm
md
lg

แมลงสาบเวลาตายทำไมต้องนอนหงายท้อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย่างที่ 1 แมลงสาบในธรรมชาติส่วนน้อยเท่านั้นที่หงายหลังตาย
การตายตามธรรมชาติของแมลงสาบนั้น มักจะเกิดจากการที่
ี่แมลงสาบ บังเอิญ(หรือปล่าว) เข้าไปอยู่ในกระเพาะของนก
ค้างคาว หรือสัตว์นักล่าขนาดเล็ก

อย่างที่ 2 แมลงสาบไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออาศัยอยู่บนพื้นผิวเรียบๆลื่นๆ
และโล่งๆ โครงสร้างร่างกายของมันส่วนใหญ่สร้างมาเพื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่
ขรุขระ มีเศษวัสดุอย่างเช่น ใบไม้ กิ่งไม้ กระจัดกระจายไปทั่ว เมื่อมันมา
อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งมีแต่พื้นเรียบๆลื่นๆ และโล่งๆ ก็จะทำให้มันมีโอกาส
มากที่จะพลิกกลับลำตัวไม่ได้ เมื่อเผอิญหงายท้องไป ดังนั้นอาจบอกได้ว่า
บ้านใครที่สะอาดๆ แมลงสาบมีโอกาสจะตายเองมากกว่า

อย่างที่ 3 และเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราพบแมลงสาบหงายท้องตาย
นั่นก็คือ แมลงสาบที่พบหงายท้องตาย มักตายจากยาฆ่าแมลง ซึ่งยาฆ่าแมลงนี้
จะมีผลต่อระบบประสาทของแมลงสาบ โดยไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์
Cholinesterase เอนไซม์ชนิดนี้เป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่สลาย Acetylcholine
(ACh) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท เมื่อเอนไซม์ไม่ทำงาน มี ACh มากเกินไป
จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอัมพาต ขาของแมลงสาบจะงอเข้าหากัน เกิด
เป็นความไม่สมดุล และทำให้แมลงสาบหงายท้องตายนั่นเอง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากแมลงสาบ แนะตัดวงจรการขยายพันธุ์ หากพบไข่แมลงสาบให้รีบเผาทันที พร้อมทำความสะอาดภายในรถทัวร์ รถโดยสาร รวมทั้งบ้านเรือน เพื่อป้องกันอันตรายจากแมลงสาบที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะนอนหลับ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการดูแลทำความสะอาด กำจัดแหล่งพันธุ์แมลงสาบ ว่า จากกรณีข่าวผู้โดยสารนั่งรถทัวร์โดยสารประจำทางสายขอนแก่น-เชียงใหม่ และเผลอหลับจนเกิดเหตุแมลงสาบมุดเข้าหูนั้น นับเป็นอันตรายสำหรับผู้โดยสาร แต่ผู้ประกอบการรถทัวร์ รถโดยสารหรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปก็สามารถป้องกันได้หากเข้าใจและรู้ถึงวิธีการทำความสะอาดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงสาบอย่างถูกวิธี เพราะเป็นที่รู้กันว่าแมลงสาบนั้น เป็นสัตว์ที่สร้างความรำคาญและนำเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่คน เนื่องจากแมลงสาบสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดทั้งพืชและสัตว์ ตั้งแต่อาหารที่สกปรกของเน่าเสียตามกองขยะ จนถึงอาหารที่ปรุงประกอบขึ้นภายในครอบครัว โดยเชื้อโรคจะติดมาตามตัวหรืออยู่ในกระเพาะอาหารของแมลงสาบได้ เวลาแมลงสาบกินหรือเดินผ่านอาหารก็จะสำรอกหรือไม่ก็ถ่ายลงบนอาหาร ทำให้ผู้ที่กินอาหารได้รับเชื้อโรคและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคบิด อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ ไข่พยาธิเข็มหมุด ไข่พยาธิปากขอ ไข่พยาธิไส้เดือน ไข่พยาธิตัวตืด ไข่พยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น ส่วนกลิ่นของแมลงสาบที่ปล่อยออกมามีสารพิษหรือสารก่อภูมิแพ้เจือปน ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ คัน และอักเสบได้ รวมทั้งทำให้เกิดอาการหอบหืดในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ด้วย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า การควบคุมและป้องกันอันตรายจากแมลงสาบเพื่อให้การตัดวงจรชีวิตและลดจำนวนแมลงสาบได้อย่างรวดเร็ว จึงควรหมั่นตรวจตราตามซอกตู้ ชั้นวางของ ซึ่งแมลงสาบจะไข่ติดไว้ เมื่อพบไข่แมลงสาบให้รีบทำลายโดยนำไปเผาทิ้ง เท่ากับเป็นการทำลายแมลงสาบครั้งละ 14 ถึง 30 ตัว นอกจากนี้ ควรมีการกำจัดแหล่งอาหารและแหล่งที่หลบซ่อนของแมลงสาบ โดยเฉพาะรถทัวร์ รถโดยสารประจำทาง ต้องตรวจตราไม่ให้มีไข่แมลงสาบติดเข้ามากับหีบห่อสินค้า เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ภายในรถทัวร์สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารดังเช่นที่เป็นข่าวได้
“สำหรับอาหารควรเก็บไว้ในภาชนะปกปิดมิดชิด ขยะมูลฝอยเททิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่รั่วซึม และหมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ รวมทั้งทำความสะอาดซักเสื้อผ้าไม่ให้มีคราบ ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของแมลงสาบได้ โดยเฉพาะผ้าห่มที่ให้บริการภายในรถทัวร์ต้องไม่มีการนำมาใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านการซักและอบแห้งสนิท รวมทั้งใช้สารเคมีพ่นทำลายทั้งตัวอ่อนตัวแก่ ที่สำคัญคือการควบคุมและกำจัดแมลงสาบต้องทำให้ครอบคลุมและต่อเนื่อง” นายแพทย์โสภณ กล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าไปในหูขณะนอนหลับ ผู้โดยสารเองสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยการสวมหมวกไหมพรมคลุมให้ปิดหูไว้ หรือใช้สำลีหรืออุปกรณ์สำหรับใช้อุดหูโดยเฉพาะอุดไว้ ซึ่งนอกจากจะป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกรณีแมลงสาบมุดเข้าหูแล้ว ยังช่วยลดระดับของเสียงที่อาจจะดังเกินไปในขณะใช้บริการรถทัวร์โดยสาร ทำให้หลับสบายมากขึ้นด้วย...
กำลังโหลดความคิดเห็น